ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
สุญญากาศการพัฒนา
และจินตนาการใหม่
สนามศุภชลาศัย
ทันทีที่ได้เห็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ของนักร้องสาววง Black Pink ติดตั้งอยู่บน façade ด้านหน้าสนามศุภชลาศัย คนเป็นจำนวนมาก (รวมถึงตัวผมเองด้วย) รู้สึกได้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างวงดนตรี K-Pop ระดับโลกกับเปลือกอาคารสถาปัตยกรรมของสนามกีฬาแห่งนี้
องค์ประกอบหนึ่งแสดงถึงความสดใหม่ทันสมัย เป็นเหมือนสัญญะแห่งอนาคต
ในขณะที่อีกองค์ประกอบหนึ่งคือฉากหลังแสนโบราณ เป็นสัญญะของอดีตที่ดูตกยุคล้าสมัย
จะว่าไป ความขัดแย้งดังกล่าวมิได้เป็นเพราะอายุสมัยของตัวอาคารแต่อย่างใด
อาคารเก่าแก่มากมายในโลก (หลายอาคารเก่ากว่าสนามกีฬาแห่งนี้หลายเท่า) สามารถตอบสนองกิจกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
แล้วทำไมสนามศุภชลาศัยที่เพิ่งสร้างมาเพียงแค่ 80 กว่าปีถึงได้ล้มเหลวเชิงภาพลักษณ์ได้มากมายขนาดนี้
ทั้ง ๆ ที่สไตล์ของตัวอาคารก็ถือว่าเป็นการออกแบบในแนวทางสถาปัตยกรรมทันสมัยในยุคสมัยนั้น หรือเรียกให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือรูปแบบ Art Deco ที่ผสมผสานเข้ากับการออกแบบลวดลายประดับตกแต่งที่มีกลิ่นอายทางศิลปะของไทย (สถาปัตยกรรมคณะราษฎร)
รูปแบบเช่นนี้ โดยทั่วไปถือว่าเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ยังคงดูทันสมัยแม้ในโลกยุคศตวรรษที่ 21
แต่กรณีสนามศุภชลาศัยกลับดูแก่ชราล้าสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะสนามศุภชลาศัยกำลังอยู่ในสภาวะสุญญากาศทางการพัฒนา
เจ้าของสนามและที่ดินแห่งนี้คือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคิดตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้วว่า จะนำพื้นที่นี้กลับไปพัฒนาเอง และพยายามขอพื้นที่คืนจากกรมพลศึกษา (ซึ่งได้เช่าใช้มาตั้งแต่สนามแห่งนี้สร้างเสร็จ) เนื่องจากมองว่ากรมพลศึกษายังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ในขณะที่กรมพลศึกษาก็มีความประสงค์อยากเช่าใช้พื้นที่แห่งนี้ต่อไป และมีความพยายามต่อรองมาโดยตลอดเพื่อขอใช้พื้นที่ต่อ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำได้แค่เพียงต่อสัญญาแบบปีต่อปี และต้องทยอยคืนพื้นที่ส่วนต่างๆ เรื่อยมา จนปัจจุบันเหลือเพียงอาคารกีฬานิมิบุตร และสนามศุภชลาศัย เท่านั้นที่ยังเช่าใช้งานอยู่ได้

ที่มาภาพ : วีระพล สิงห์น้อย
การยื้อกันไปมาดังกล่าวทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศที่ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ได้ยาวนานกว่าทศวรรษ เพราะผู้เช่าเองก็ไม่ทราบอนาคตว่าจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน
ดังนั้น การลงทุนมหาศาลย่อมไม่อาจเกิดขึ้น ในส่วนเจ้าของ ก็คงรอลงทุนใหญ่ทีเดียวเลยหลังจากที่ได้ที่ดินและตัวอาคารคืน
ด้วยเหตุนี้ ความแก่ชราเกินวัยของสนามศุภชลาศัยจึงเกิดขึ้น ซึ่งมิได้เพิ่งเกิดนะครับ ตัวอาคารแห่งนี้ทรุดโทรมเกินจริงมายาวนานหลายปีแล้ว
เพียงแต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งคอนเสิร์ต Black Pink เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ที่เป็นเสมือนการกระชากเอาความเสื่อมโทรมมาประจานให้คนไทยเห็นอย่างโจ่งแจ้ง
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในไม่ช้า ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ จะสามารถเรียกคืนพื้นที่ทั้งหมดได้ และคงจะเกิดการพัฒนาครั้งใหญ่ในพื้นที่นี้ หยุดสภาวะสุญญากาศดังกล่าวลงได้
แต่ทิศทางดังกล่าว อาจจะนำพาไปสู่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า
ในช่วงหลายปีมานี้ มีข่าวลืออยู่เสมอว่าจะมีการรื้อสนามศุภชลาศัยลง เพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ (ซึ่งเป็นย่านทำเลทอง) ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ พัฒนาให้สามารถสร้างรายได้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
แม้ที่ผ่านมา ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ จะยืนยันว่า
“…การพัฒนาทรัพย์สิน จุฬาฯ เอาสังคมเป็นตัวตั้ง หากมีการคืนพื้นที่ครบ ทั้งยังรวมถึงสนามศุภชลาศัย พื้นที่นี้ก็จะเป็นแหล่งการออกกำลังกายตั้งอยู่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยที่สุด ซึ่งจุฬาฯ กำลังให้มีการออกแบบทุกจุด สนามศุภชลาศัยต้องเป็นสนามกีฬาแห่งชาติจริงๆ ให้เกิดแลนด์มาร์ก มีคนมาเที่ยวเพื่อเทียบเท่ากับต่างชาติมาตรฐาน FIFA การคืนพื้นที่จึงเป็นการรักษาคอนเซ็ปต์นี้ เจตนาการคืนพื้นที่เรามีเจตนาดี เพราะเราคิดพัฒนาให้มีคุณค่าและดีที่สุดต่อประชาชน…” (ดูรายละเอียดเพิ่มใน https://www.bangkokbiznews.com/politics/886559)
แต่จากกรณีรื้อโรงภาพยนตร์สกาล่าอย่างไม่สนใจไยดีใดๆ ทั้งที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ เคยส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าจะเก็บรักษาตัวอาคารไว้ ก็ทำให้ข้อกังวลว่าสนามศุภชลาศัยอาจจะถูกรื้อ มีความเป็นไปได้ในระดับที่สูงอยู่
ดังนั้น ในสภาวะที่ยังเป็นสุญญากาศในการพัฒนา ที่ยังคงยื้อกันอยู่ระหว่างเจ้าของและผู้เช่า แม้จะทำให้สนามศุภชลาศัยแก่ชราเกินวัย แต่ผมกลับคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาชนจะอาศัยช่วงเวลานี้ คิดร่วมกันและนำเสนอทางออกในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เสนอแก่ทางจุฬาฯ แทนที่จะปล่อยให้ทางจุฬาฯ คิดทำไปตามที่ใจต้องการ
เราต้องไม่ลืมนะครับว่า แม้พื้นที่และตัวอาคารจะเป็นของจุฬาฯ แต่จุฬาฯ มิใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง จุฬาฯ มิใช่บริษัทเอกชนที่ต้องหากำไรตอบสนองผู้ถือหุ้น
อาคารและพื้นที่ของ จุฬาฯ ทุกตารางนิ้ว ในทางอุดมคติเป็นของประชาชนทุกคน เหมือนที่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทุกแห่งเป็น ดังนั้น ภาคประชาชนจึงมีความชอบธรรมที่จะนำเสนอทิศทางหรือจินตนาการใหม่ ๆ ในการพัฒนาสนามศุภชลาศัยแห่งนี้
โดยส่วนตัว อยากเสนอว่า เงื่อนไขแรกที่จุฬาฯ ควรทำคือ แสดงความชัดเจนสู่สาธารณะว่าจะไม่รื้อสนามแห่งนี้อย่างแน่นอน
การยืนยันดังกล่าว มิใช่ว่าผมกำลังจะเรียกร้องให้เก็บสภาพอาคารทุกอย่างไว้เหมือนเดิมในลักษณะแช่แข็งนะครับ แต่ผมกำลังเสนอแนวทางที่เรียกว่า adaptive reuse ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
แนวทางดังกล่าว หากสรุปอย่างรวบรัด คือ การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าในด้านต่างๆ ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมของอาคารว่าส่วนไหนมีคุณลักษณะโดดเด่นควรแก่การเก็บรักษา และส่วนใดที่มีคุณค่ารองลงมา จนไปถึงไม่มีคุณค่า
ขณะเดียวกัน ก็มีการวิเคราะห์ว่าอาคารหลังนี้มีศักยภาพในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้งานในรูปแบบใดได้บ้างที่จะตอบสนองต่อเงื่อนไขใหม่ทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
จากนั้นก็นำทั้งสองด้านมาประมวลเข้าหากันเพื่อกำหนดทิศทางในการปรับปรุงอาคาร
แน่นอน กระบวนการนี้อาจนำมาซึ่งการรื้อถอนอาคารบางส่วนออกไป จนกระทั่งอาจมีการเป็นกิจกรรมการใช้งานภายใน แต่ด้วยวิธีการเช่นนี้จะทำให้เราสามารถเก็บรักษาคุณลักษณะอันโดดเด่นมีคุณค่าของตัวอาคารเอาไว้ได้
หากใช้กรอบแนวคิดนี้มาพิจารณาสนามศุภชลาศัย โดยส่วนตัวเห็นว่า ส่วนที่มีคุณค่ามากที่สุดที่ต้องเก็บรักษาไว้มีอยู่ 3 ส่วน คือ
หนึ่ง การเป็นพื้นที่สนามกีฬา ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนามกีฬามาตรฐานสากลแห่งแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้
สอง fa?ade ด้านหน้าของตัวอาคารที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์และสะท้อนยุคสมัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประติมากรรมพระพลบดีทรงช้างเอราวัณที่ปลายยอดอาคาร ซึ่งสะท้อนรูปแบบศิลปะคณะราษฎรอย่างชัดเจน เป็นตัวแบบทางศิลปะที่หายาก
สาม ซุ้มประตูด้านหน้าที่มีลักษณะคล้ายปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นงานออกแบบที่สะท้อนยุคสมัยได้เป็นอย่างดีและสวยงามมากเช่นกัน
นอกไปจากทั้ง 3 ส่วนข้างต้นแล้ว ความสำคัญและคุณค่าก็จะลดหลั่นกันลงไป ซึ่งสามารถที่จะทำการรื้อหรือปรับใช้ในกิจกรรมสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่
adaptive reuse จึงเสมือนเป็นการผสานการอนุรักษ์กับการพัฒนาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งผมเห็นว่า สนามศุภชลาศัยควรตั้งต้นการพัฒนาบนฐานคิดและทิศทางนี้
แต่แน่นอน ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้จากแนวทาง adaptive reuse อาจไม่มากมายเท่ากับการรื้อสร้างอาคารใหม่ แต่ถ้ามองถึงผลประโยชน์ระยะยาว ผมคิดว่าคุ้มค่ามหาศาล เพราะสนามกีฬาแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยิ่งอายุมากเท่าไรยิ่งทวีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น
หากเลือกที่จะทำการอนุรักษ์ไว้ สนามศุภชลาศัยจะสร้างมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้กับจุฬาฯ ชนิดที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้เลย
ภายใต้สภาวะสุญญากาศทางการพัฒนาที่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จุฬาฯ จะสามารถเรียกคืนพื้นที่ได้โดยสมบูรณ์ ผมจึงอยากเสนอให้ทางจุฬาฯ และภาคประชาชน ลองคิดถึงจินตนาการรูปแบบใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสนามกีฬาแห่งนี้ไปด้วยกัน
อย่าปล่อยให้สนามศุภชลาศัยมีชะตากรรมเหมือนโรงภาพยนตร์สกาลาเลยนะครับ
ใต้ภาพ
การตกแต่ง fa?ade สนามศุภชลาศัย ในงานคอนเสิร์ต Black Pink
ที่มาภาพ : วีระพล สิงห์น้อย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022