E-DUANG : สัญญาณ จาก ทรงอย่างแบด ถึงเรื่องของดนตรี และ”เด็ก”

การปรากฏขึ้นของ”ทรงอย่างแบด”ก่อให้เกิดอาการ”ช็อค”ในทางสังคมอย่างเด่นชัด

เนื่องจากดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น”ปรากฏการณ์”

คำถามก็คือ เป็นปรากฏการณ์ของ”ดนตรี” เป็นปรากฏการณ์ของ”เด็ก” เป็นปรากฏการณ์อันบ่งชี้ถึงแนวโน้มใหม่ในทาง”สังคม”

นี่เป็นเรื่องซึ่งไม่เพียงแต่คนในแวดวง”ดนตรี”จักต้องขบคิด สังเคราะห์ วิเคราะห์ หากคนในแวดวง”การศึกษา”และเยาวชนก็ต้องสำเหนียกเป็นอย่างสูง

ปัจจัยอะไรทำให้อิทธิพลของ”ทรงอย่างแบด”แผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งเด็กในระดับ”อนุบาล”ก็แสดง ความชื่นชอบออกมา

ทั้งๆที่เป็น”บทเพลง”อันต้องการสะท้อนออกในเรื่องของความรัก ความผิดหวังในเรื่องรัก ทั้งๆที่วางเป้าหมายอยู่ที่”วัยรุ่น” แต่กลับโดนใจ”อนุบาตร”และ”ประถม”

ทั้งหมดนี้จึงมิได้เป็นเพียงกระแสความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของดนตรีและเสียงเพลง

หากเป็นเรื่องกรอบและขอบเขตที่เปลี่ยนไปของช่วงวัย

 

ถามว่านับแต่เกิดปรากฏการณ์”โบขาว”จากสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักเรียนอันเนื่องแต่ผลสะเทือนของ “เยาวชนปลดแอก”เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

บรรดาครูบาอาจารย์ ทั้งในกระทรวงศึกษาธิการและในสถาบันอุดมศึกษาได้นำไปขบคิด สังเคราะห์กันอย่างไร

คำถามก็คือ กระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ยุค นายณัฐพล ทีปสุวรรณ มายังยุคของ นางตรีนุข เทียนทอง ได้ตระหนักในจังหวะ แห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่

คำตอบจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากปี 2563 กระทั่งมาถึงปี 2566 คือ ช่องว่างและสภาวะแปลกแยกระหว่างผู้บริหาร การศึกษากับนักเรียน

ยิ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์”ทรงอย่างแบด”ขึ้นมา หากยังไม่มีสำเหนียกอย่างเพียงพออาการนะจังงังก็จะเป็น”ปรากฏการณ์”

 

ปรากฏการณ์”ทรงอย่างแบด”จึงเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนอย่างแหลมคมยิ่ง ทั้งในพื้นที่ทางศิลปะ ทั้งในพื้นที่ทางความคิดและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

มิได้อยู่ที่”วัยรุ่น”อย่างที่เข้าใจหากแต่ซึมลึกถึง”อนุบาล”

สังคมถามหาคนอย่าง ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ สังคมถามหาคนอย่าง ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง สังคมถามหาคนอย่าง พี่เต๋อ

ถามหาคนเข้าใจ”เด็ก” ถามหาคนเข้าใจตลาด”ดนตรี”