แบรนด์ ‘สร้างชาติ รวมชาติ’ ของพรรคการเมือง ขายความ ‘รักชาติ’ …ปัง หรือพัง

ประกิต กอบกิจวัฒนา

เมื่อต้นปี 2561 มีแฮชแท็ก #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ที่มาจากนักธุรกิจทำตัวติดดิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่ากำลังเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง ชาวทวิตเตี้ยนเลยพากันคิดชื่อส่งมาให้ “พ่อทอน” กันจนติดเทรนด์ทวิตไปพักใหญ่

แล้วธนาธรก็สร้างปรากฏการณ์จากการเลือกตั้งชื่อพรรคว่า “อนาคตใหม่” ใช้สีส้มเป็นสีพรรค มีโลโก้เป็นรูปลูกศรชี้ไปด้านบน รูปทรงเดียวกับปุ่ม Forward

โดยธนาธรอธิบายความหมายของโลโกไว้ว่า…สะท้อนความหวังที่เราจะเคลื่อนไปข้างหน้าก้าวพ้นไปจาก “ทศวรรษที่สูญหาย” สู่ประเทศไทยที่มีอนาคต”…

การเกิดขึ้นของ “อนาคตใหม่” ส่งผลให้บรรยากาศการพูดคุยถกเถียงถึงแนวทางการทำพรรคการเมือง “แบบใหม่” กระจายตัวเป็นวงกว้างในสังคม

คน Gen Y จำนวนมากหันกลับมาให้ความสนใจกับเรื่องการเมือง “อนาคตใหม่” ให้ภาพลักษณ์ของการทำพรรคแบบที่ไม่ได้เห็นกันมานานมาก แม้ต่อมา ความหวังของพวกเขาถูกทำให้ริบหรี่ลงไปเพราะมีกลุ่มคนที่ “รักชาติมากกว่า”

กลับมาพูดเรื่องชื่อพรรคต่อดีกว่า

 

เวลาพูดเรื่องชื่อพรรค โลโก้พรรค และสีสัญลักษณ์พรรค ผมเดาไว้ก่อนเลยนะ มากกว่า 60% ไม่พ้นต้องมีคำว่า “ไทย” มีโลโก้เป็นธงชาติไทย และต้องมีสีสัญลักษณ์สามสีคือ แดง ขาว น้ำเงิน

แล้วผมก็เดาไม่ผิด

จากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ The 101 World โดยอิสระ ชูศรี

เขาเขียนถึงเรื่องชื่อพรรค โดยเขารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลชื่อพรรคการเมืองที่มาจดทะเบียนและรายงานการทำกิจกรรมไว้กับ กกต. พบว่า คำที่มีความถี่ในการใช้ตั้งชื่อพรรคการเมืองสูงสุด 3 อันดับแรกคือว่า ‘ไทย’ (70) ‘พลัง’ (30) และ ‘ชาติ’ (19) ในขณะที่คำว่า ‘ประชา’ (13) และ ‘เพื่อ’ (12) ก็เป็นคำที่ใช้บ่อยเช่นกันแม้จะไม่ใช่คำยอดนิยมสามลำดับแรก (อ้างอิงจากบทความชื่อ การเมืองเรื่องชื่อพรรค : ‘พลัง’ ฮิต ‘ประชาธิปไตย’ หด เข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ https://www.the101.world/naming-political-parties/)

อิสระเขียนถึงบทความนี้ที่ว่าด้วยเรื่องการใช้คำมาตั้งชื่อพรรค เมื่อปี 2563 เนื่องจากเห็นข่าว กรณ์ จาติกวณิช ประกาศว่าจะตั้งพรรคของตัวเอง และขอให้ผู้คนทั้งหลายที่รู้ข่าวนี้ช่วยกันเสนอชื่อพรรคการเมืองให้ โดยมีเงื่อนไขว่าขออย่าได้มีคำว่า ประชา, พลัง, เพื่อ อยู่ในชื่อที่ช่วยกันตั้ง

ขนาดคุณกรณ์ยังรู้แล้วว่า ถ้าคิดจะทำพรรคให้คนรุ่นใหม่สนใจ ต้องไม่เอา “ความเป็นไทย” มาขายในชื่อพรรค จึงได้กลายมาเป็นพรรคกล้า ออกแบบโลโก้ให้มีรูปร่างเป็นการผสานระหว่างกำปั้นกับหลอดไฟ และใช้สีน้ำเงินกับสีเหลืองเป็นสีของพรรค

แต่พรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ประกาศเปิดตัว หลายพรรคยังใช้สูตรเดิมทั้งคำ ทั้งสี ทั้งโลโก้เพื่อสะท้อนถึงจุดยืนอันหนักแน่นในเรื่อง “ความเป็นชาติไทย”

มีสิ่งที่ผมสังเกตเห็นเพิ่มจากพรรคการเมืองใหม่ๆ (ของคนเก่าๆ) ที่ทยอยเปิดตัวมาในช่วงก่อนจะถึงการเลือกตั้ง คือ เทรนด์ของการเกิดคำว่า “สร้าง” ในการตั้งชื่อพรรค

สร้างชาติ สร้างไทย
สร้างโอกาสใหม่…จริงดิ?

ไทยสร้างไทย สร้างอนาคตไทย (หรือจะกลายเป็นสร้างไทย?) รวมไทยสร้างชาติ ทั้งหมดก่อตั้งโดยคนรุ่นเก่าที่เชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองต้องขาย “การรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” จึงต้องคงสี สัญลักษณ์ ที่บ่งบอกว่ารักชาติไทยไว้ในความเป็นแบรนด์ของพรรค

มีคำถามผุดขึ้นในหัวของครีเอทีฟคนนี้หลังจากเห็นข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรค รวมทั้งการควบรวมพรรคในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ทำไมต้อง “สร้าง”

เวลาพูดคำว่า “สร้าง” เรากำลังพูดถึงสิ่งใหม่ๆ หรือเปล่า ผมถามตัวเองแบบนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม เลยต้องพึ่งราชบัณฑิตฯ แล้วก็พบว่า มีความหมายบางอย่างที่ผมคาดไม่ถึง

คำว่า สร้าง มีความหมายว่า ทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น เป็นขึ้น เช่น สร้างบ้าน สร้างวัด สร้างศาลา

หรือทำให้เกิดขึ้นด้วยอิทธิฤทธิ์ เช่น พระพรหมสร้างโลก

ทำให้เกิดขึ้นด้วยจินตนาการ เช่น สร้างภาพในความฝัน. สร้างฝันให้บรรเจิด. สร้างตัวละคร. สร้างจินตนาการ

สร้าง อาจใช้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น สร้างความดี. สร้างกุศล. สร้างชื่อเสียง. สร้างเนื้อสร้างตัว. สร้างฐานะ.

สร้าง หมายความว่า ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลอื่นก็ได้ เช่น สร้างมิตรภาพ. สร้างไมตรี. สร้างศัตรู. สร้างความนิยม. สร้างศรัทธา (อ้างจากเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา)

พอได้ความหมายครบถ้วนแบบนี้ เมื่อมาเทียบกับการตั้งชื่อพรรคโดยมีคำว่า “สร้าง” ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าพวกเขาหมายถึง สร้างพรรคให้เกิดขึ้น แต่จะเป็นการสร้างให้เกิดด้วยอิทธิฤทธิ์ ด้วยจินตนาการหรือเปล่านั้น ยังไม่กล้าคิดแทน

เมื่อดูจากตัวบุคคลที่ถูกเชิดชู หรือถูกนำมาเป็น “จุดขาย” ของพรรค ก็ทำให้คิดไปได้ว่า พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องการสร้างศรัทธา สร้างความนิยมให้เกิดกับพรรค โดยเชิดชูผ่านตัวบุคคล (อีกแล้ว) หรือเปล่า

เปลี่ยนพรรคแต่ไม่เปลี่ยนความคิด
ไม่ต่างจากสินค้าแย่ หวังพึ่งแต่โฆษณา

มาถึงตรงนี้ ผมว่านะ คนอ่านเดาได้แล้วล่ะว่าผมจะทักท้วงเรื่องการตั้งชื่อพรรคจากคำว่า “สร้าง” ในทำนองว่า สร้างพรรคใหม่ ใช้ชื่อใหม่ แต่ยังไปไม่พ้นสูตรเดิมในการทำแบรนด์ แล้วจะหวังให้เป็นพรรคที่คนรุ่นใหม่หันมามอง เหมือนที่อนาคตใหม่เคยทำ จะไหวหรือ

รีบประท้วงผมเลย คุณที่กำลังอ่าน ว่าพรรคสร้างอนาคตไทย เขาไม่มีสีธงชาติอยู่ในโลโก้เลยนะ แถมมีแผนที่ประเทศไทยเป็นสีทองต่างหาก ออกจะเท่

ครับ ก็เหมือนที่ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งว่า การทำแบรนด์พรรค เหมือนการทำแบรนด์สินค้า เพียงแค่เปลี่ยนสี เปลี่ยนโลโก้ แต่คนที่เป็นตัวแทนพรรค คือคนเดิมๆ…พอไหมล่ะ เข้ากับคนรุ่นใหม่ได้ไหม ที่สำคัญ นโยบายพรรคคุณคืออะไร จุดขายอยู่ตรงไหน

รวมไทยสร้างชาติ ต่อให้เป็นพรรคใหม่ แต่ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชาติไทยแข็งขันมาก ทั้งโลโก้ที่ดูเหมือนท่าไหว้ใส่สีธงชาติเข้าไป เพื่อสนองตอบต่อคนที่เป็นคนเอ่ยคำนี้มาก่อนคือ พล.อ.ประยุทธ์ ตามที่บทความในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565 ชื่อ รวมไทยสร้างชาติ รวม ‘ใคร’ สร้าง ‘ตู่’ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

“รวมไทยสร้างชาติ” ปรากฏขึ้นมาในหน้าข่าวครั้งแรกเมื่อกลางปี 2563 จากปากของ พล.อ.ประยุทธ์เอง ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์พยายามผลักดัน “รวมไทยสร้างชาติ” ในนามของหลักการ มีความหมายปลุกใจความเป็นหนึ่งเดียว ความสามัคคีในการขับเคลื่อนประเทศ

เอาแค่แนวคิดที่ว่า “ใช้ความสามัคคีในการขับเคลื่อนประเทศ” ผมว่าคนรุ่นใหม่ได้ยิน ก็คงก้มหน้าไถ TikTok ต่อแล้วครับ

เทรนด์ของการนำคำว่า “สร้าง” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อพรรคที่จะเตรียมลงสู้ศึกเลือกตั้ง สะท้อนว่านักการเมือง รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจในทางการเมือง คงพอจะเห็นสัญญาณแล้วว่าประชาชนสิ้นศรัทธาในตัวพวกคุณจนแทบไม่เหลือแล้ว พวกคุณเลยต้อง “สร้าง” ให้เกิดขึ้น…ใช่ไหม

ถามจริง แค่ใส่คำใหม่ลงไปในชื่อพรรค จะสร้างศรัทธา สร้างความนิยม ให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ได้หรือ เมื่อภาพลักษณ์ของพรรคยังย่ำอยู่กับ “ความเป็นชาติไทย” ต่อให้เปลี่ยนสูทมาเป็นเสื้อม่อฮ่อม ขายได้หรือกับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นนิวโหวตเตอร์ และมีส่วนช่วยให้พวกคุณเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลได้

“ความไม่สนคนรุ่นใหม่” ของพรรคการเมืองที่หวัง “สร้างชาติ รวมชาติ” ที่บริหารโดยคนรุ่นเก่า จึง “สร้างช่องว่าง” ของความไม่แคร์ให้เกิดกับคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังเป็นคนแบกรับภาระอันเกิดจากสังคมผู้สูงวัยให้ถ่างกว้างออกไปอีก

น่าเป็นห่วง หรือน่าเบื่อ…คุณเลือกเอา •