คณะทหารหนุ่ม (23) | คณะทหารหนุ่มผู้ไร้เทียมทาน

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

จากผลสำเร็จที่นอกเหนือจากเป็นกำลังสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วคณะทหารหนุ่มยังประสบความสำเร็จในการใช้กำลังทางทหารไปกดดันการเมืองด้วยการยื่นคำขาดว่าจะใช้กำลังทำปฏิวัติซ้อน หาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

จึงทำให้สถานภาพของคณะทหารหนุ่มทั้งในกองทัพและทางการเมืองโดดเด่นขึ้นทันที

กลายเป็น “อำนาจใหม่” ที่ถูกจับตามองจากประชาชนทั้งประเทศ

คณะทหารหนุ่มจึงก้าวขึ้นมามีอำนาจต่อรองทั้งในด้านการทหารและการเมืองอย่างโดดเด่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในส่วนของกองทัพ อาจกล่าวได้ว่า หลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด และปราศจากฐานอำนาจที่เป็นจริงในกองทัพบก จึงไม่มีทางเลือกอื่น จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากนายทหารระดับกลางที่คุมกำลังระดับกองพันของกองทัพบกขณะนั้นคือคณะทหารหนุ่มเท่านั้น

ในขณะที่ก็ยังไม่มีการสถาปนาอำนาจใหม่ของนายทหารระดับสูงในกองทัพบกซึ่งถูกทำลายลงไปแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นคือ พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งเติบโตมาในยุคที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่จอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ยังไม่สามารถสร้างฐานอำนาจใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้

คณะทหารหนุ่มซึ่งเติบโตเข้มแข็งอย่างก้าวกระโดดหลังการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 จึงเป็นเพียงพลังอำนาจเดียวที่ปราศจากคู่แข่งในกองทัพบกขณะนั้นแม้จะยังมียศเพียงพันเอก

 

ขยายฐาน

หลัง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะทหารหนุ่มจะใช้วิธีการที่ไม่เปิดเผยในการเคลื่อนไหวทางการเมือง สมาชิกของกลุ่มจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการแบบปิดลับ เพื่อเสนอแนะมาตรการทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

รวมทั้งปฏิกิริยาที่มีต่อภาพพจน์และการทำงานของรัฐมนตรีบางคน เป็นต้น

ทางด้านกองทัพ เพื่อความมั่นคงของฐานกำลังซึ่งยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม จปร.7 เป็นสำคัญ คณะทหารหนุ่มจึงได้เริ่มขยายฐานกำลังออกไปให้กว้างขวางขึ้น

การขยายฐานกำลังดังกล่าว เน้นหนักไปที่การหาสมาชิกจากนายทหารระดับล่างลงมา โดยเฉพาะระดับผู้บังคับกองพัน

อย่างไรก็ดี คณะทหารหนุ่มก็ยังคงกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้เนื่องจากนายทหารที่คุมกำลังระดับกรมและผู้บังคับกองพันในกรมต่างๆ มีไม่น้อยที่ยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารระดับสูงบางคนอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้น การขยายแนวร่วมของคณะทหารหนุ่มจึงเริ่มด้วยการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีอยู่กับนายทหารระดับล่างซึ่งสามารถไว้วางใจได้ โดยเฉพาะกับนายทหารระดับผู้บังคับกองพันที่สมาชิกแกนนำของคณะทหารหนุ่มเป็นผู้บังคับการกรมอยู่

นอกจากนั้น เพื่อให้การขยายฐานกำลังภายในกองทัพบกประสบความสำเร็จมากขึ้น คณะทหารหนุ่มจึงต้องผลักดันตำแหน่งระดับ “ผู้บังคับการกรม” ให้กับเพื่อนร่วมรุ่น จปร.7 ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้เพราะจากประสบการณ์และความสำเร็จที่ผ่านมา การคุมกำลังระดับกรมเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สามารถใช้สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

และยังเป็นช่องทางที่จะแสวงหาความสนับสนุนจากผู้ใต้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับกองพันได้โดยไม่ยากนักอีกด้วย

การขยายตำแหน่งระดับผู้บังคับการกรมของ จปร.7 จะส่งผลกระทบต่อ จปร.รุ่นพี่ที่มีความรู้สึกว่าถูก “ข้ามหัว” อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งจะกลายเป็นความบาดหมางในหมู่ศิษย์เก่า จปร.ด้วยกันในเวลาต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพและบารมีที่หาผู้ทัดทานได้ยากในขณะนั้น การขยายฐานกำลังของคณะทหารหนุ่มจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผลงานการปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 เป็นเครื่องรับรอง

อีกทั้งอุดมการณ์ภายใต้คำขวัญ “เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ” ยังเป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของนายทหารระดับคุมกำลังรุ่นน้องๆ ซึ่งยังเร่าร้อนทางอุดมการณ์และยังบริสุทธิ์จาก “ลาภสักการะ” ทั้งหลายอีกด้วย

พร้อมๆ กับการขยายฐานในกองทัพบก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้คณะทหารหนุมได้เริ่มสร้าง “แนวร่วม” นอกกองทัพ ด้วยการเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองพลเรือน ข้าราชการประจำ และอาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกวงการทหารนี้ยังคงดำเนินการอย่างไม่เปิดเผย จำกัดและเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

ลักษณะของความสัมพันธ์ในชั้นแรกเป็นไปในรูปของการติดต่อระหว่างสมาชิกแกนนำบางคนของคณะทหารหนุ่มกับบุคคลที่จะสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเป็นอาจารย์ บางคนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “นิด้า” และจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้มีการพบกันระหว่างบุคคลภายนอกกับกลุ่มแกนนำคณะทหารหนุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ตัวอย่างของลักษณะความสัมพันธ์นี้ได้แก่การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้หนึ่งได้รับการเสนอจากเพื่อนนักวิชาการกลุ่มหนึ่งให้ติดต่อเพื่อพบปะกับคณะทหารหนุ่มประมาณต้นปี พ.ศ.2520 ก่อนปฏิวัติ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของบ้านเมือง

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้ข้อคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่คณะทหารหนุ่มเป็นระยะๆ จนคณะทหารหนุ่มมีความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มนี้มากพอสมควร

 

ในกลางปี พ.ศ.2521 ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นักวิชาการกลุ่มเล็กๆ จำนวน 3 คนนี้ได้เสนอแนวทางการลดความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการเสนอให้คณะทหารหนุ่มผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาที่ถูกจับในคดี 6 ตุลาคม

ผลปรากฏว่าคณะทหารหนุ่มเห็นพ้องด้วยกับมาตรการลดความขัดแย้งดังกล่าวและได้เสนอแนะต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนบังเกิดผลสำเร็จเมื่อรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมเมื่อกลางเดือนกันยายน 2521

ซึ่งเป็นความต้องการเดิมของคณะทหารหนุ่มที่ได้เสนอต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก่อนรับหน้าที่หัวหน้าคณะปฏิวัติอยู่ก่อนแล้ว

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมาชิกการนำของคณะทหารหนุ่มได้เริ่มปรากฏตัวแสดงความคิดเห็นในการสัมมนาทางวิชาการและปรากฏเป็นข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้แก่ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ส่วน พ.อ.มนูญ รูปขจร ยังคงเก็บตัวเงียบแล้วจัดการประชุมพบปะกับสมาชิกการนำของกลุ่มอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยยังคงไม่เปิดเผยที่กองพันทหารม้าที่ 4 บางกระบือ เท่านั้น และยังคงไม่ยอมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ใดๆ ทั้งสิ้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในช่วงเวลาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 ถึงกลางปี 2521 นอกจากเรื่องการเสนอให้นิรโทษกรรมนิสิตนักศึกษาคดี 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็คือการคัดค้านบทบัญญัติบางบทของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

 

ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

ในการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 แม้คณะทหารหนุ่มจะสามารถผลักดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ แต่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ยังคงดำรงตำแหน่ง “ประธานสภานโยบายแห่งชาติ” ซึ่งยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ต่อไป

การช่วงชิงบทบาทการนำระหว่างคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำ กับคณะทหารหนุ่มจึงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่

ในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2520 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ มีโควต้าสมาชิกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสมาชิกส่วนนี้ต้องการผลักดันให้มีสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท โดยมีประเด็นสำคัญที่เสนอคือ ให้ “ประธานสภานโยบายแห่งชาติ” พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกสภา 2 ประเภท ซึ่งจะทำให้ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ มีอำนาจในการกำหนดตัวสมาชิกสภา โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกนั่นเอง

คณะทหารหนุ่มไม่เห็นด้วย