‘ส่อง’ กิจกรรมหนุ่มสาวพระนคร ไปกับพลนิกรกิมหงวน (2)

ณัฐพล ใจจริง
หน้าปกพลนิกรกิมหงวน (2486) สะท้อนบรรยากาศร่วมสมัย เครดิตภาพ : สี่สหาย บ้านพัชราภรณ์

ราคาเรือพายที่พุ่งสูงและบรรยากาศความสนุกสนานของหนุ่มสาวร่วมสมัยเมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 ถูกบันทึกไว้ในพลนิกรกิมหงวนตอน “พ่อแสนกล”

ดังนี้

 

ราคาเรือพุ่งสูงยามน้ำท่วม

ป.อินทรปาลิตบันทึกสภาพชีวิตชาวพระนครไว้ว่า ราคาเรือพายขึ้นฮวบฮาบ เนื่องจากเหล่านักฉวยโอกาสปั่นราคาเรือพายกันจนร่ำรวย เช่น เรือพายขนาดเล็กนั่ง 2 คนประกอบด้วยไม้ยาง 3 แผ่นนั้น จากเดิมเคยราคา 10 สลึง กลายเป็น 20 บาท ส่วนเรือบดไม้สักนั่ง 3 คน ราคา 50 บาท เรือสำปั้นเล็กลำละ 60 บาท

ส่วนเรือราคาถูกเป็นเรือสังกะสี ให้ผู้ซื้อเลือกตามอัตภาพ แม้กระทั่งไม้พายก็ขายกันเล่มละ 6 สลึง

ด้วยราคาเรือที่พุ่งสูงทำให้คนยากจนจำนวนมากต้องเดินลุยน้ำแทน

อย่างไรก็ตาม แม้นราคาเรือจะมีราคาสูง แต่ชาวพระนครที่มีฐานะ จำเป็นต้องซื้อเรือไว้สำหรับพายไปทำงาน ไปธุระ แม้กระทั่งไปส้วมสาธารณะของเทศบาล กระทั่งค่ารถสามล้อถีบมีราคาแพงขึ้น เช่น เริ่มจากหัวลำโพงมาสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ตรงแยกแม้นศรี ราคา 2 บาท เขาเห็นว่าใครนั่งสามล้อขณะนั้น คือเศรษฐีน้อยๆ เลยทีเดียว แต่ค่าเรือจ้างไม่แพงนัก เนื่องจากพี่น้องชาวชนบทได้นำเรือลงมากรุงเทพฯ มาก แล้วรับจ้างส่งคนโดยสาร (ป.อินทราปาลิต, 2486, 33-34)

ดังเหม เวชกร ให้ร่องรอยที่มาของเรือแจวรับจ้างว่า “พวกต่างจังหวัดน้ำท่วมนาท่วมไร่ หมดทางทำมาหากิน จึงหาเรือทุกชนิดเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ จึงได้พึ่งพิงเขา” (เหม, 159)

จากภาพปก พลนิกรกิมหงวน ตอน “พ่อแสนกล” (2486) ที่พิมพ์หลังเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี 2485 ไม่นานนั้น ศิลปินผู้วาดภาพนำเสนอภาพการพายเรือเที่ยวเล่นของหนุ่มสาว และฉากการเกี้ยวสาวของสามเกลอที่ลานพระบรมรูปฯ

ในครานั้น หากใครพายเรือผ่านบ้านพัชราภรณ์จะพบเห็นนิกรกับกิมหงวนขะมักเขม้นใช้อุปกรณ์ช่างไม้ต่างๆ ต่อเรือบดขนาดนั่ง 3 คนขึ้น แม้นฐานะระดับเศรษฐีของพวกเขาจะมีเงินพียงพอในการซื้อเรือด้วยราคาแพงก็ตาม แต่ด้วยราคาเรือพายที่แพงลิบลิ่วและการเล่นตัวของช่างต่อเรือทำให้พวกเขาโมโหจึงลงมือต่อเรือพายด้วยตนเอง

ในขณะที่เจ้าคุณปัจจนึกฯ ซื้อเรือแคนูลำหนึ่งจากพ่อค้าที่นำมาขายให้ที่บ้านลำหนึ่งด้วยราคาถูก แต่สุดท้ายกลายเป็นเรือที่ถูกขโมยมา (ป.อินทรปาลิต, 34-36)

เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่า การขโมยเรือ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากมายขณะนั้น ด้วยเหตุที่ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำขาดรายได้ และเรือถูกผูกไว้โดยปราศจากการดูแล ทำให้รัฐบาลประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในทรัพย์สินให้ดี

หนุ่มสาวพายเรือเที่ยวเล่นที่ลานพระบรมรูปฯ

กิจกรรมหนุ่มสาวครั้งน้ำท่วม

ถ้าเราตาม พลนิกรกิมหงวน ที่พายเรือบด และเรือแคนูออกไปจากบ้านพัชราภรณ์ไปตามถนนพญาไทที่กลายสภาพเป็นคลอง มองไปทางไหนมีแต่เรือชนิดต่างๆ ตั้งแต่เรือสังกะสี เรือบด เรือสำปั้น เรืออีแปะ ตามแต่ฐานะของเจ้าของพาหนะนั้น

สิ่งที่อยู่ต่อหน้าสามเกลอเมื่อพายเรืออกจากบ้าน คือ มวลน้ำแผ่กว้างออกไปทั่วทุกถนนและเปลี่ยนลานกว้างให้เป็นเวิ้งน้ำกว้าง หนุ่มสาวต่างพากันพายเรือเล่นกันอย่างสนุกสนาน ด้วยแต่งกายตามสมัยรัฐนิยมอย่างสุภาพเรียบร้อย

แต่ไม่วาย ยังพบชายหนุ่มบางคนเกะกะไม่มีวัฒนธรรม พายเรือระรานสตรี บ้างก็แกล้งทำให้เรือของสตรีล่ม สร้างความโมโหโกรธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

แคนูลำน้อยกับเรือบดจากบ้านพัชราภรณ์ถูกพายคู่กันมาจนถึงสี่แยกสระปทุม บนเรือแคนูมีส้มเขียวหวาน มีกล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ที่บรรดาภรรยาของสามเกลอ ประไพ นันทา นวลละออ โบกเรียกซื้อจากเรือขายขนมแทบทุกร้านที่ตามข้างทางอย่างสนุกสนาน (ป.อินทรปาลิต, 80)

เมื่อเรือ 2 ลำจากบ้านพัชราภรณ์พายมาถึงสี่แยกประตูน้ำปทุมวัน ภาพที่ปรากฏต่อหน้าที่สี่แยกนี้กลายเป็นชุมชนเรือนานาชนิดสับสนอลหม่านมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ หนุ่มสาวในพระนครต่างพากันพายเรือมาชุมนุมกันเล่นเพลงเรือ ละลานตาไปหมด

เหล่าแม่บ้านของสามเกลอวันนี้แต่งตัวหรูหราตามเดิม แต่ค่อนข้างจะโป๊สักหน่อย เพื่อสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับสามีของเธอ โดย ป.อินทรปาลิตให้ภาพบรรยากาศการเล่นเพลงเรือร้องรับร้องส่งกันอย่างสนุกสนานของหนุ่มสาวในครั้งนั้น

สักครู่หนึ่งเรือ 2 ลำมาถึงสี่แยกราชประสงค์ มีน้ำระดับลึกราว 50 เซนติเมตร มีชายหญิงต่างเดินท่องน้ำและพายเรือผ่านไปมาอย่างคึกคักอลหม่าน เมื่อพวกเขาและเธอเที่ยวและเล่นเพลงเรือจนอิ่มใจแล้ว จากนั้นก็พายเรือกลับบ้านกัน ทิ้งให้หนุ่มสาวคู่อื่นๆ ต่างร้องรำทำเพลงเกี้ยวพาราสีกันอย่างมีความสุข

 

ท่านผู้นำเตือนหนุ่มสาวระวังสอบตก

ความสนุกสนานของเด็กและหนุ่มสาวในการเล่นน้ำและเล่นเพลงเรือถูกแต่งเป็นบทกลอนว่า “หนุ่มสาวเด็ก ดีใจ เพราะได้เที่ยว ขี่เรือพาย ร่ายเลี้ยว สมถวิล พวกเด็กเล็ก เล่นธารา เป็นอาจินต์ ว่ายโผผิน ทั้งเล่นเรือ เหลือห้ามปราม” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 35)

คาดว่า คนหนุ่มสาวครั้งนั้นคงสนุกเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมลอยเรือเล่นเพลง และพายเรือท่องพระนครจนทำให้ปลายเดือนตุลาคม 2485 จอมพล ป.เปรยผ่านข้อเขียนและทางวิทยุกระจายเสียงว่า

“ซาบแว่วๆ มาว่า ท่านหนุ่มยังบ่นกลัวน้ำจะแห้งแล้วไม่ได้เล่นเรือกันอีกบ้าง แต่เขาว่า ท่านที่บ่นนั้น มักเปนลำเรือของหนุ่มสาวที่แต่งกายสวยๆ ฉันจึงขอส่งข่าวว่า ระวังให้ดีจะสอบไล่ตก” (สามัคคีไทย, 118)

ในช่วงเวลาน้ำท่วมนานเกือบ 2 เดือนนั้น เหล่าศรีภริยาของพลนิกรกิมหงวนต่างใช้เวลาในการพายเรือออกกำลังกายในสวนดอกไม้หลังบ้านที่น้ำท่วมเจิ่งทั่วไปหมด แม่งามทั้งสามได้ไช้เวลาว่างตอนเช้าพายเรือเล่นเป็นการออกกำลังกายทุกๆ วัน (ป.อินทรปาลิต, 115-116)

เมื่ออุทกภัยผ่านพ้นไปแล้ว ความร่มเย็นเป็นสุขกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าไทยจะอยู่ไนสถานะสงคราม พี่น้องร่วมชาติของเราก็มีขวัญกำลังใจดี ตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพตามปกติ ป.อินทรปาลิตสรุปว่า ไทยทั้ง 18 ล้านเปรียบเสมือนบุคคลคนเดียวกัน ร่วมสามัคคีเป็นเอกฉันท์ที่เชื่อและไว้วางใจในท่านผู้นำของตน

สามเกลอต่างประกอบอาชีพของตนต่อไปตามเดิม การที่ต้องหยุดงานมาเกือบ 2 เดือนเนื่องจากน้ำท่วมทำไห้ขาดรายได้ไปมาก โดยเฉพาะกิมหงวนยืนยันว่าเขาขาดรายได้ไปถึง 300,000 บาท โรงเลื่อย, โรงสี ถูกน้ำท่วมหมด โรงน้ำแข็ง, โรงรับจำนำก็เช่นเดียวกัน รถเมล์ประจำทางก็เดินไม่ได้ (ป.อินทรปาลิต, 242)

อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยจะผ่านพ้นมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับกับสงครามมหาเอเชียบูรพาที่สร้างความโศกาอาดูรและความพลัดพลาดต่อไป

หนุ่มสาวพายเรือเที่ยวพระนคร
ครอบครัวสี่สหายบ้านพัชราภรณ์และเจ้าคุณปัจจนึกฯ และคุณหญิงวาด
หนุ่มสาวสมัยรัฐนิยมพายเรือเที่ยวที่ลานพระรูปฯ เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี