วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ปีแห่งการปิดหนังสือพิมพ์

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ปีแห่งการปิดหนังสือพิมพ์

คําสั่งที่กระทบกับวงการหนังสือพิมพ์มากที่สุดของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นอกจากฉบับที่ 5 ที่ให้หนังสือพิมพ์รายวันและสิ่งตีพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ ที่เสนอข่าวและข้อเขียนแสดงความคิดเห็นทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหยุดการพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เป็นเหตุให้ผมและเพื่อนในกองบรรณาธิการยกมือขึ้นจากพิมพ์ดีด เสียงเงียบเกิดขึ้นฉับพลันในวินาทีนั้น และมีบัญชีท้ายคำสั่งให้บุคคลต่อไปนี้เป็นกรรมการตรวจสอบข่าว
ต่อจากนั้น วันที่ 7 ตุลาคม มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 10 เปิดโอกาสให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่ต้องการจะดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันและสิ่งพิมพ์ต่อประชาชนให้ยื่นเรื่องราวต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นเฉพาะราย ตามบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 10 เป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอของบุคคลหรือนิติบุคคลเพื่อดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน หรือสิ่งตีพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ คือ
1. นายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นประธานกรรมการ
2. คุณหญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา เป็นกรรมการ
3. นายสมัคร สุนทรเวช เป็นกรรมการ
4. พลตำรวจตรีจำรัส จันทร์ขจร เป็นกรรมการ
5. พลตรีเริงฤทธิ์ รุมาคม เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้ง 5 คนนี้ ที่มีบทบาทมากที่สุดเห็นจะเป็น นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เป็นนักเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นามปากกา “นายหมอดี”
อีกคนหนึ่ง คือประธานกรรมการ นายประหยัด ศ. นาคะนาท เคยเป็นทั้งบรรณาธิการ และเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนมายาวนานในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ลงท้ายประจำที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐเช่นกัน นัยว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านเผด็จการ ไหงจึงมาเป็นประธานพิจารณา “เปิด” หนังสือพิมพ์เสียเอง ซึ่งหมายความว่าทุกฉบับที่ต้องปิดตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ หากจะดำเนินการต่อต้องมาขออนุมัติขออนุญาตกับคณะกรรมการชุดนี้ รู้จักกันดีในนามปากกา “นายรำคาญ”
นายสมัครเคยให้สัมภาษณ์ว่ามิได้เป็นผู้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาให้ “เปิด” หรือให้หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายได้ต่างหาก

ในที่สุด หลังจากพิจารณาคำร้องของบุคคลหรือนิติบุคคลแล้ว ทำไมจึงไม่ให้หนังสือพิมพ์ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเปิดดำเนินการได้ 13 ฉบับ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเล่า
มีผู้บันทึกถึงการปิดหนังสือพิมพ์ไว้ดังนี้
10 ตุลาคม 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ไม่มีกำหนด 13 ฉบับ
11 ตุลาคม 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยาม ไม่ทราบสาเหตุและกำหนดเวลา
29 ตุลาคม 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ชาวไทยรายวัน 7 วัน เหตุผล ลงข่าว นายชลอ วนภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทยโกงอายุราชการ
จากนั้นเมื่อ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ปิดหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2520 ถึงเดือนสิงหาคม 2520 ดังนี้
14 มกราคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เสียงปวงชน 3 วัน เหตุผล พาดหัวข่าวไม่ตรงกับความจริง
18 มกราคม ปิดปฏิญญารายปักษ์ ไม่มีกำหนด เหตุผล ตีพิมพ์ข้อความอันเป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
20 มกราคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ เหตุผล ตีพิมพ์ข้อความทำให้ต่างชาติอาจเข้าใจรัฐบาลไทยผิด
26 มกราคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวัน เหตุผล ตีพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากใบอนุญาตขาดการต่ออายุ
27 มกราคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยาม เหตุผล ตีพิมพ์ข้อความเป็นเท็จ
15 กุมภาพันธ์ 2520 ปิดหนังสือพิมพ์บ้านเมือง 7 วัน เหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่มีลักษณะกล่าวร้ายป้ายสีรัฐบาลไทย
18 กุมภาพันธ์ 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เด่นสยาม ไม่มีกำหนด เหตุผล วิจารณ์การปิดเดลินิวส์
31 มีนาคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์ชาวไทยไม่มีกำหนด เหตุผล เขียนข้อความบิดเบือนความเป็นจริง
10 เมษายน 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เดลิไทม์ ไม่มีกำหนด ไม่แจ้งเหตุผล
12 เมษายน 2520 ปิดหนังสิอพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ ไม่มีกำหนด ไม่แจ้งเหตุผล
15 พฤษภาคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์บูรพาไทม์ยุคชาวสยาม ไม่มีกำหนด เหตุผล กล่าวร้ายรัฐบาล กรณีใช้มาตรา 21 ประหารชีวิต พลเอกฉลาด หิรัญศิริ
25 พฤษภาคม 2520 ยึดหนังสือ “เลือดล้างเลือด”
2 มิถุนายน 2520 ปิดหนังสือพิมพ์สยามรัฐ 7 วัน ไม่แจ้งเหตุผล
2 กรกฎาคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เสียงปวงชน ไม่มีกำหนด ไม่แจ้งเหตุผล และปิดหนังสือพิมพ์ยุคใหม่รายวัน ที่ราชบุรี ไม่มีกำหนด ไม่แจ้งเหตุผล
8 สิงหาคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ 7 วัน จากบทความ “รัฐบาลแบบไหน”
13 สิงหาคม 2520 ปิดหนังสือพิมพ์เสียงปวงชน จากบทความเรื่อง “อธิปไตยของชาติ”

รัฐบาลที่มี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลหอย” เนื่องจากบอกตัวเองว่าเป็นหอย คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นเปลือกหอย คอยปกป้องตัวหอย
ทั้งเป็นรัฐบาลที่กำหนดขั้นตอนประชาธิปไตยไว้ 3 ขั้น ขั้นละ 4 ปี
รวมเป็น 12 ปี เป็นรัฐบาลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่สุด มี นายสมัคร สุนทรเวช และ นายดุสิต ศิริวรรณ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนับสนุนอย่างเข้มแข็ง
ด้วยเหตุหลายประการ รัฐบาลหอยจึงถูกคณะเปลือกหอยเข้ายึดอำนาจ แล้ว พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง
ผมเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ปลายพฤศจิกายน 2519 ที่วัดโสมนัสวรวิหาร ครองเพศบรรพชิตนาน 7 เดือน