นับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 สภาอุตฯ-หอการค้า จับตานโยบายเศรษฐกิจ กู้วิกฤต

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

นับถอยหลังจากนี้ไป ประเทศไทยกำลังปรับโหมดเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2566

แน่นอนว่าหลายภาคส่วนตั้งหน้าตั้งตารอความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตมาอย่างต่อเนื่องนาน 3 ปี นับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อมาถึงวิกฤตราคาพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อพุ่งด้วย หลายประเทศรวมถึงไทย เร่งนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นดาบสองคมที่ไปกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจนอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงจากปี 2565

เชื่อมั่นได้ว่า “นโยบายด้านเศรษฐกิจ” น่าจะเป็นอาวุธที่แต่ละพรรคการเมืองต้องเตรียมรังสรรค์ออกมาสู้ศึกกันอย่างดุเดือด

 

ในมุมมองภาคเอกชนโดยเฉพาะองค์กรหลักที่เป็นหัวขบวนของภาคเอกชน อย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัว 3.5% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นถึง 20 ล้านคน ขณะที่ส่งออกจะขยายตัวลดลงเหลือ 1-2% หรือขั้นเลวร้ายที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินอาจจะติดลบ 0.5-1.5%

หลังจากปี 2565 สามารถเติบโตสูงถึง 7-8%

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ยิ่งจีนเปิดประเทศจะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเพิ่มอีก 5 ล้านคน รวมเป็น 25 ล้านคน และภายหลังจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคทำให้มั่นใจว่ากลุ่มท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนตามเป้าหมายแน่นอน

โดยย้ำให้เห็นว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะการท่องเที่ยวไม่ต้องใส่เงินลงทุนอะไรเลย เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วที่สุด ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ ยกตัวอย่าง “มัลดีฟส์” ซึ่งเป็นเกาะ แต่ก็เปิดการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด และปรากฏว่าการเปิดประเทศเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจได้

ส่วนประเด็นความกังวลเรื่องนักท่องเที่ยวจะนำโควิดเข้ามานั้น มองว่าปัจจุบันโควิดเป็นเรื่องที่ไม่รุนแรงจนรักษาไม่ได้ และประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีมากอยู่แล้ว แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาก็ต้องดูแลตัวเองเช่นกัน เพราะประเทศต้นทางที่ให้ออกมาก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการนำโควิดกลับเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศเช่นกัน

โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีมาตรการ “ซีโร่โควิด” อยู่แล้วตลอดเวลา

 

สอดคล้องกับมุมมองของ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เห็นว่า การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบกะทันหันอาจทำให้นักท่องเที่ยวที่กำลังมีแผนเดินทางมายังประเทศไทยไม่สามารถยอมรับได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัว เสี่ยงที่ไทยจะ “เสียโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยว” โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป ที่กำลังจะหนีหนาว พลังงานแพงมาที่ไทย

ต้องขอให้รัฐบาลคำนึงว่าท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยว 25-26 ล้านคนที่จะเข้ามาจะช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวจึงเป็นวาระสำคัญ ในช่วงแห่งการนับถอยหลังที่จะก้าวสู่การเลือกตั้งรอบใหม่ เช่นเดียวกับนโยบายการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งต้องตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจ

“สนั่น” ชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคต้องคำนึงถึงปากท้องประชาชนเป็นอันดับ 1 และที่สำคัญการเลือกตั้งก็ต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทางหอการค้าพร้อมสนับสนุนเต็มที่ และมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 70,000-80,000 ล้านบาท

พร้อมเน้นย้ำว่า ความคาดหวังนโยบายเศรษฐกิจนั้น สิ่งสำคัญต้องสร้างความร่วมมือรัฐ-เอกชน ในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ ขออย่ามุ่งเน้นเพียงแต่ “การกำหนดนโยบายหาเสียงประชานิยม” เพราะในระยะไกลนโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งเราต้องเติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่ได้ ต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งระยะกลาง ยาว อย่าคิดแค่วันนี้

ขณะที่ฝั่งภาคอุตสาหกรรม “เกรียงไกร” ฉายภาพว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจสำคัญก่อนจะมีการเลือกตั้งรอบใหม่ คือ ปัญหาต้นทุนภาคเอกชน ทั้งจากอัตราค่าไฟฟ้า และดอกเบี้ย ซึ่งแม้ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะปรับลดอัตราค่าเอฟทีรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จนมีผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น “ในอัตราที่ลดลง” จาก 5.69 บาท เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย

แต่ทว่า การปรับขึ้นนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 13% ดังนั้น จะเห็นว่าไม่ใช่เพียงเฉพาะภาคการผลิต แต่ภาคบริการ เช่น โรงแรม โรงเรียน หรือล่าสุดโรงพยาบาลต้องประกาศปรับขึ้นค่าบริการและห้องพัก เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศ

 

แนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน กกร.เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ตอบรับ “หลักการ” ในการตั้งคณะกรรมร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ “กรอ.ด้านพลังงาน” ซึ่งต้อง “เซ็ตติ้ง” วาระที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานอย่างตรงจุด เพราะประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้าจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ค่าเอฟทีงวดแรก แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ส.อ.ท.หารือกับสมาชิกโรงไฟฟ้าซึ่งเป็น 1 ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ “ทุกฝ่ายอยากร่วมแก้ปัญหาแต่ต้องมีรัฐเป็นผู้นำ เพราะเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องกฎหมาย สัมปทาน จะปรับแก้ตรงไหน ต้องเริ่มจากรัฐซึ่งเป็นต้นสัญญา จึงต้องมีเวทีหารือกัน เพื่อนำไปสู่การดูแลโครงสร้างราคาพลังงานในอนาคต”

ปัญหาค่าไฟต้อง “ถอยคนละก้าว” ให้วิน-วินทุกฝ่าย หากราคาพลังงานไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันแบบไม่มีคำอธิบาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถแข่งขันของประเทศ ในการดึงเงินลงทุนเพื่อไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งภาครัฐคือผู้รู้ปัญหา และมีหน้าที่แก้ หากโครงสร้างผิด ปรับสัดส่วนให้มีความเสถียรทั้งการเงิน ราคา ปริมาณที่เพียงพอเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนเอกชนก็มีหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าแข่งได้

ไม่เพียงเท่านั้น “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” เป็นอีกปัจจัยที่ต้องระวัง ทั้งการไหลของเงินทุน ซึ่งภาครัฐอาจจะไม่อยากปรับกลัวเป็นภาระประชาชน หนี้ครัวเรือนพุ่ง ในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ภาระต้นทุนการเงินสูงขึ้น กดดันการลงทุน จะต้องสร้างความสมดุลอย่างไร ซึ่งยังไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มบานปลายไปในหลายทวีป เป็นอีกเรื่องที่กดดันเศรษฐกิจโลก ให้มีโอกาสจะขยายตัวลดลงจาก 3.2% เหลือ 2.7%

ที่สุดแล้ว “เกรียงไกร” มองว่า นโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคใช้หาเสียงจะต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ เมื่อมาเป็นรัฐบาล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้แก่ประเทศ แก้กฎหมายที่ล้าหลัง ลดช่องทุจริตคอร์รัปชั่น ยิ่งไปกว่านั้น หากเศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่ดีกินดี ก็จะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ด้วย

เพราะในท้ายที่สุด “เศรษฐกิจแข็งแรงคืออาวุธของประเทศ”