เมื่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทำลายมหาวิทยาลัยและการศึกษาไทย | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงต้นปี 2566 มีกระแสถกเถียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการวิชาการ และอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง

ประเด็นเริ่มต้นที่การตั้งคำถามต่อระบบราชการ ระบบอุปถัมภ์ พร้อมถึงโครงสร้างระบบอำนาจนิยมที่ทำให้การขอตำแหน่งทางวิชาการกลายเป็นพิธีกรรมที่มีความย้อนแย้ง

ด้านหนึ่งคือมหาวิทยาลัยต่างกดดันให้อาจารย์ทำงานวิชาการ และขอตำแหน่งทางวิชาการ

แต่ในอีกด้านหนึ่งระบบกลไกต่างๆ ก็ไม่เอื้อให้คนสามารถพัฒนาตัวเองได้

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นชัดเจนในช่วงกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ หรือแนวคิดที่เพิ่มอำนาจการบริหารแบบทุน ที่เน้นกำไรสูงสุด ประสิทธิภาพ และลดต้นทุน แนวคิดนี้ถูกนำเข้ามาสู่การบริหารกิจการสาธารณะของรัฐ

หนึ่งในนั้นคือการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

และหากจะกล่าวโดยสั้น ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษ “ระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไทยเละเทะ” อย่างที่ยากจะจินตนาการได้

ความเละเทะนี้ส่งผลต่อทั้งนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และประชาชนทั่วไป

 

คําถามคือมันเกิดอะไรขึ้น

เริ่มต้นจากการที่มหาวิทยาลัยถูกนำออกนอกระบบ (Privatization) การจัดงบประมาณของรัฐถูกวางเงื่อนไขตามประสิทธิภาพ และการเลี้ยงตัวเองได้ มากกว่าหลักการตามปรัชญาการศึกษาว่าด้วยการสร้างองค์ความรู้ ปรัชญาและหลักการว่าด้วยความคุ้มทุนถูกนำเข้ามาในการจัดสรรงบประมาณ

การจ้างอาจารย์ การเปิดหรือปิดหลักสูตรต่างๆ จำนวนนักศึกษากลายเป็นเรื่องสำคัญ

แต่เมื่อประชากรเริ่มน้อยลง มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ผันตัวเข้าสู่ระบบตลาดอย่างเต็มตัวโดยการใช้ชื่อเสียงที่มีมาในอดีตในการเปิดหลักสูตรที่ค่าเทอมสูงขึ้นเพื่อชดเชยจำนวนนักศึกษาที่ลดลง หรือหลักสูตรปริญญาโทที่การจัดการง่ายกว่าหลักสูตรปริญญาตรีและแสวงหากำไรได้ง่ายกว่า

พอดำเนินไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่แหล่งบำบัดความกระหายความรู้ของประชาชน แต่เริ่มเหมือนกับเป็นตลาดหุ้น

เมื่อเป็นตลาดหุ้นมากกว่าตลาดวิชา มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้รับสมัครนักวิชาการ แต่เป็นนัยยะการรับสมัครโบรกเกอร์หรือมาร์เก็ตติ้งแทน

ผลที่ตามมา ค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐเองก็แพงขึ้นตามเงื่อนไขนี้ และสวัสดิการของคนทำงานมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ดีขึ้น

และคุณภาพการศึกษาก็ตกต่ำลง จนไม่เห็นใครได้ประโยชน์

 

“ความเป็นรูปธรรม” ของผลสัมฤทธิ์การศึกษาถูกสร้างอย่างรวบรัด ด้วยการอิงกับระบบ Ranking ที่ถูกนำเข้าจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่มีปรัชญาการศึกษาที่ผิดเพี้ยนมาก่อนไทยไม่นานนัก

ระบบนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดระดับว่ามหาวิทยาลัยใดมีคะแนนด้านวิชาการ การเป็นที่ยอมรับจากภาคเอกชน

อัตราความสำเร็จของบัณฑิต คือมาตรวัดด้านการบริหารธุรกิจ ไม่ใช่มาตรวัดผ่านการสร้างคุณภาพมนุษย์และคือจุดเริ่มต้นความผิดเพี้ยนอีก เมื่อมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้อาจารย์ตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้รับคะแนนที่สูงขึ้นในการจัดลำดับ ซึ่งแน่นอนเกี่ยวกับงบประมาณ และตัวชี้วัดของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทุนวิจัยต่างๆ รวมถึงการดึงดูดนักเรียนต่างชาติ

แต่มันคือปรัชญาการบริหารธุรกิจ ไม่ใช่ปรัชญาการศึกษา เพราะหนังสือ ตำรา การสนทนา การพูดคุย เทคโนโลยีระดับชุมชน ก็ล้วนเป็นการถ่ายทอดงานวิชาการที่มีความสำคัญสำหรับงานวิชาการ ไม่แพ้การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล

แต่การให้ความสำคัญมันกลับลดลงไปและมุ่งสู่การตีพิมพ์ หลายมหาวิทยาลัยเพิ่มค่าตอบแทนการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากลถึง 200,000 บาทต่อบทความ

และลดการสนับสนุนผลงานประเภทอื่นลงเพื่อผลักดันให้อาจารย์ทำการตีพิมพ์มากขึ้น

จนมันกลายเป็นจุดกำเนิดของการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ที่ทุกคนพร้อมจะปิดตาข้างเดียว

เพราะกติกาของระบบนี้ดูแค่ปลายทาง ดูเพียงจำนวนการตีพิมพ์ อัตราการอ้างอิง ซึ่งก็สามารถวนกันในวารสารในเครือได้

แต่มหาวิทยาลัยหลงลืมหลักการพื้นฐานที่การสร้างความรู้และส่งกลับคืนสู่สังคม การกดดันให้คนตามอันดับแบบปลอมๆ นั้น

ทำให้หลายวารสารเปิดช่องให้คนจ่ายเงินเพื่อเอาชื่อตัวเองเข้าไปอยู่ในผู้เขียนร่วมบทความด้วย ค่าตอบแทนอยู่ที่ราวประมาณ 30,000 บาท แต่เมื่อได้ตีพิมพ์แล้วก็สามารถขอรางวัลจากมหาวิทยาลัยได้ 200,000 บาท

โดยที่บทความนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานหรือความรู้ของอาจารย์ท่านนั้น ไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงในทางใด เป็นเพียงหน่วยความจำในโลกออนไลน์ที่มีหลักฐานบนฐานข้อมูล เป็นความวิตถารของตัวเลข ที่ผู้คนวิ่งไล่ตามกันในวงวิชาการ

แล้วเราควรทำอย่างไร?

 

มหาวิทยาลัยหลายแห่งหลงทางกับการใช้ทางลัดที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่นทั้งระบบนี้ เพราะคิดว่าคือหนทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ในช่วงเวลาไม่นานนัก

แต่วิธีการที่ง่ายที่สุดกลับอยู่ตรงหน้าแต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำ

การอยากให้อาจารย์สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดี ไม่ใช่การสร้างความกลัวไม่ต่อสัญญาหรือเงื่อนไขขู่บังคับ ซึ่งแม้แต่บริษัทเอกชนปัจจุบันยังเลิกใช้วิธีการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้คนกังวล

การทำให้คนกลับมารักในอาชีพทำได้ง่ายมากคือการให้ค่าตอบแทนพื้นฐานที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่ดีสำหรับตัวเองและครอบครัว

งานวิจัยได้ยืนยันว่าเมื่อมนุษย์อยู่ในสถานะที่ปลอดภัยจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่าเมื่อตอนอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัวและแข่งขัน

ความปลอดภัยจะทำให้ได้งานที่มีคุณภาพ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้เป็นคุณภาพที่ตรงจริตกับนักลงทุน แต่ในระบบนิเวศของการศึกษาระดับสูง ก็ต้องมีทั้งอาจารย์ที่ถนัดการสอน การวิจัย การบริการสังคม การสื่อสารสังคม หรือพัฒนาเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด

เราอยากให้ผู้เรียนพอใจ แต่เรากลับส่งสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาแพง และยังผลักให้พวกเขาเป็นหนี้เพื่อซื้อสินค้าเหล่านี้ มันจึงกลายเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก

วิธีการที่ง่ายในการจัดการด้านความพอใจของผู้เรียนคือ การทำให้มหาวิทยาลัยฟรี ผู้คนจะกระจายไปยังสาขาที่ตนมีความสนใจ ไม่ใช่เพราะอันดับมหาวิทยาลัย หรือคำโฆษณาต่างๆ

ทำให้ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้น เมื่อผนวกรวมกับการแก้ไขในประเด็นแรก เรื่องการวางรากฐานให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ทำงานด้านการศึกษามากกว่าการวิ่งตามตัวเลขประสิทธิภาพ

ก็จะเป็นการคืนมหาวิทยาลัยให้ประชาชนอย่างแท้จริง