โฟกัสพระเครื่อง / เหรียญรุ่นแรก-จานบิน หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม สองพระเกจิดังปลุกเสก

โฟกัสพระเครื่อง

เหรียญรุ่นแรก-จานบิน
หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม
สองพระเกจิดังปลุกเสก

โคมคำ
[email protected]

“หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต” หรือ “พระครูประยุตนวการ” พระเกจิอาจารย์อาวุโสของจังหวัดนครปฐม แห่งวัดสามง่าม หรือวัดอรัญญิการาม ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ที่มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว มีศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือทั่วทุกภูมิภาค
เป็นศิษย์เอกของพระเกจิผู้ทรงพุทธาคม “หลวงพ่อเต๋ คงทอง” จึงได้เดินรอยตามพระอาจารย์ สืบทอดตำรามหาพุทธาคมของวัดสามง่าม
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่แย้ม สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 ที่ระลึกงานทำบุญฉลองอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส
งานนี้คณะลูกศิษย์ร่วมกันจัดสร้างถวาย แต่ไม่กล้าขออนุญาต จึงไปขออนุญาตหลวงพ่อเต๋ เจ้าอาวาสวัดสามง่ามในขณะนั้นแทน
จากนั้นก็จัดสร้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบก่อนล่วงหน้า ครั้นเมื่อสร้างเสร็จ นำมาถวายหลวงปู่แย้มให้ปลุกเสก ปรากฏว่าท่านโกรธมาก ด้วยเห็นว่ายังไม่สมควรแก่กาลที่จะสร้างเหรียญรูปเหมือน ทั้งยังเป็นการจัดสร้างที่ไม่บอกกล่าวขอกันก่อน
ท่านจึงร่อนถาดที่ใส่เหรียญออกนอกหน้าต่างกุฏิจนเหรียญกระจัดกระจาย ในยุคนั้นจึงนิยมเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญจานบิน”
หลังจากนั้น คณะศิษย์ผู้สร้างได้เก็บเหรียญทั้งหมดไปถวายหลวงพ่อเต๋ ท่านเมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกให้เป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นได้ให้ลูกศิษย์นำมาถวายหลวงปู่แย้ม ซึ่งหลวงปู่ปฏิเสธไม่ได้ จึงนำเหรียญทั้งหมดมาจารกำกับและปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง
นับได้ว่าได้รับการปลุกเสกจากทั้งหลวงพ่อเต๋และหลวงปู่แย้ม สองพระเกจิชื่อดัง

เหรียญหลวงปู่แย้ม รุ่นแรก

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่แย้ม ปี 16 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว ยกขอบหน้า-หลัง
ด้านหน้าเหรียญ มีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่แย้มห่มคลุมจีวรหันข้างไปทางขวา ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “พระอาจารย์แย้ม ฐานยุตฺโต”
ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์พุทธะสังมิ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่าน มีข้อความว่า “ทำบุญฉลองครบอายุ ๕ รอบ รองเจ้าอาวาส วัดสามง่าม นครปฐม” และมีการตอกโค้ดตัว “ย” ทุกเหรียญ
เหรียญรุ่นแรกนี้สร้างเป็นเนื้อเงิน นวโลหะ และทองแดง มีจำนวนไม่เกิน 2,500 เหรียญ
ถือว่าเป็นหนึ่งในเหรียญยอดนิยมที่สาธุชนเสาะแสวงหากันมาก

มีนามเดิมว่า แย้ม เดชมาก เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2458 ที่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 4 ต.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม
เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2481 มีพระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสุวัณโณ) เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม และเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูภาวนาสังวรคุณ (เต๋ คงทอง) เจ้าอาวาสวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) ในขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพชร วัดสามง่าม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ฐานยุตโต
หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาที่วัดสามง่าม ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พร้อมกันนี้ ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน เล่าเรียนวิทยาคม เรียนเขียนอ่านอักขระขอม ลงอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม โหราศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ โดยมีหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ คอยอบรมสั่งสอน
ออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาความวิเวกในการปฏิบัติธรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดวิทยาคมกับครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ เช่น หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภารกิจของพระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋ คงทอง) ผู้เป็นอาจารย์อย่างมาก ด้วยคอยอุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดอยู่ตลอด
จนได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาส และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2500

ปฏิปทาของหลวงปู่แย้มเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ทุกประการ ตั้งแต่เรื่องของวัตรปฏิบัติ การปฏิบัติศาสนกิจ การพัฒนาความเจริญให้วัดสามง่ามและชุมชนใกล้เคียง การสงเคราะห์สังคม ที่สำคัญคือการสืบทอดตำรับมหาพุทธาคมของสำนักวัดสามง่าม กระทั่งถึงทุกวันนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณก็เป็นที่ประจักษ์ทั่วไป
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2530 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโทที่ “พระครูประยุตนวการ”
พ.ศ.2536 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2545 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก เทียบตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
งานปกครองคณะสงฆ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2525 รับภาระหน้าที่ปกครองดูแลคณะพระสงฆ์สามเณรวัดสามง่าม สืบต่อจากพระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋ คงทอง) ที่ละสังขารไป เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524
วัตถุมงคลต่างๆ ที่หลวงปู่แย้มสร้างไว้ มีครบทุกประเภทและเป็นที่นิยมทั่วไป
ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง สุขภาพของหลวงปู่แย้มไม่แข็งแรงนัก มีอาการอาพาธ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559
กระทั่งมรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 06.40 น. วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2560 ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 กรุงเทพฯ
สิริอายุ 102 ปี พรรษา 79