ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาลเปลี่ยนแปลง |
เผยแพร่ |
ในรอบปี 2565 ที่ผ่านพ้นไป มีหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองไทยๆ ที่น่าตื่นเต้นและเปิดมุมองใหม่หลายชิ้นด้วยกัน
เล่มหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าโดดเด่นและชอบเป็นพิเศษ คือ งานของอาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง (สำนักพิมพ์มติชน) ซึ่งผู้เขียนอยากจะนำมาแนะนำและขยายความขบคิดต่อจากหนังสือ
โดยเชื่อมโยงกับแนวโน้มของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในกลางปีนี้
การเมืองแบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างช้านานในสังคมไทย เพราะสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้นเป็นสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เก่าแก่และเป็นรูปแบบหลักที่คนผูกโยงกันในสังคมโบราณ
ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ มันคือความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคนสองฝ่าย
คือ มีผู้ให้ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ กับผู้รับที่มีอำนาจและทรัพยากรน้อยกว่าจึงต้องพึ่งพิงหรือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์นั้น โดยทั้งสองฝ่ายมีสิ่งของหรือบริการบางอย่างมาแลกเปลี่ยนกัน
เช่น ในรัฐโบราณ บรรดาเจ้าขุนมูลนายก็เลี้ยงดูให้ข้าวปลาอาหารที่พักพิงแก่คนที่เป็นบ่าวไพร่ บ่าวไพร่ก็ตอบแทนด้วยการมอบความจงรักภักดีและทำงานรับใช้
เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ (ตามทฤษฎีของนักวิชาการบางสำนัก) ก็จะค่อยๆ เจือจางและหมดความสำคัญลงไป
แปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่คนเท่าเทียมกันมากขึ้น มิต้องมีผู้น้อยที่ต้องคอยพึ่งพิงผู้ใหญ่หรือนายดังแต่เดิม เพราะเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน สำนึกของผู้คนเปลี่ยน รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมก็ย่อมปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
แต่ในสังคมไทยและอีกหลายๆ สังคมมิได้เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ไม่มีเวลาอธิบายในบทความขนาดสั้นนี้ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา
แม้ว่าจะมีการปรับรูปแบบและความเข้มข้นไปตามกาลเวลา และความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมนี้ที่เป็นฐานให้การเมืองแบบอุปถัมภ์ก่อตัวขึ้นมาเป็นลักษณะหลักของการเมืองในสังคมนั้น
นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองรัฐ (ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เจ้านาย ผู้นำกองทัพ นักการเมือง ข้าราชการระดับสุง) กับประชาชนในรัฐอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีลำดับขั้นและไม่เสมอภาค
ผู้ปกครองมองตัวเองเป็นเหมือนผู้อุปถัมภ์คุ้มครองดูแลประชาชน
และในขณะเดียวกันก็คิดว่าตนมีหน้าที่ “จัดระเบียบวินัย” และ “ดัดแปลง” พลเมืองในแบบที่ตัวเองต้องการ
ตัวอย่างที่สำคัญคือ การปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถูกเรียกว่าเป็นการเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
แน่นอนว่าการเมืองแบบอุปถัมภ์ปรากฏตัวทั้งในการเมืองระดับชาติและในการเมืองท้องถิ่น โดยในระดับท้องถิ่นนั้น เราคงคุ้นเคยกับเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่มีบทบาทอย่างมาก
อาจารย์เวียงรัฐเป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยประเด็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และการเมืองแบบอุปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานประมาณ 3 ทศวรรษแล้ว
โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำวิจัยในเรื่องเจ้าพ่อที่ก้าวเข้ามาเป็นตัวละครสำคัญในการเมืองไทยในสมัยทศวรรษ 2520-2530
หลังจากนั้นก็ยังลงภาคสนามเก็บรวบรวมข้อมูลในหลายจังหวัด หลายภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ จึงมองเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงของการเมืองแบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญในหนังสือเรื่อง อุปถัมภ์ค้ำใคร คือ การที่อาจารย์เวียงรัฐชี้ให้เห็นว่าเวลาพิจารณาระบบอุปถัมภ์ เราจะไปดูแค่ตัวแสดงสองฝ่ายคือผู้ให้กับผู้รับไม่ได้ เพราะมันจะทำให้เรามองความสัมพันธ์นี้แบบหยุดนิ่ง
ในขณะที่ความเป็นจริงนั้น สายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่มีพลวัตปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
หากอยากเข้าใจพลวัตของมันก็ต้องโฟกัสไปที่ “สิ่งตอบแทน” หรือสิ่งของและบริการที่ทั้งสองฝ่ายนำมาแลกเปลี่ยนกันด้วย
และระบอบการเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคก็มีผลต่อลักษณะของการเมืองแบบอุปถัมภ์ด้วย
ผมชอบที่อาจารย์เวียงรัฐทำให้เราเห็นความซับซ้อนของระบบอุปถัมภ์ยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะมองเรื่องนี้แบบขาวดำหรือหยุดนิ่ง ดังที่มักจะพบในสื่อหรือผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองทั่วไป
หนังสือเล่มนี้ชี้ว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในยุคหลังการปฏิรูปการเมืองปี 2540 นั้นเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่มีพลวัตที่กำลังพัฒนาไปในเชิงบวก
เพราะมันเป็นยุคที่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง
มีการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น มีการนำเสนอนโยบายมาแข่งขันกันภายใต้กระบวนการเลือกตั้งที่มีความหมาย
ในยุคการปฏิรูปการเมืองสมัยนั้น แม้การเมืองแบบอุปถัมภ์ยังไม่หายไปเสียทั้งหมด แต่ระบอบประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจทำให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองมากขึ้นกับรัฐ พรรคการเมืองและนักการเมือง
และสิ่งตอบแทนนักการเมืองต้องนำมาแลกกับคะแนนเสียงของชาวบ้านผู้เลือกตั้ง ไม่ใช่แค่เงิน 500 บาท หรือบ่อน้ำและสะพานในหมู่บ้านเหมือนแต่เดิม
แต่ต้องนำนโยบายที่จับต้องได้ในการพลิกเปลี่ยนโอกาสในชีวิตมานำเสนอ เช่น การประกันสุขภาพ การเข้าถึงแหล่งทุน สวัสดิการที่พักอาศัย การศึกษาของลูกหลาน ฯลฯ
ที่สำคัญ นอกจากประชาชนมีอำนาจต่อรองมากขึ้นแล้ว พวกเขายังมีอิสระในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มากขึ้น
คือ สามารถเลิกสนับสนุนพรรคการเมืองที่ทำงานไม่เข้าตาเพื่อไปหาพรรคการเมืองอื่นที่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่าได้
การข่มขู่บีบบังคับให้เข้าคูหากาบัตรเริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัย
พลวัตในทางบวกนี้ถูกทำให้หยุดชะงักเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติก่อตัวเป็นวิกฤต และการเมืองในยุคการรัฐประหารของ คสช. ก็มาปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในทางบวกที่กำลังพัฒนาไปให้ก้าวถอยหลังอย่างมีนัยสำคัญ
ระบอบการเมืองแบบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจของ คสช. ไม่ได้ทำลายแค่รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยระดับชาติ แต่อาจารย์เวียงรัฐชี้ว่ามันทำลายประชาธิปไตยท้องถิ่น
มีการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผูกขาดรวมศูนย์อำนาจกลับมาไว้ที่ส่วนกลาง
และทำให้ระบบราชการกลับมาเป็นใหญ่ ทำลายเครือข่ายการรวมกลุ่มของภาคประชาชน
ในแง่ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ คสช. หันกลับไปรื้อฟื้นการเมืองแบบอุปถัมภ์ที่อิงกับบารมีส่วนบุคคล (เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล นายหน้าทางการเมือง)
ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนสั่นคลอน ทรัพยากรทางอำนาจที่เชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองกับประชาชนถูกดึงกลับมาสู่ระบบราชการ
ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองทางการเมืองลดลง และลดสถานะให้ประชาชนกลายเป็นผู้พึ่งพิงที่ต้องคอยรับการแจกเงินและความเมตตาจากรัฐ
นอกจากนั้น เพื่อรับประกันการสืบทอดอำนาจ ผู้นำ คสช.ได้สร้างการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยว ใช้องค์อิสระทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำลายนิติรัฐ และรื้อฟื้นการเมืองอุปถัมภ์แบบเก่าที่อาจารย์เวียงรัฐขนานนามว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลัง (backward clientelism)” คือ ความสัมพันธ์ที่มีอำนาจลดหลั่นอย่างสูง วางอยู่บนฐานของการใช้อำนาจบีบบังคับ และการสร้างแรงจูงใจทางลบ เช่น การข่มขู่และความรุนแรงสารพัดรูปแบบ
แม้แต่นักการเมืองจำนวนมากก็ถูกบีบบังคับด้วย “เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” (คดีความต่างๆ การข่มขู่ด้วยกลไกรัฐ การปรับทัศนคติ ม.44) ให้ต้องย้ายพรรคและมาสยบยอมต่อการสร้างฐานอำนาจและสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร คสช.
เมื่อคิดต่อจากข้อสรุปที่งานเรื่องอุปถัมภ์ค้ำใครนำเสนอมาให้เห็น ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลังของ คสช.นั้นทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยอย่างรุนแรง
แต่ผู้เขียนคิดว่ามรดกของ คสช.ชิ้นนี้กำลังมาถึงทางแพร่งด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก เมื่อ คสช.สลายตัวลงไปพร้อมกับ ม.44 ที่หายไปด้วย ผู้นำรัฐประหารอย่างกลุ่ม 3 ป. ขาดความสามารถในการควบคุมกลไกรัฐได้อย่างเป็นปึกแผ่นดังเดิม ฉะนั้น การจะใช้กลไกข่มขู่บีบบังคับเพื่อสร้างเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้ในการดึงและดูดนักการเมืองเกรดเอให้เข้ามาสวามิภักดิ์ย่อมมิอาจทำได้อย่างเข้มข้นเหมือนเดิม
ประการที่สอง การเมืองแบบการเลือกตั้งในระบบรัฐสภาที่เป็นระบบหลายพรรคและการเลือกตั้งในท้องถิ่นทุกระดับที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลัง ทำให้อำนาจมีการกระจายตัวมากขึ้น อำนาจต่อรองของประชาชนเริ่มมีมากขึ้น แม้ว่าการกระจายอำนาจจะไม่กลับไปเข้มแข็งเหมือนเดิม แต่ก็มีความคึกคักและการขยับปรับเปลี่ยน ไม่หยุดนิ่งเหมือนในยุค 5 ปีภายใต้ คสช. ท้องถิ่นไม่ใช่สนามที่อดีตผู้นำรัฐประหารแช่แข็งและควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกต่อไป
ประการที่สาม การแยกกันทางการเมืองระหว่างอดีตผู้นำ คสช. อย่าง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ย่อมส่งผลสำคัญต่อการควบคุมอำนาจที่ขาดความเป็นเอกภาพ
หากเปรียบกับการเมืองยุคโบราณ ก็เหมือนเจ้านายสองคนที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์เดียวกันมาแตกกันเองเป็นสองก๊ก บรรดาไพร่พล บ่าวบริวาร และข้ารับใช้ก็ต้องเลือกว่าจะเดินตามนายคนไหนไป จะคงสภาพเป็นวันทองสองใจ หรือข้าสองเข้าบ่าวสองนายไปตลอดย่อมทำมิได้
บรรดาผู้สนับสนุนทางการเงินที่เป็นเจ้าสัวทั้งหลายก็ต้องเลือกแบ่งปันทรัพยากรไปสนับสนุนแต่ละฝ่ายตามไปด้วย
บรรดาข้าราชการน่าจะเป็นกลุ่มที่ปวดหัวและวางตัวลำบากที่สุด จะเข้าข้างใครหรือจะระดมกำลังไปช่วยนายพี่หรือนายน้องก็ต้องระวังผลที่จะเกิดตามมา ไม่ต้องพูดถึงข้าราชการที่จะเลือกเกียร์ว่างหรือแปรพักตร์หากทิศทางลงบ่งบอกว่านายคนใหม่ต่างสังกัดกำลังจะมาแทนที่
พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติจึงจะเป็นสองพรรคการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ล้าหลังเพื่อชิงคะแนนในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ยุทธวิธีเดียวกัน แนวทางเดียวกัน ต่างกันแค่หัวโขน
แต่การเมืองแบบอุปถัมภ์ล้าหลังจะทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยลงในสนามเลือกตั้งปี 2566 เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022