ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 มกราคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
แม่ให้ ‘หลวงพ่อโสธร’
หายไปเมื่อ ‘จับโจร’
พ่อกับแม่จะทำสวน และมีสวนที่อยู่ติดกับบ้าน ประมาณ 5 ไร่
จะปลูกมะม่วง ทั้งมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงฟ้าลั่น มะม่วงอกร่อง มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงทองดำ มะม่วงหัวช้าง มะม่วงมันพิมเสน มะม่วงสามฤดู กล้วยน้ำหว้า กล้วยหอม มะพร้าวอ่อนที่เป็นมะพร้าวน้ำหอม หรือมะพร้าวแก่ ที่เป็นมะพร้าวกะทิ
นอกจากนั้น ยังมีหมากอีกจำนวนมาก มีต้นกะท้อน ขนุนในสวนด้วย ใกล้กับบ้านเคยมีต้นมะขวิดขนาดใหญ่มาก 1 ต้นขึ้นอยู่
และพ่อกับแม่ยังทำสวนที่อยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านนักสัก 200 เมตร อีกประมาณ 40 ไร่ ซึ่งไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง แต่ต้องเช่าเขาทำสวน
ระหว่างสวนที่ติดบ้านกับสวนที่ไกลจากบ้าน จะมีต้นไผ่ขึ้นหนาแน่นเป็นแนวยาวมาก กั้นขวางไว้ ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ชายป่า
เมื่อผ่านชายป่ามาก็จะถึงสวนของพ่อผม ซึ่งจะปลูกผักกาดเขียว สลับกับปลูกข้าวโพด มะนาว มะม่วง ส้ม หน่อไม้ฝรั่ง (แอสปารากัส) องุ่น ทั้งองุ่นสีเขียว (ไวท์) องุ่นสีแดง (คาร์ดินัล)
ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นสวนกล้วยไม้ เป็นกล้วยไม้ตัดดอกขาย พ่อต้องย้ายไปบุกเบิกทำสวนในที่ห่างไกลออกไป โดยเช่าที่ดินเพื่อปลูกผักชนิดต่างๆ บางทีในพื้นที่ 40 ไร่ จนเกือบ 100 ไร่
และเมื่อออกไปไกลๆ พี่ชายคนโตของผมต้องไปอยู่ประจำที่สวนเพื่อเฝ้าดูแลสวนร่วมกับลูกจ้าง โดยพ่อผมจะไปดูแลตั้งแต่เช้าจนค่ำจึงกลับบ้าน ส่วนพี่ชายจะนอนเฝ้าที่สวนในกระต๊อบ ซึ่งปลูกสร้างไว้ที่สวน เพื่อเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำสวน มีเครื่องสูบน้ำ ปุ๋ยชนิดต่างๆ หรือยากำจัดศัตรูพืช และพี่ชายผมต้องหุงหาอาหารกินเอง ด้วยวัยเพียง 10 กว่าขวบเท่านั้นเอง
ผมจะมองพี่ชายคนโตของผมว่าเป็นคนเก่ง ทำสวนเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมเครื่องยนต์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง
ถ้าปีไหนผลผลิตดี ทุกคนจะมีความสุขกัน แต่ถ้าโชคร้าย ถูกโกง ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจะแย่มากๆ
และที่พวกเรากลัวกันมากคือ พิษจากภัยธรรมชาติ ฝนตกหนักจนน้ำท่วม ต้องระดมเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำออกจากสวนทั้งกลางวันกลางคืน อดตาหลับขับตานอน ไม่ให้น้ำท่วมสวนผัก ซึ่งจะเสียหายทั้งทรัพย์สินเงินทองและเวลา
แต่บางปีเกินกำลังที่จะป้องกัน น้ำท่วมสวนทั้งหมด พืชผักที่ปลูกไว้จมน้ำและเน่าเสียหาย
ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งน้ำท่วมหนักมาก ระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า ขณะยืนบนถนน เวลานั้นสวนอยู่ ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม มีจำนวนกว่า 60 ไร่ มันจึงเป็นปีที่สร้างความยากแค้นให้กับครอบครัวของผมจริงๆ
สภาพน้ำท่วม เหมือนเพลงฮิตที่ศรคีรี ศรีประจวบ ร้องเพลงน้ำท่วม ให้เห็นภาพยังไงยังงั้นเลย
แต่เมื่อเข้าหน้าแล้ง ฝนไม่ตกเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองเริ่มน้อย จนต้องใช้ระหัดวิดน้ำจากคลองเข้าสวนโดยใช้เครื่องคูโบต้าฉุดระหัด บางครั้งผมก็คอยเฝ้าเวลาสูบน้ำเข้าสวน
ถ้าปริมาณน้ำมีน้อย ซึ่งปกติจะไหลมาตามแม่น้ำท่าจีนจากทางทิศเหนือลงมายังทิศใต้ซึ่งเป็นน้ำจืด และถ้าตรงกับช่วงน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง มันจะทำให้น้ำในคลองมีสภาพเป็นน้ำกร่อย คือ น้ำจะมีรสชาติเค็มนิดๆ ไม่จืดเหมือนปกติ
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเอาไปรดพืชผักในสวน เพราะจะทำให้โตช้า หรืออาจเฉาตายได้ ชาวสวนจะต้องระมัดระวังอย่างมาก
แม่เคยพาผมและลูกๆ ไปเยี่ยมบ้านเกิดของแม่ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งน้องชายของแม่อยู่ที่นั่น
ด้วยความที่แม่เป็นคนที่มีความจำเป็นเยี่ยม จึงจดจำเส้นทางการเดินทางได้อย่างคล่องแคล่ว
แม่พาผมออกเดินจากบ้านไกลกิโลเมตรกว่าๆ จนถึงปากทางเข้าบ้าน ริมถนนเศรษฐกิจ เพื่อรอขึ้นรถเมล์ประจำทาง
ช่วงนั้น ประมาณปี พ.ศ.2506 ถึง พ.ศ.2508 รถเมล์โดยสารประจำทางยังเป็นรถโดยสารเก่าๆ หรือเรียกกันว่ารถเมล์แบบหัวยาวๆ เปิดหน้าต่างทุกบาน ยังไม่มีรถปรับอากาศ
ถนนก็ยังเป็นลูกรัง พื้นถนนก็ไม่เรียบ ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ถ้าลาดยางก็ช่วงสั้นๆ
เวลารถวิ่ง รถจะสั่นคลอนโยกไปโยกมา ถ้าขับไปเจอหลุมขนาดใหญ่ที่ผิวถนน รถจะกระแทกแรงมาก
สะพานข้ามคลองภาษีเจริญ ยังเป็นสะพานที่สร้างด้วยไม้ แล้วเปลี่ยนมาเป็นคอนกรีตภายหลัง
เวลารถเมล์ขึ้นสะพาน ตอนลงจากสะพาน ผมรู้สึกเสียวท้องวูบๆ เป็นความรู้สึกสมัยเด็กๆ ที่รถเมล์ลงจากสะพานสูงทุกครั้ง
แม่พาขึ้นรถเมล์ประจำทางจาก อ.กระทุ่มแบน มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เวลานั้น รู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันช่างห่างไกลจากบ้านเหลือเกิน
แล้วแม่ก็พาลงจากรถเมล์ที่สามแยกไฟฉาย มาขึ้นรถเมล์ต่อไปที่สถานีขนส่งเอกมัย
ผมพอจะจำได้ว่า กรุงเทพฯ มีรถรางวิ่งด้วย ตอนนี้รถเริ่มติด และเหม็นควันที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียของรถยนต์แล้ว ผมยังเด็กมากๆ เริ่มรู้สึกอยากอาเจียน แต่ก็ทนเอา จนมาถึงเอกมัย แม่ก็พาขึ้นรถเมล์ไปแปดริ้ว หรือ จ.ฉะเชิงเทรา
สภาพรถเมล์ขณะนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่เปิดหน้าต่าง
เมื่อออกจากกรุงเทพฯ สภาพการจราจรรถไม่แน่นแล้ว อากาศดีขึ้นมาก เพราะมีลมพัด ทำให้ถ่ายเทได้ดี สองข้างทางที่รถโดยสารประจำทางวิ่งผ่านไป มีสภาพเป็นท้องนาเขียวขจีไกลสุดสายตา ถนนที่รถเมล์วิ่งก็คู่ขนานไปกับลำคลอง ที่มีฝูงเป็ดของชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นฝูงใหญ่ บางฝูงก็เป็นเป็ดสีขาวล้วน บางฝูงก็เป็นเป็ดสีน้ำตาล บ้างก็ลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำ บ้างก็ยืนไซร้ขน
บางทีมองเพลินๆ ลมที่พัดผ่านหน้าต่างปะทะใบหน้า ทำให้รู้สึกสบายกว่าเดิมมาก จากอาการที่กระอักกระอ่วนก็หายไป และทำท่าจะผล็อยหลับเพราะความเพลียที่เดินทางไกลเป็นพิเศษในวันนี้ พลางก็มองแม่ไม่ให้ห่าง และนึกว่า แม่เมื่อไหร่จะถึงสักที
ที่สุดก็เดินทางมาถึงแปดริ้ว หรือตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา คนคึกคัก เสียงคนร้องเรียกตะโกนให้ขึ้นรถสามล้อถีบ ว่า วัดหลวงพ่อ วัดหลวงพ่อ ซึ่งหมายถึงว่า ใครจะไปนมัสการวัดหลวงพ่อโสธรไหม ที่เป็นวัดสำคัญของแปดริ้ว
แม่บอกกับผมว่า ยังไม่ถึงบ้านแม่ ต้องพาขึ้นรถอีกต่อ เพื่อไป อ.บางคล้า แต่เวลาบ่ายคล้อย เลยเวลาอาหารกลางวันมานานแล้ว แม่พาไปกินข้าวแกงที่บริเวณสถานีขนส่งนั้นๆ เสร็จแล้วรีบกลับมาขึ้นรถเมล์เพื่อไป อ.บางคล้า
แล้วแม่ก็พามาถึงบ้านเกิดของแม่จนได้
คืนนั้นแม่กับผมก็ได้พักที่บ้านหลังนี้ เป็นบ้านของน้องชายแม่
เหตุการณ์ชีวิตในวัยเด็กเป็นสิ่งที่ผมจดจำได้เสมอ และรู้สึกถึงความผูกพันที่ผมมีต่อพ่อแม่ของผมครอบครัวพี่น้อง
และไม่พลาดอยู่แล้ว ที่แม่จะพาไปพบปะญาติพี่น้องของแม่ที่ อ.บางคล้า ผมยังจำสถานที่สำคัญได้คือ วัดโพธิ์ วัดที่มีค้างคาวเกาะเต็มต้นไม้ทั้งต้น
รายการสำคัญที่แม่พาไปคือ ไปไหว้หลวงพ่อโสธร และปิดทอง เอาน้ำมนต์ที่อยู่ในตุ่มในโบสถ์มาปะพรมเพื่อเป็นสิริมงคล
หลวงพ่อโสธรเป็นสิ่งที่แม่เคารพบูชาและอยู่ในใจแม่มาตลอดชีวิต แม่เคยให้พระหลวงพ่อโสธร ที่เป็นรุ่นที่ 1 หรือรุ่นเปิดโบสถ์ อะไรทำนองนี้ แล้วแม่ก็เอาพระไปเลี่ยมให้ผม ตอนที่ผมเพิ่งจบเป็นตำรวจไปทำงานใหม่ๆ
แต่เสียดายพระท่านไม่ยอมอยู่กับผม ผมคล้องคอไว้แล้วหายไปในระหว่างที่ผมไปจับโจร และหายไปช่วงเวลาไหนก็ไม่รู้
ผมยังเสียดายจนทุกวันนี้ ที่รักษาพระของแม่ที่แม่รักเคารพบูชาเอาไว้ไม่ได้
ผมนี่มันแย่จริงๆ
กลับมาที่บ้านของผมที่ อ.กระทุ่มแบน ผมกับพี่ๆ น้องๆ จะช่วยพ่อกับแม่ทำสวน เมื่อกลับจากโรงเรียน หรือช่วงปิดเทอมใหญ่ซึ่งตรงกับฤดูร้อนประมาณปลายเดือนมีนาคม ต่อไปจนถึงเดือนเมษายน พฤษภาคม และเปิดเทอมต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งจะปิดเทอมนานถึง 3 เดือน ทำให้ลืมโรงเรียนไปเลย และชีวิตจะขลุกอยู่แต่ในสวน
ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กเล็ก หรือแม้แต่ผมเข้าไปเรียนที่สามพรานแล้ว เมื่อมีโอกาสได้กลับบ้าน ผมก็ยังช่วยพ่อแม่ทำสวน
จนกระทั่งผมจบจากสามพรานไปทำงานเป็นตำรวจที่ปักษ์ใต้อย่างเต็มตัว ชีวิตการเป็นชาวสวนก็ยุติลง
โดยการทำสวนเป็นภาระของพี่ๆ น้องๆ ที่ต้องช่วยพ่อกับแม่ต่อไป
กิจกรรมที่ต้องทำคือ ไปรดน้ำต้นไม้ ทั้งข้าวโพด ส้ม มะม่วง รดน้ำต้นมะระบ้าง ถั่วฝักยาว หรือแล้วแต่พ่อจะปลูกอะไร โดยใช้อุปกรณ์ที่ชาวสวนทั่วไปเขาใช้กัน บางที่เรียกว่า ขนาด ซึ่งจักสานด้วยไม้ไผ่ หรือตะแคงรดน้ำ ผมไม่ทราบว่า ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ชนิดนี้อยู่หรือไม่
บางครั้งก็ถอนหญ้าที่ขึ้นรวมกับพืชผักในสวน ถ้ามีการเก็บเกี่ยวข้าวโพด ก็ช่วยแบกข้าวโพด หรือแบกมะพร้าวในสวน
การแบกของหนัก ถือเป็นเรื่องปกติ บางทีของที่แบกมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักตัวผมอีก
การทำเช่นนี้เหมือนการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ และถ้าเป็นการรดน้ำที่ทำเป็นปกติทุกวันของชาวสวน คือ เอาเรือขนาดเล็กที่มีเครื่องยนต์พ่นน้ำสองข้าง เข็นไปตามท้องร่องในสวน เพื่อสูบน้ำจากท้องร่องขึ้นมารดพืชผักโดยเครื่องสูบน้ำแบบนี้ ตามที่พ่อสั่ง
เวลาเข็นเรือรดน้ำ ผมต้องเดินย่ำลงในดินโคลนในท้องร่อง เข็นไปจนสุดขนาดของสวนแล้วก็กลับมาอีกด้าน
หากมีน้ำเต็มก็จะสะดวก รดน้ำเสร็จเร็ว แต่ถ้าน้ำน้อย หรือแห้ง การรดน้ำก็ลำบากและยุ่งยาก
ยิ่งถ้าในท้องร่องปล่อยให้มีสาหร่ายขึ้นมาก พวกสาหร่ายก็จะเข้าไปติดที่ตะแกรง ที่กั้นไว้ที่ปากท่อดูดน้ำ ทำให้ดูดน้ำไม่ขึ้น ต้องเสียเวลาเอาสาหร่ายออกจากตะแกรง
อุปสรรคเหล่านี้ คงไม่สาหัสเท่าเวลาผมเหยียบลงไปในโคลนแล้วโดนกาบหอยบาดที่เท้า เป็นกาบหอยติดมากับขี้เป็ดซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ใส่ให้พืชงอกงาม ผสมกับปุ๋ยเคมี
กาบหอยถ้าบาดที่ฝ่าเท้าไม่ลึกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราเหยียบจนเต็มที่ มันจะบาดลึก เลือดจะออกมาก ต้องหยุดหรือเลิกรดน้ำไปเลย
แต่ลักษณะแบบนี้เกิดไม่บ่อย ส่วนใหญ่จะเล็กๆ น้อยๆ มันทำให้เป็นแผลและเจ็บ เดินไม่ค่อยถนัด
ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดเทอม ผมกับพี่ๆ น้องๆ จะช่วยกันถากถางหญ้าที่สูงท่วมหัวที่สวน บ่อยครั้งมาก ทำจนเป็นปกติ
หรือเวลาปลูกข้าวโพดเพื่อเอาฝักอ่อน ต้องมีการเอาดินกลบโคนต้นข้าวโพดที่สูงประมาณหน้าแข้ง เพื่อให้ต้นข้าวโพดไม่ล้ม และยืนต้นได้ โดยการใช้จอบฟันเอาดินรอบๆ ต้นข้าวโพดมากลบที่โคนต้น กว่าจะทำเสร็จทีละร่องสวน ต้องใช้แรงมาก
ผมยังเป็นแค่เด็กอายุไม่กี่ขวบ ยังเรียนหนังสือแค่ชั้นประถม ก็ทำงานอย่างนี้มาตลอด มือที่กำด้ามจอบนั้น พอทำไปนานๆ ฝ่ามือจะมีอาการพองที่โคนนิ้ว มีตุ่มน้ำใสๆ ถ้าตุ่มนี้แตก จะรู้สึกเจ็บและแสบมาก ผมกับพี่ๆ น้องๆ จะทำงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน แสงแดดแรงจัดมาก บางครั้งก็อาศัยร่มเงาใต้ต้นมะม่วงที่หัวสวนพักหลบแดด มีบ้างถึงกับล้มป่วย เป็นไข้ นอนพักซมอยู่ในผ้าห่ม
แม่จะทำอาหารพิเศษให้กิน ผมยังจำได้เสมอ เวลาไม่สบาย แม่จะต้มข้าวต้มจนเละๆ ใส่เกลือนิดหน่อย และมีหมูย่าง ที่ย่างจนหอม เอามาให้กิน มันอร่อยมาก ถ้าป่วยมากๆ แม่จะตุ๋นยาจีนที่มันกินแล้วมันวิเศษสุดยอดจริงๆ
และช่วงเวลาที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมเลยคือ พ่อจะเอามือของพ่อที่มันใหญ่และหยาบกร้านจากการที่พ่อทำงานหนัก มาแตะที่หน้าผาก เพื่อวัดอาการไข้
แค่ฝ่ามือของพ่อที่แตะหน้าผากเท่านั้น มันรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นจากพ่อ
เพียงปลายสัมผัสของฝ่ามือพ่อ และผมรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่ได้รับความรัก ความห่วงใยจากพ่อและแม่
ช่วงเวลาที่ป่วยไข้ มันจึงเป็นเวลาที่สุดพิเศษจริงๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022