พล.อ.ประยุทธ์กับการเป็นสมาชิก รทสช.

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

 

พล.อ.ประยุทธ์กับการเป็นสมาชิก รทสช.

 

เปิดศักราชใหม่ต้อนรับปี 2566 การเมืองไทยดุเด็ดเผ็ดมัน แอ๊กทีฟ สมกับเป็นปีกระต่ายเลยนะครับ

ภาพของเหล่าบรรดานักการเมืองที่ออกมาประกาศจับมือรวมพรรคกันบ้าง พาเหรดโยกย้ายหาบ้านใหม่สังกัดกันบ้าง เป็นสิ่งที่พวกเราเห็นกันรายวัน

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งคงหนีไม่พ้นกติกาการเลือกตั้งที่มีการปรับเปลี่ยนไปจากระบบเดิม ทำให้พรรคใหญ่กลับมามีลุ้น จึงส่งผลให้พี่ๆ เขาต้องหาที่อยู่ที่ยืนที่มั่นคงที่มั่นใจได้ว่าจะทำให้ชนะการเลือกตั้งเข้าไปนั่งเป็นผู้แทนฯ ในสภาได้นั่นเอง

ไม่ใช่แค่นักการเมืองทั่วๆ ไปหรอกที่จะคิดแบบนั้น แต่หมายถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีก “ครึ่งสมัย” (2 ปีจาก 4 ปี) ก็มีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเลือกใช้กลยุทธ์ทางการเมืองด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

คำถามคือ อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ลุงตู่” ของเราตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก รทสช.ครั้งนี้?

 

ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่ามีเหตุผลทางการเมืองและกฎหมายอย่างน้อย 3 ประเด็นสำคัญด้วยกันครับ

ประเด็นแรกเลยเป็นเรื่องของ รทสช.ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการมาได้พักใหญ่แล้ว แต่ก็ยังดูเงียบๆ ไม่ปังอย่างที่ใครหลายคนคาดหวังไว้ แม้ว่าทางพรรคเองจะตีฆ้องร้องป่าวว่าได้ตัวนักการเมืองรุ่นเก่าเก๋าเกม “3 VIP” อย่างคุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี คุณชุมพล กาญจนะ และคุณชัชวาลล์ คงอุดม มาร่วมงานด้วยก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาแล้วก็ยังไม่เห็นใครคนไหนจะเป็น “ไม้เด็ด” สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายสำคัญของพรรค นั่นคือการมี ส.ส.อยู่ในกระเป๋า 25 ที่นั่งเสียก่อน เพื่อเป็นการการันตีว่าจะผ่าน “ด่านแรกของรัฐธรรมนูญ” ให้สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้

จะมีก็แต่ลุงตู่เองนั่นแหละครับที่พอจะเป็น “ตัวตึงดึงคะแนนเสียง” ให้กับทาง รทสช.ได้ ทั้งนี้ เห็นได้จากการสำรวจความเห็นประชาชนของโพลสำนักต่างๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ครั้นจะให้ พล.อ.ประยุทธ์วางบทบาทของตัวเองเหมือนสมัยเลือกตั้งปี 2562 ด้วยการ “ขาลอยทางการเมือง” ก็คงจะไม่ได้หรอก

เพราะหากทำตัวว่าข้าไม่ใช่นักการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ลอยตัวเหนือการเมืองเหมือนเมื่อก่อนแล้วละก็ เดี๋ยวจะพลอยทำให้หลุดลอยจากวงโคจรทางการเมืองไปอย่างถาวร

เพราะพรรคไม่มี ส.ส.มากพอจะเสนอชื่อตัว ไอ้ที่ต่อสู้คดี 8 ปีต่อศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการเสียของไป

การเดินหมากมาสมัครเป็นสมาชิก รทสช. ด้วยการถือฤกษ์ดีเดย์วันที่ 9 มกราคม 2566 เปิดตัวอย่างอลังการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงเป็นการประกาศให้เหล่าแม่ยกแฟนคลับและสาธารณชนทั้งหลายได้เห็นว่า ครั้งนี้ลุงตู่ขอลงหลักปักฐานกับพรรคนี้ ใครที่ “รักลุงตู่ ชอบลุงตู่ อยากเห็นลุงตู่ทำเพื่อประเทศ กรุณาเลือก รทสช.” นะจ๊ะ

 

ประเด็นถัดมาถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์มีความจำเป็นที่จะต้องลงมาคุมเสียงในสภาเองเสียแล้ว ซึ่งคำว่า “สภา” นี้มีความหมายทั้ง 2 สภาเลยนะครับ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ที่พูดแบบนี้หลายคนอาจจะยังงงๆ อยู่ ผมพูดง่ายๆ แบบนี้ละกันครับว่า ที่ผ่านมาเกือบ 4 ปีของการบริหารประเทศนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว “หัวเรือหลัก” ของการคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่จะคอยสนับสนุนและสร้างเสถียรภาพให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอดคือ พี่ใหญ่อย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนี่แหละ

แต่สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่สามารถพึ่งพาอาศัย “พี่ป้อม” ได้อีกแล้ว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันมันเลยป้ายการเมืองยุค 3 ป. แบบเดิมที่แฮปปี้กันทุกฝ่ายมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความขัดแย้งระหว่าง “ลมใต้ปีกของ 2 ลุง” ปะทะรุนแรงกลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนทำลายล้างจนเกิดเป็น “พรรคพี่ (ไปทาง) พรรคน้อง (ไปทาง)”

คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคน้องเอง อาจต้องยอมรับว่ายังไม่มีบารมีมากพอที่จะทำหน้าที่ “พี่ใหญ่” คุมเสียงในสภาได้เหมือนกับ พล.อ.ประวิตร

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงเลี่ยงไม่พ้นหรอกครับที่ต้องเข้ามามีส่วนดูแลบริหารจัดการการเมืองใน รทสช. มากกว่าสมัยที่ตนเองถูก พปชร.เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อควบคุมดูแลเสียงในสภาด้วยตัวเอง

 

มาถึงอีกหนึ่งสภาที่น่าสนใจและผมอยากให้ทุกท่านติดตามชนิดที่ว่าห้ามกะพริบตาเลย นั่นคือ วุฒิสภา

ซึ่งที่ผ่านมา 250 ส.ว.ถือเป็นเสียงที่คอยสนับสนุนลุงตู่ของเรามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องเลือกนายกฯ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือผ่านตัวบทกฎหมายต่างๆ ฯลฯ

ทุกท่านทำหน้าที่ยกมือโหวตโดยพร้อมเพรียงกันอย่างดีเยี่ยมจนแทบจะเรียกได้ว่า “ไม่แตกแถว” กันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสภาวะ “เสือ 2 สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” และ “พล.อ.ประวิตร” อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยคดี 8 ปีของศาลรัฐธรรมนูญ

จึงนำพา 250 ส.ว.ไปสู่ “ทางสองแพร่ง” ที่จะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะสนับสนุนใครกันแน่?

สิ่งที่ผมพูดคงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง เมื่อประธานวุฒิสภาอย่างอาจารย์พรเพชร วิชิตชลชัย ออกมายอมรับเองเลยว่าการโหวตเลือกนายกฯ ของเหล่า ส.ว.ครั้งต่อไปนั้นคงไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่าแต่ละคนนั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนผลการโหวตจะเป็นเช่นไรต้องรอดูเมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว

นี่คือสัญญาณของความอึดอัดขัดแย้งทางการเมืองของ “ศึกระหว่างพี่น้อง 2 ป.” ในวุฒิสภาที่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมีคู่แข่งเกิดขึ้นในสภาสูง พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องเข้ามาจัดระเบียบเสียงของ 250 ส.ว.ที่ไม่เป็นเอกภาพเหมือนเดิมอย่างใกล้ชิดชนิดคลาดสายตาไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

เพราะหากเพลี่ยงพล้ำกลับกลายไปสนับสนุน พล.อ.ประวิตรมากกว่า นั่นหมายถึง ความฝันของการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 จะมลายหายไปแบบกู่ไม่กลับ เนื่องจากวุฒิสภาชุดนี้เหลือโควต้าในการเลือกนายกฯ อีกแค่ครั้งเดียว

พูดง่ายๆ ก็คือ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วก่อนที่ 250 ส.ว.จะหมดวาระลงตามบทเฉพาะกาลนั่นเอง

 

ทั้ง 2 ประเด็นที่วิเคราะห์เจาะลึกให้ฟังกันไม่ว่าจะเป็นการต้องมาช่วยเรียกคะแนนให้กับ รทสช.ก็ดี การต้องลงมาคุมเสียงในสภาก็ดี ล้วนแล้วแต่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์จำต้องเข้ามา “คลุกคลีตีโมงทางเมือง” ด้วยตัวเองโดยสภาพ ภาพลักษณ์และการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในฐานะ “ทหารอาชีพฮีโร่ขี่ม้าขาว” เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศแบบเดิมนั้นนอกจากจะไม่เป็นคุณกับตนเองแล้ว ยังอาจเป็นโทษเสียด้วยซ้ำ

เพราะถ้าจะมาช่วยหาเสียงเรียกความป๊อปปูลาร์ วางหมากเดินเกมทางการเมือง ฯลฯ ให้กับ รทสช. ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคด้วยแล้ว อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองที่ห้ามมิให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคมาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง หรือสมาชิกไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ซึ่งนอกจากจะมีโทษทางอาญาแล้ว ก็ยังรุนแรงถึงขนาดยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง คราวนี้ล่ะครับจะซวยกันไปเสียหมด

และนี่แหละจึงเป็นเหตุผลประการสุดท้ายซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องข้อกฎหมายว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องลงสมัครเป็นสมาชิก รทสช.

2 เหตุผลทางการเมือง บวก 1 เหตุผลทางกฎหมายที่พูดมานี้ น่าจะพอทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในวันเปิดตัวเป็นสมาชิก รทสช. ว่าตนเองนอนไม่หลับต้องขบคิดอยู่นานสองนานนั้น ประเด็นที่กำลังเคร่งเครียดอยู่คืออะไรบ้าง

 

เอาล่ะครับ มาถึงตรงนี้คงต้องบอกว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจ “ใส่เกียร์เดินหน้าทางการเมือง” ด้วยการสมัครเป็นสมาชิก รทสช. พรรคน้องใหม่ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้บริบททางการเมืองและกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป เพื่อไล่ล่าตามความฝันการเป็นแคนดิเดตนายกฯ สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงชนิดที่ผมเห็นว่าไม่ง่ายแบบ “ปอกกล้วยเข้าปาก” เหมือนการเลือกตั้งเมื่อครั้งปี 2562

หลังจากนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า จากการยอมขยับตัวเองเข้ามาสู่ความเป็นนักการเมือง (ในความหมาย) ของลุงตู่จะมีอานิสงส์ผลบุญทำให้ รทสช.มีคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ได้ ส.ส.ถึง 25 ที่นั่งหรือไม่ เพราะหากอาการยังคงดูไม่สู้ดี เราน่าจะได้เห็นแกงัดไม้เด็ดอื่นๆ ออกมาสู้อีกชนิดที่เรียกว่า “เทหมดหน้าตัก” ไม่มีอะไรจะต้องเสียอีกแล้วก็เป็นได้

เพราะนี่คือ สงครามครั้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครับ