ความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ทันทีที่ปรากฏข่าวของนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ส่งไลน์ในกลุ่มผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการเตรียมการเลือกตั้งของสำนักงานที่ว่า มีความเชื่อมั่นในปัจจัยเดียวที่พร้อม คือ มีคนดี มีความรู้ ความสามารถ ส่วนอีกสามปัจจัย คือ ระบบบริหาร ระบบเทคโนโลยี และการสื่อสาร ยังไม่สามารถมีความเชื่อมั่น คงต้องให้พนักงานช่วยกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จ

แม้การสื่อสารข้อความดังกล่าวจะเป็นเรื่องภายในหน่วยงาน แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวสู่สาธารณะ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จึงตามมาไม่น้อยว่า ระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เตรียมความพร้อมในเรื่องใดบ้าง

และจะมีความพร้อมที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เพียงไรว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 4-5 เดือนข้างหน้านี้ กกต.จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุจริต เที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน

 

ความพร้อมด้านกำลังคน

แม้เลขาธิการ กกต.จะเชื่อมั่นในเรื่องความพร้อมกำลังคน แต่ปัญหาด้านความพร้อมของบุคลากรยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของสำนักงานไม่ใช่น้อย

นับแต่การกระจายของบุคลากรลงไปในจังหวัดต่างๆ ให้มีกำลังคนที่เพียงพอกับปริมาณงาน กำลังคนของสำนักงานมักกระจุกตัวในสำนักงานกลาง ไม่ออกต่างจังหวัด หรือที่ออกต่างจังหวัด ก็มักจะขอให้ยืมตัวไปช่วยในจังหวัดใหญ่

ส่วนจังหวัดที่ห่างไกล เช่น แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ จังหวัดชายแดนต่างๆ มักขาดแคลนบุคลากรในสำนักงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมาย เช่น พนักงานสืบสวนสอบสวน ที่ในอดีตมักจะมีไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดมีจำนวน 6-8 คน ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รังสรรค์ขึ้นทดแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีค่าตอบแทนสูงลิ่วถึงเดือนละ 50,000 บาท ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเลือกตั้งประมาณ 3 เดือนนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นกลไกที่ไร้ประสิทธิภาพทั้งในด้านการหาข่าว การจับทุจริตการเลือกตั้ง

ไม่มีผลงานใดๆ ที่สะท้อนถึงความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในด้านค่าตอบแทนผู้ตรวจการ ผู้ช่วย ค่าเดินทาง ที่พัก รวมแล้วราวกว่า 300 ล้านบาท

ความสามารถในการกลั่นกรองวินิจฉัยคดีร้องเรียนต่างๆ ให้ถูกต้อง และทันเวลา ยังเป็นปัญหาอุปสรรค ดังจะเห็นได้จากคดีร้องเรียนต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาเกินกว่าปีจึงจะสามารถมีคำวินิจฉัยของ กกต.ส่งไปยังศาลได้ และยังมีที่วินิจฉัยไม่เสร็จคั่งค้างอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่เป็นคำวินิจฉัยเด็ดขาด เช่น กรณีใบส้มของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีปัญหาตามมาในคดีแพ่งที่ต้องชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาดเป็นเงินราว 70 ล้านบาท

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนถึง ความจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงาน กกต. แทนที่จะเพียงให้กำลังใจว่า มีคนดี พร้อมทำงาน

 

ความพร้อมในการบริหารงาน

สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีกำเนิดพร้อมคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งหากนับระยะเวลาถึงปัจจุบันแล้วราว 25 ปี มีเลขาธิการซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดมาแล้วรวม 6 คน จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 7 ครั้ง จึงนับว่าเป็นหน่วยงานที่สมควรมีประสบการณ์และความพร้อมในการบริหารจัดการ

สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 นั้น รัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรใบเดียวและนับคะแนนคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบจัดสรรปันส่วนผสม ยังสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการออกแบบใหม่ที่อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยของหน่วยงานจึงอาจมีประเด็นที่สังคมโต้แย้งและถกเถียงในเรื่องสูตรการคำนวณ การปัดเศษ หรือปัญหาจากการรวมคะแนนแล้วเกิดกรณีบัตรเขย่ง

แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เป็นการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ นับคะแนนแบบคู่ขนาน เป็นรูปแบบที่เคยดำเนินการมาโดยตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เป็นเวลามากกว่า 20 ปี จึงไม่น่าจะเป็นข้ออ้างในเรื่องระบบการบริหารงานใดๆ อีก

 

ความพร้อมด้านเทคโนโลยี

ในขณะที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าไปตลอดเวลา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกลับเป็นหน่วยงานที่ยอมรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการเลือกตั้งค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประเทศอื่นๆ แม้ในประเทศย่านเอเชียด้วยกัน

เช่น อินเดีย เนปาล เกาหลีใต้ มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (EVM : Electronic Voting Machine)

มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มีการใช้เครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (Counting Machine)

ออสเตรเลีย มีการลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต (IV : Internet Voting) สำหรับบุคคลบางประเภท อาทิ ผู้อยู่ในต่างประเทศ (Oversea) คนพิการ คนสูงอายุ (Disable & Elder) คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Remote Area) เป็นต้น

แต่สำหรับประเทศไทย การริเริ่มการใช้เครื่องลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์มีมาตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 5 ผ่านมาถึง 20 ปี แต่ก็ยังเป็นเพียงเครื่องทดลองและสาธิต ไม่มีการนำไปใช้กับการเลือกตั้งจริงแม้แต่ครั้งเดียว

แม้ในบางช่วง การพัฒนาทางเทคโนโลยีต่างๆ จะค่อนข้างรุดหน้า เช่น ในสมัยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 4 ในการลงประชามติ เมื่อปี พ.ศ.2559 มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) ต่างๆ มากมาย เช่น แอพพลิเคชั่น Rapid Report เพื่อรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการซึ่งสามารถรายงานเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แอพพลิเคชั่นตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตในการลงคะแนน แอพพลิเคชั่นดาวเหนือ เพื่อระบุหน่วยเลือกตั้งและมีแผนที่นำทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง แอพพลิเคชั่นฉลาดเลือก เพื่อให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง

แต่พอมีการเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ขาดการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้กลายเป็นคำบ่นของเลขาธิการ กกต. ที่ว่า คราวนี้เราคงไม่มีแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ในการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ

ความพร้อมในการพัฒนาทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับคนที่ต้องเข้าใจและมีความทันสมัยในทางเทคโนโลยีด้วย

 

ความพร้อมในการสื่อสาร

ประเด็นนี้ดูจะเป็นจุดอ่อนที่สุดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากตัวกรรมการไม่สื่อสารกับสังคม ไม่สัมภาษณ์ ไม่ให้สื่อซักถาม ตัวผู้บริหารสำนักงาน เช่น เลขาธิการ ก็สื่อกับสังคมน้อย ส่วนรองเลขาธิการหรือต่ำกว่านั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะจะไม่มีความเป็นอิสระในการสื่อสารใดๆ กับภายนอก

การสื่อสารจึงใช้วิธีการที่เป็นทางการสูง เช่น การแจกเป็นเอกสารแถลงข่าว (Press release) ซึ่งยากที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึง เป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way communication) ที่สมบูรณ์แบบ คือ ไม่สามารถแม้จะซักถามรายละเอียดได้หากอ่านไม่เข้าใจ

การแก้ปัญหาในการสื่อสารจึงต้องเริ่มต้นจากคณะกรรมการที่ต้องพร้อมพบปะและตอบคำถามสื่อ มีช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง (Two-way communication) ที่ได้ผลและใช้ได้จริง จึงจะสามารถลดจุดอ่อนการสื่อสารขององค์การได้

น่าเป็นห่วงว่า อีกไม่กี่เดือนก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปและกรรมการการเลือกตั้งนั้นเป็นองค์กรหลักที่สำคัญที่สุดในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน

หากวันนี้ยังบอกไม่พร้อม ประชาชนก็วังเวงแล้ว