ถ้อยที่อ้าง กับ สำนึกที่มี | เมนูข้อมูล

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ถ้อยที่อ้าง กับ สำนึกที่มี

 

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครเป็นสมาชิก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เพื่อให้ชื่อของตัวเองอยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” อันเป็นโอกาสที่จะครอบครองอำนาจควบคุมประเทศต่อไป

ผู้คนในแวดวงการเมืองสรุปกันเกรียวกราวว่า นั่นคือการเข้าสู่สถานะนักการเมืองของระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว คล้ายกับว่าหมดสถานะของ “ผู้ทรงอภิสิทธิ์ในอำนาจเหนืออำนาจประชาชน”

ต่างชี้ให้นับเป็นเรื่องดีที่ประเทศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยเสียที พ้นจาก “ระบบสืบทอดอำนาจ” ที่ยาวนานมากว่า 8 ปี

แม้แต่ตัว “พล.อ.ประยุทธ์” เองก็พยายามที่จะบอกกล่าวให้ประชาชนเชื่อเช่นนั้น

“การที่ผมมาวันนี้ หลายคนอาจจะสงสัยมาทำไม อยากเป็นต่อหรือเปล่า ไม่ใช่ผมอยากเป็นใหญ่ อยากมีอำนาจ อำนาจผมมีมาเยอะแล้วทั้งชีวิตของผม แต่ในอำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกระบวน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ และยังมีคำว่า “ที่ผมมายืนตรงนี้ เพราะผมเคารพในกระบวนการประชาธิปไตย”

เป็นเช่นนั้นหรือไม่

 

คําตอบที่น่าพิจาราณาที่สุดคือ “พล.อ.ประยุทธ์ตีความกระบวนการประชาธิปไตยอย่างไร”

เชื่อหรือไม่ว่าความหมาย “กระบวนการประชาธิปไตย” ในความเข้าใจของคนทั่วไป คือการที่ประชาชนใช้สิทธิในอำนาจเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารจัดการประเทศ ด้วยอำนาจที่ “เท่าเทียม” กัน

อำนาจที่เท่าเทียมต้องเริ่มจาก “กติกาที่เท่าเทียม และกลไกที่เอื้อต่อความเท่าเทียมนั้นอย่างยุติธรรม”

หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ศรัทธาใน “กระบวนการประชาธิปไตย” อย่างที่พยายามนำเสนอในนามของ “นักการเมือง”

คำถามคือ ในยุคสมัยที่เรืองอำนาจกว่า 8 ปีในนาม “ผู้นำคณะรัฐประหาร” ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ “สืบทอดอำนาจ” ต่อเนื่องมา “พล.อ.ประยุทธ์” ทำให้ประชาชนเชื่อว่าได้สร้าง “กระบวนการประชาธิปไตยที่โปร่งใส ยุติธรรมให้กับประเทศ” หรือ “นำพาระบอบการปกครองไปทางอื่น”

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2566”

ความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปในปี 2566 เปรียบเทียบกับปี 2565 ร้อยละ 45.27 เห็นว่าจะวุ่นวายเหมือนเดิม, ร้อยละ 36.11 เห็นว่าจะวุ่นวายมากขึ้น, ที่เห็นว่าจะวุ่นวายน้อยลงมีแค่ร้อยละ 10.07 และที่เห็นว่าจะไม่วุ่นวายเลย ร้อยละ 7.86

แม้ความรู้สึกของประชาชนจะเข้าทาง “คณะรัฐประหาร” ที่พยายามนำเสนอภาพของผู้เข้ามา “สยบความวุ่นวาย ขัดแย้งภายในประเทศ” ทำนอง “อยากสงบ จบที่ลุงตู่”

แต่ 8 ปีกว่าที่มีเวลาบริหารจัดการนั้น ผลโพลนี้พิสูจน์แล้วว่า “ไม่จริง” การบริหารประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกว่าประเทศชาติสุขสงบให้เกิดขึ้นในใจของคนส่วนใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น “ความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566”

ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อไปในทางไม่มีความหวังต่อความโปร่งใสของการเลือกตั้ง คือร้อยละ 62.60 บอกมีแนวโน้มว่าจะมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง, ร้อยละ 36.56 มีแนวโน้มการใช้อิทธิพล และ/หรืออำนาจรัฐในการหาเสียง, ร้อยละ 33.74 คิดว่าจะมีการโกงการเลือกตั้ง และไม่สามารถเอาผิดผู้บงการได้, ร้อยละ 29.39 เห็นว่าจะมีการใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด

ส่วนประชานที่มองการเลือกตั้งในทางที่ดี มีแค่ร้อยละ 29.39 ที่เห็นว่าจะมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในเรื่องเล็กๆ, ร้อยละ 20.23 เชื่อว่าจะไม่มีการซื้อเสียงเลือกตั้ง, ร้อยละ 16.95 จะไม่มีการใช้อิทธิพล และ/หรืออำนาจในการหาเสียง, ร้อยละ 12.82 จะมีการใช้เงินในการหาเสียงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด, ร้อยละ 11.30 จะไม่มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง, ร้อยละ 4.05 เห็นว่าจะมีการโกงการเลือกตั้ง และสามารถเอาผิดผู้บงการได้

 

นั่นแปลว่า ในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีความหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นโปร่งใส ยุติธรรม อันเป็นพื้นฐานของ “ความเท่าเทียม” ซึ่งเป็น “หัวใจของอำนาจประชาชน”

ยิ่งหันมามอง “กติกาประชาธิปไตย” ภายใต้การบงการของ “คณะรัฐประหาร” ผ่าน “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโครงสร้างอำนาจ”

แทบมองไม่เห็น “กระบวนการประชาธิปไตย” ที่ยึดมั่นใน “ความเท่าเทียม”

ขณะที่ “กระบวนการที่ส่อการเอารัดเอาเปรียบ” สร้างอภิสิทธิ์ในอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งกลับโดดเด่นชัดเจนอย่างยิ่ง ทั้ง “กติกา” ที่ออกแบบมาเพื่อความเหนือกว่า และ “กลไก” ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับคู่แข่ง

8 ปีที่ผ่านมาไม่ทำให้เกิดความหวังในการเลือกตั้งที่โปร่งใส และถึงวันนี้ยังแสวงหาอำนาจด้วย “กติกา” และ “กลไก” ที่เอารัดเอาเปรียบ

จึงประหลาดยิ่งที่อ้างความศรัทธาใน “กระบวนการประชาธิปไตย” อย่างเต็มปากเต็มคำ