เส้นทางธนาคารแห่งภูมิภาค

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เส้นทางธนาคารแห่งภูมิภาค

 

จับภาพธนาคารใหญ่ไทย กับความพยายามมีบทบาทในระดับภูมิภาคอย่างเอาการเอางานมากขึ้น

ในบรรดาธนาคารชั้นนำของไทย (มักอ้างอิงถึงธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) ควรถือว่าธนาคารกรุงเทพมีบทบาทนำในระดับภูมิภาคอย่างชัดเจน ทั้งในความเป็นไป และความพยายามสร้างลักษณ์ให้เป็นเช่นนั้น (หัวข้อ “กิจการธนาคารต่างประเทศ” ตั้งใจให้เด่นในหน้าแรก Official website – https://www.bangkokbank.com/th-TH)

บทบาทธนาคารภูมิภาคที่ว่า แม้โฟกัสในอาเซียน ทว่า หมุดหมายสำคัญ มีการอ้างอิงกับกรณีประเทศจีนด้วย

โดยเทียบเคียงกับแล้ว ธนาคารกรุงเทพมีที่ยืนจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมั่นคง มีทั้งสำนักงานตัวแทนที่ปักกิ่ง (2529) และสามารถเปิดเป็นสาขาแห่งแรกที่ซัวเถา (2535) และสาขาที่สองที่เซี่ยงไฮ้ (2536)

ตามมาด้วยแผนการใหญ่ ในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ตั้งแต่ปี 2541 มีแผนการเปิดสาขาเพิ่มเติมที่เซียะเหมิน ตามด้วยสาขาปักกิ่ง (2548) ต่อด้วยการย้ายสาขาจากซัวเถา มายังเซินเจิ้น (2550)

และแล้วในปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญ ถือว่าก่อนหน้าธนาคารกสิกรไทย เกือบๆ หนึ่งทศวรรษเช่นกัน เมื่อก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด

 

ธนาคารกสิกรไทย กับแผนการขยายเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่เกิดขึ้นจริงจัง ตั้งแต่ยุคบัณฑูร ล่ำซำ เปิดฉากเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว เขาเองเคยเรียกว่า “China card” ซึ่งใช้เวลาอย่างมาก ว่ากันว่าด้วยไม่ได้วางพื้นฐาน หรือมีภูมิหลังว่าด้วยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยาวนานต่อเนื่อง เช่นธนาคารกรุงเทพ

เริ่มด้วยความพยายามปรับเครือข่ายเดิม จากสำนักงานตัวแทนที่มีอยู่หลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ มาตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ 2540 ทั้งที่เซินเจิ้น (2537) เซี่ยงไฮ้ (2538) ปักกิ่ง (2538) และคุนหมิง (2538) สามารถยกระดับขึ้นอีกขั้น เมื่อสำนักงานตัวแทนเซินเจิ้น กลายเป็นสาขา (2539)

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ใหม่ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นธนาคารท้องถิ่น (LII : Locally Incorporated Institution) กว่าจะบรรลุแผน ใช้เวลานานถึง 15 ปี เมื่อธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เปิดตัวขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ณ นครเซินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์นั้นเดินตามอย่างห่างไกลพอสมควร

“ในช่วงต้นปี 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซี่ยงไฮ้ได้รับใบอนุญาตทางการเงินที่ออกโดยคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารและภาคการประกันภัย เซี่ยงไฮ้ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซี่ยงไฮ้เป็นสถาบันธุรกิจแห่งแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะทำงานร่วมกับสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย สาขาฮ่องกง และสำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่ง”

ข้อมูลของธนาคารไทยพาณิชย์เองว่าไว้

 

ว่ากันอย่างเจาะจงในภูมิภาคอาเซียน กรณีเป็นไฮไลต์ ธนาคารกรุงเทพก็มีบทบาทนำอีกเช่นกัน

โดยเฉพาะกับแผนการใหญ่ ขยายเครือข่ายในอินโดนีเซีย

“อินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญของธนาคารกรุงเทพมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารตั้งสาขาแห่งแรก ณ กรุงจาการ์ตาในปี 2511 ธนาคารยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการในตลาดอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งล่าสุดในปี 2563 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank)” ข้อมูลธนาคารกรุงเทพระบุไว้

Bank Permata ก่อตั้งขึ้นจากรากเหง้าธนาคารเก่าแก่ในกระแสคลื่นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการธนาคารท้องถิ่นในภูมิภาค ถือว่าอยู่ช่วงใกล้เคียงกับการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยก็ว่าได้ ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลง และเผชิญมรสุม คล้ายๆ กรณีธนาคารในไทย จนมีสถานะปัจจุบัน ตามแผนการการควบรวมธนาคารท้องถิ่นเล็กๆ เข้าด้วยกัน

ในช่วงปี 2545 Bank Permata มีฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย มีสาขาประมาณ 300 แห่ง มีขนาดพอๆ กับธนาคารขนาดกลางของไทย ดีลข้างต้น (เข้าถือหุ้นใหญ่ 89.12%) มีมูลค่าราวๆ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90,000 ล้านบาท

โดยธนาคากสิกรไทยเดินแผนตามหลังมา มีดีลสำคัญผ่านบริษัทลูก “กสิกรวิชั่นไฟแนลเชียล ลงนาม ซื้อหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน” ถ้อยแถลงทางการของธนาคารเองต้นปีที่แล้ว (เมื่อ 30 พฤษภาคม 2565) กับอีกตอนหนึ่งระบุว่า “การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion) ในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกินที่ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ…”

ล่าสุดมีบทสรุปแล้ว “…ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ 9.99% เพิ่มเป็น 67.5% ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,500 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้บริษัทของธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Controlling Shareholder) ของธนาคารแมสเปี้ยน” ถ้อยแถลงธนาคารกสิกรไทยอีกครั้ง เมื่อเดือนที่แล้ว (9 ธันวาคม 2565) ทั้งนี้ ให้ข้อมูลด้วยว่า Bank Maspion เป็นธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ 888 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 31,100 ล้านบาท และมีสาขาจำนวน 50 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย “นับเป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ครั้งแรกของธนาคารกสิกรไทยภายใต้กลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค” โดยเปรียบเทียบ ถือเป็นดีลซึ่งเล็กกว่ากรณีธนาคารกรุงทพมากทีเดียว

ดีลอินโดนีเซียข้างต้น สะท้อนภาพธนาคารใหญ่ไทย กับบทบาทระดับภูมิภาคอาเซียนที่เอาการเอางานมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คาบเกี่ยวไทม์ไลน์การหลอมรวมเศรษฐกิจอาเซียน

 

อันที่จริง ธนาคารกรุงเทพ กับธนาคารไทยพาณิชย์ เอาการเอางาน เปิดเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง (เครือข่ายธุรกิจในมาเลเซีย เป็นกรณีหนึ่งของธนาคารกรุงเทพที่สำคัญ เฉพาะตัว ขอไม่กล่าวถึงในตอนนี้) ระลอกหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อสงครามอินโดจีนสิ้นสุดลง กับแผนการ “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” ในยุคชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญเวียดนาม “ปี 2535 ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ เปิดในปี 2535 และสาขาฮานอย เปิดในปี 2537 เพื่อดูแลบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดธุรกิจในเวียดนาม…” (ข้อมูลของธนาคารกรุงเทพ) ส่วนในลาว สาขาเวียงจันทน์ เป็นหนึ่งในธนาคารไทยแห่งแรกๆ ที่เปิดให้บริการ (2536) มาอีกช่วงจึงในปี 2557 จึงขยับขยายย้ายที่ทำการ ต่อมาได้เปิดสาขาปากเซ แขวงจำปาสัก (2559)

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์โฟกัสกัมพูชา เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งแรกที่นั่น (2534) ในนาม Cambodian Commercial Bank (CCB) ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมเมืองสำคัญๆ พนมเปญ เสียมเรียบ พระตะบอง และสีหนุวิลล์ ในช่วงเดียวกับการเปิดสาขาในลาว ที่เวียงจันทน์ (2535) ส่วนในเวียดนาม เพิ่งมาเปิดสาขาโฮจิมินห์ในระลอกหลัง (2559)

ธนาคารกสิกรไทยในฐานะให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์โลกตะวันตกในยุคสงครามเวียดนาม ความเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนดูช้ากว่าใคร ล่วงเลยมาอยู่ในระลอกหลังช่วงหลอมรวมเป็น AEC ด้วยแผนการแข็งขัน กระชั้นชิดน่าติดตาม เป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในลาวแห่งแรกจากระบบธนาคารไทย (2557) ยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขา ในพนมเปญ กัมพูชา (2559) ขณะชิมลาง เปิดสำนักงานผู้แทนที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ในเวียดนาม

ในระยะใกล้ๆ ธนาคารกสิกรไทยยกระดับแผนการระดับภูมิอย่างแข็งขันขึ้น จากเปิดสาขาโฮจิมินห์ (2564) ในเวียดนาม ตามมาอย่างกระชั้นด้วยที่ดีลอินโดนีเซีย •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com