ขาลงของประยุทธ์ | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคแร็กเตอร์ของบุคคลในการเมืองไทยที่ชวนให้กระอักกระอ่วนในเวลาที่พูดถึง

ตัดทุกอคติและฉันทาคติออกไป ฉันอยากให้ทุกคนลองถามตัวเองดีๆ ว่า ทำไมคนอย่างประยุทธ์ถึงได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานอย่างไม่น่าเชื่อ

และแน่นอนที่เรารู้ว่ามีโครงสร้างทางอำนาจแบบไทยๆ บางอย่างที่ทำให้ประยุทธ์อยู่ในอำนาจได้นานขนาดนี้

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เรารู้ว่าหลังความพ่ายแพ้ของกลุ่มคณะราษฎรในช่วงหลังปี 2500s และในบริบทของสงครามเย็นที่ทำให้สหรัญอเมริกาหนุนหลัง “เผด็จการไทย” ให้อยู่ในอำนาจ และทำหน้าที่เป็นกันชนให้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่อเมริกา ณ ขณะนั้นเชื่อว่าจะขยายตัวไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซับซ้อนกว่านั้น การดำรงอยู่ของเผด็จการไทย ดำรงอยู่ในนามของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ อันเกิดจากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ, นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง, เป็นรัฐบาลผสมที่อุดมไปด้วยงูเห่า เป็นการเมืองระบบที่ต้องซื้อขายผลประโยชน์ระยะสั้น เพราะพรรคการเมืองและนัการเมืองไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะเข้าไปผลักดันงานเชิงนโยบาย

และภายใต้ระบบนิเวศน์นี้ ทำให้เผด็จการไทยได้สร้างเครือข่ายทางอำนาจการเมืองกับกลุ่มชนชั้นปัญญาชน ผ่านพีธีกรรมสาธารณะต่างๆ สร้างบารมี สะสมต้นทุนสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม และดำเนินการปลูกฝังอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น

– การผลิตงานเขียนของปัญญาชนสายอนุรักษนิยม ด้วยธรรมาธิปไตย โดยยกตัวอย่างว่า การปกครองโดยอิงเสียงข้างมากนั้นอันตรายหากว่าสังคมนั้นมีโจรเป็น “คนส่วนใหญ่” ซึ่งถ้าอิงการเกณฑ์นี้ก็เท่ากับยอมให้โจร (เสียงส่วนใหญ่) ปกครองบ้านเมือง

– การผลิตงานประวัติศาสตร์จากปัญญาชน นักวิชาการฝ่ายขวา ที่เขียนให้ประวัติศาสตร์ 2475 เป็น “ผู้ร้าย” ของการเมืองไทย ทั้งวาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยที่คนไทยยังไม่พร้อม (ร.7 จะพระราชทานประชาธิปไตยอยู่แล้ว ร.6 ก็ทรงสร้างดุสิตธานี)

– งานวรรณกรรม เช่น สี่แผ่นดิน ทำให้เราหวนคะนึงหาสยามเมื่อครั้ง “บ้านเมืองยังดี” (คือยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

– งานของนักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์สังคม ที่มุ่งอธิบายปัญหาการเมืองไทยจากกรอบคิดของนักรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาที่ผลิตวาทกรรมว่าด้วยวงจรอุบาทว์ ว่า คนจนขายเสียงให้นักการเมือง นักการเมืองเข้ามาถอนทุนด้วยการคอร์รัปชั่น จากนั้นกองทัพเข้ามาทำรัฐประหารเพราะนักการเมืองโกงมากจนกลายเป็นเงื่อนไขให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “วาทกรรม” คนไทยไม่พร้อม คนชนบทไร้การศึกษา นักการเมืองซื้อเสียง คนจนขายเสียง และกลไกของระบบอุปถัมภ์ ระบอบเจ้าพ่อ มาเฟีย ความฟอนเฟะของพฤติกรรมนักการเมือง ถูกลดทอนความซับซ้อนให้เหลือเพียงคำอธิบายว่าด้วยคนเลว คนโลภ คนเห็นแก่ผลประโยชน์ของตน พวกพ้อง มากกว่าประเทศชาติ

จากนั้นสังคมไทยก็ลุ่มหลงกับการแสวงหา “คนดีมาปกครองบ้านเมือง” จนเกิดกระแสจำลองฟีเวอร์ อานันท์ฟีเวอร์ การต่อสู้กับการรัฐประหารหรือการขับไล่เผด็จการหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ก็ไม่ได้ไล่เพราะเป็น “เผด็จการ” แต่ไล่เพราะเป็น “เผด็จการที่ไม่ดี เป็นเผด็จการที่โกงกินไม่ต่างจากนักการเมือง”

หายนะของการเมืองในวันนี้ก็คือดอกผลของการทำงานของวาทกรรมนี้ (ฉันเรียกว่าสารตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสลิ่ม)

รัฐธรรมนูญ 2540 สร้างปีศาจที่ไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือการเอื้อให้มีพรรคการเมืองพรรคเดียวได้จัดตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

และบังเอิญนายกฯ คนนั้นดันเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของชนชั้นนำ “สยาม” จึงไม่สามารถถอดรหัสให้การอยู่ในอำนาจให้ “เป็น” จริง (คนอย่างบรรหาร ศิลปอาชา, ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน)

ทักษิณ ชินวัตร เดินหน้าทำนโยบายที่ไปสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และนั่นทำให้เกิดสำนึกในศักดิ์ศรีของพลเมืองผ่านการกระจายอำนาจและการปฏิรูประบบราชการ

พูดอย่างกระชับคือ ทักษิณดันไปปฏิรูปเชิงโครงสร้างและสั่นคลอนสถานะของเครือข่ายชนชั้นนำอย่างที่ตัวเขาก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

การรัฐประหารปี 2549 คือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำไทย และอย่างที่เรารู้ การรัฐประหาร 2549 ภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า “แดเมจ” (damage) มันรุนแรงมาก

แม้ดูเหมือนว่า ชนชั้นนำจะกุมชัยชนะ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียทุนวัฒนธรรม ทุนสังคม ทั้งหมดที่สั่งสมมาหลายทศวรรษ

หลังการสังหารคนเสื้อแดงกลางเมืองในปี 2553 มายาคติทุกอย่างที่สร้างมาพังทลายโดยสิ้นเชิง และถูกท้าทายอย่างต่อเนื่อง และปีศาจตนนั้นก็ฆ่าไม่ตายเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายอีกครั้ง ได้นายกฯ หญิงคนแรกที่คะแนนนิยมพุ่งสูงสูงสุด

การรัฐประหารปี 2557 ก็เกิดขึ้นบนต้นทุนที่สูงกว่าเดิมอีกมหาศาล และเรื่องเล่าของนักรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาว่าด้วย “วงจรอุบาทว์” ก็ขายไม่ออก เหลือมวลชนฝ่ายขวาจัดคลั่งๆ ที่นับวันก็กลายเป็นตัวตลกของสังคมไปเรื่อยๆ

และนั่นคือจุดกำเนิดของประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี

 

มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้ไปอยู่ในโหมด “ประหยัดพลังงาน” รักษาลมหายใจ เรี่ยวแรง ทำงานทางความคิด หล่อเลี้ยงกระแสการเลือกตั้ง เดินเกมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้เครือข่ายของประยุทธ์ให้กระสุนทุกนัด เหงื่อทุกหยด แรงทุกแรงไปกับการประสานผลประโยชน์ และการจัดสรรอำนาจในหมู่ของพวกเขา

และยิ่งอยู่นานต้นทุนยิ่งสูง ยิ่งอยู่นานยิ่งประจานความล้มเหลวของตนเอง ยิ่งอยู่นานยิ่งดูคล้ายตัวตลกของชาวโลก

ประยุทธ์มีแค่สองทางเลือกในการอยู่ในอำนาจต่อ คือ หนึ่ง ทำรัฐประหาร สอง ต้องไปเป็นนักการเมืองเหมือนคนอื่นเค้า แล้วค่อยไปคิดว่าทำอย่างไรจะชนะ

ทำรัฐประหารตอนนี้ไม่มีใครเอาด้วยแน่ๆ เพราะ 8 ปีที่ผ่านมา กองทัพไม่มีต้นทุนอะไรไปทำรัฐประหารได้เลย สมัยนี้คนทำรัฐประหารไม่ใช่ฮีโร่ แต่คือโจร และที่ผ่านมากองทัพก็ต้องเผชิญกับข้อครหา ทั้งเรื่องการซื้ออาวุธที่เต็มไปด้วยข้อกังขา กระแสยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การตั้งคำถามเรื่องงบประมาณกองทัพ แล้วยังมีเรื่องเรือหลวงอับปาง ชูชีพไม่พอ นักข่าวสายทหารที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง ตอนนี้ ยอดไลก์ ยอดติดตามกลับลดฮวบฮาบ ไร้ตัวตน ทำพีอาร์อะไรก็ไม่ขึ้น

ประยุทธ์ไม่มีทางเลือก นอกจากตั้งพรรคการเมือง ลงไปสังกัดพรรค และประกาศตัวเป็นแคนดิเดตของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ประยุทธ์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องออกไปเดินของคะแนนเสียงจากประชาชน

ประยุทธ์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องลงไปแข่งกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรครวมทั้งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคือ ประวิตร

การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของประยุทธ์ เป็นการอยู่อย่างยาวนานบนต้นทุนที่ร่อยหรอลงไปอย่างรวดเร็ว และอยู่ในภาวะขาลงของเครือข่ายอำนาจเชิงวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชน

และโชคร้ายอย่างยิ่งที่ประยุทธ์ไม่แม้แต่จะมีคาริสมาบารมีแบบจำลอง อานันท์ ปันยารชุน หรือแม้แต่ชวน หลีกภัย ในยุครุ่งเรือง

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ประยุทธ์มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวในฐานะนักการเมืองในระบอบเลือกตั้ง

ขอแสดงความยินดีกับพรรครวมไทยสร้างชาติมาล่วงหน้า มา ณ ที่นี้