‘นิยาย’ เรื่องชนชาติไทย ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

‘นิยาย’ เรื่องชนชาติไทย ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

 

ชนชาติไทย คือ เชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ที่ไม่มีจริงในโลก

ดังนั้น หนังสือเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชนชาติไทย จึงเป็น “นิยาย” ที่แต่งขึ้นตามต้องการของชนชั้นนำ เพราะเป็นเรื่องไม่จริง

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ มีบางเรื่อง อ่านไม่ง่าย เข้าใจไม่สะดวก โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับชนชาติไทยในพงศาวดารและตำนาน ดังจะคัดจากหนังสือเรียนโดยจัดย่อหน้าใหม่เพื่อลดความยุ่งยากมาให้อ่าน ดังนี้

 

การตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทยในดินแดนไทย

“จากการศึกษาตำนานและพงศาวดารเก่าแก่ของชนชาติไทย ที่มักจะเล่าเรื่องถึงการอพยพและเคลื่อนย้ายของชนชาติไทย โดยมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่เหนือดินแดนไทยขึ้นไปเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้เข้าสู่ดินแดนล้านช้างในภาคเหนือของลาว และบริเวณลุ่มแม่น้ำทางภาคเหนือของดินแดนไทย

แม้ว่าตำนานและพงศาวดารไทยจะเล่าเรื่องในลักษณะอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ แต่ใจความที่เป็นสาระสำคัญแสดงการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ดังจะสรุปเรื่องราวจากตำนานและพงศาวดารโดยย่อๆ ดังนี้

พงศาวดารล้านช้าง บอกความเป็นมาของเมืองหลวงพระบาง ศูนย์กลางของล้านช้างในหุบเขา มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน [ภาพจากฝั่งตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง เป็นลายเส้นฝีมือช่างชาวยุโรป ที่เดินทางเข้าไปสำรวจระหว่าง พ.ศ.2409-2411 (ตรงกับไทยสมัยปลายแผ่นดิน ร.4 ถึงต้นแผ่นดิน ร.5)]
พงศาวดารล้านช้าง กล่าวถึงชนชาติไทยตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในลักษณะเป็นแว่นแคว้น ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน แต่ละแคว้นจะมีเจ้าปกครองเรียกรวมๆ กันว่า ‘สิบสองเจ้าไทย’ ต่อมากลายเป็นแคว้น ‘สิบสองจุไทย’ ศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟูในปัจจุบัน)

พงศาวดารกล่าวถึงเจ้าไทยองค์หนึ่งมีนามว่า ‘ขุนบรม’ ซึ่งมีลูกชาย 7 คน เมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มขุนบรมจึงส่งลูกชายพร้อมทั้งช้าง ม้า วัว ควาย ข้าราชบริพารไปสร้างเมืองใหม่ตามบริเวณลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ทางบริเวณภาคเหนือของลาว ลุ่มแม่น้ำโขง สิบสองพันนา หัวพันห้าทั้งหก ลุ่มแม่น้ำกก บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

อนึ่ง เรื่องราวของเจ้าไทยที่ส่งลูกชายไปสร้างเมืองต่างๆ ในภาคเหนือของไทยปรากฏอยู่ในตำนานและพงศาวดารไทยคล้ายๆ กันหลายฉบับ

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 -15 เป็นระยะที่ชนชาติไทยกำลังเคลื่อนย้ายลงมาเพื่อสร้างบ้านสร้างเมืองอยู่ทางแถบเหนือดินแดนไทยขึ้นไป เวลานั้นชาวพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่กันเป็นบ้านเมืองมาก่อนแล้ว ชาวไทยเรียกพวกพื้นเมืองเดิมว่าพวก ‘กร๋อม’ หรือ ‘ขอมดำ’ คือพวกที่มีเชื้อชาติที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร บางตำนานเรียกว่าพวกละว้าหรือมิลักขุ

เมื่อชนชาติไทยเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ จึงต้องแย่งชิงที่ดินบริเวณที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของชาวพื้นเมืองเดิมทำให้เกิดการรบพุ่งกัน ชนชาติไทยเป็นฝ่ายชนะเข้ายึดครองพื้นที่ทำกินของชาวพื้นเมืองเดิม สามารถสร้างเป็นชุมชนชาวไทยได้สำเร็จ และได้พัฒนาชุมชนมาเป็นเมืองและแคว้น ต่อมาก็ได้ขยายอำนาจใหญ่โตขึ้นกลายเป็นอาณาจักรโดยมีหัวหน้าเป็นเจ้าปกครอง

ตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงเจ้าชายไทยองค์หนึ่งนามว่าเจ้าชายสิงหนวัติ ได้นำกำลังเข้ายึดพื้นที่ทำกินของพวกกร๋อมหรือขอมดำ และสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยเรียกชื่อว่า ‘นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร’ พร้อมทั้งตั้งตนเป็นกษัตริย์

เจ้าชายสิงหนวัติขยายอำนาจโดยส่งกองทัพเข้ายึดเมืองของพวกกร๋อมหรือขอมดำ พวกนี้สู้ไม่ได้จึงถอยร่นลงทางใต้ เป็นโอกาสให้ชาวไทยรุกไล่ขยายอำนาจลงไปทางใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แคว้นนาคพันธุ์สิงหนวัติขยายอำนาจใหญ่โตขึ้นกลายเป็นอาณาจักร และมีกษัตริย์สืบทอดต่อมาอีกหลายองค์

ในตำนานสิงหนวัติได้กล่าวว่าชนชาติไทยได้สู้รบกับพวกกร๋อมตลอดเวลา บางครั้งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพวกกร๋อมก็มี แต่สุดท้ายชนชาติไทยเป็นฝ่ายชนะและอพยพเคลื่อนย้ายไปสร้างเมืองใหม่หรือไม่ก็เข้าปกครองเมืองของพวกกร๋อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งมาถึงสมัยพระเจ้าพรหม สามารถรบชนะพวกกร๋อม ได้สร้างเมืองใหม่บริเวณแม่น้ำกก และตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า ‘ไชยปราการ’ เมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าพรหมตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกก จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน”

ตำนานสิงหนวัติ บอกความเป็นมาของบ้านเมืองบริเวณโยนก จ.เชียงราย- จ.พะเยา (ภาพทิวเขาขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย)

 

ประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน

คําอธิบายยังคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพงศาวดารล้านช้างกับตำนานสิงหนวัติในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

1. พงศาวดารล้านช้างเกี่ยวข้องกับการสถาปนารัฐล้านช้างในลาว จึงเป็นเรื่องเล่ากล่าวถึงบรรพชนลาว ที่ไม่เกี่ยวกับชนชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ และไม่เกี่ยวกับการสถาปนารัฐสิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไทย) ในเวียดนามตามที่หนังสือเรียนบอกไว้

[สิบสองจุไท หรือสิบสองเจ้าไท คำว่า “ไท” หมายถึงวัฒนธรรมไท-ไต เช่น ทำนาทดน้ำ เป็นต้น แต่ไม่ใช่ “ไทย” ที่หมายถึงคนไทยในประเทศไทย ซึ่งเพิ่งเรียกตนเองว่า “ไทย” สมัยอยุธยา]

พงศาวดารล้านช้าง เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของล้านช้างในลาว ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่เมืองหลวงพระบาง มีโครงเรื่องโดยสรุป ดังนี้

(1) เดิมเป็นพื้นที่ของข่า (พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร) มีความเชื่อในบรรพชนเรื่องนางเมรี (กังฮี) ซึ่งเป็นต้นเรื่องพระรถ นางเมรี

(2) ต่อมาขุนลอ (โอรสองค์โตของขุนบรม) จากเมืองแถน (ในเวียดนาม) เคลื่อนไหวไปมาถึงดินแดนของข่า (เรียกเมืองเชียงดงเชียงทอง) จึงตั้งถิ่นฐานแล้วเรียกเมืองหลวงพระบาง (ได้ชื่อจากพระพุทธรูปคือพระบาง)

(3) ขุนลอสืบเชื้อสายถึงเจ้าฟ้างุ้ม จากนั้นมีเชื้อวงศ์ถึงพระไชยเชษฐายึดได้เวียงจันท์ จึงย้ายศูนย์กลางอำนาจจากหลวงพระบางไปเวียงจันท์

2. ตำนานสิงหนวัติเกี่ยวข้องการสร้างบ้านแปลงเมืองบริเวณโยนก (จ.เชียงราย-จ.พะเยา)

(1) บริเวณโยนกแต่ก่อนเป็นพื้นที่ของลัวะ (พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร) ชำนาญถลุงเหล็กและตีเหล็กทำจอบ (เรียก “จก”) ปลูกข้าวไร่บนที่สูง (เรียก “เฮ็ดไฮ่”)

(2) สิงหนวัติเป็นผู้นำคนกลุ่มหนึ่งจากลุ่มน้ำสาละวิน (ในพม่า) อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำโขง พูดตระกูลภาษาไท-ไต ทำนาทดน้ำที่ลุ่ม ต่อมาได้เคลื่อนไหวไปทางทิศตะวันออกถึงบริเวณโยนก ซึ่งเป็นพื้นที่ของลัวะ จึงผสมเผ่าพันธุ์กัน แล้วก่อบ้านสร้างเมืองบนที่ราบ

(3) พระเจ้าพรหม (เป็นทายาทสืบจากสิงหนวัติ) ครองเวียงพานคำ (ริมน้ำรวก อ.แม่สาย จ.เชียงราย) ได้ขยายอำนาจถึงเวียงเชียงแสน (ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย) และเวียงไชยปราการ (ริมน้ำกก อ.เวียงชัย จ.เชียงราย)

(4) พระเจ้าไชยสิริ (เป็นโอรสพระเจ้าพรหม) ถูกข้าศึกขับไล่หนีลงไปทางทิศใต้สู่บริเวณลุ่มน้ำปิง-ยม-น่าน

 

ตำนาน-พงศาวดาร

พงศาวดารล้านช้างและตำนานสิงหนวัติ เป็นเอกสารโบราณอ่านไม่ง่าย เข้าใจไม่สะดวก แม้นักปราชญ์ราชบัณฑิตและนักวิชาการก็ยัง “เคี้ยว” ลำบาก โดยเฉพาะนักโบราณคดีส่วนมากหรือเกือบหมดปฏิเสธความน่าเชื่อถือ จึงใช้ไม่ได้ในการอ้างอิงทางวิชาการ

ตำนาน เป็นเรื่องเล่าทั่วไป พงศาวดาร เป็นตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์

ทั้งตำนานและพงศาวดารก่อนใช้งานประวัติศาสตร์ต้องประเมินค่าความน่าเชื่อถือด้วยการตรวจสอบกับหลักฐานอื่น เช่น หลักฐานโบราณคดี เป็นต้น

เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ควรพิจารณาว่าจะยังมีในหนังสือเรียนระดับนี้ไหม? •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ