ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์โกยาแห่งเมืองซาราโกซา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์โกยาแห่งเมืองซาราโกซา

 

หลังจากเสร็จภารกิจการชมงานศิลปะในเมืองบาร์เซโลนาแล้ว คณะทัวร์ศิลปะของเราก็เดินทางไปยังหมุดหมายที่สองของการตามรอยศิลปะ ณ เมืองซาราโกซา (Zaragoza) เมืองหลักของจังหวัดซาราโกซา ในแคว้นอารากอน ทางตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปน

เมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปิน และหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดในซาราโกซา (และของโลก) ก็คือ ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) นั่นเอง

ฟรานซิสโก โกยา หรือในชื่อเต็มว่า ฟราซิสโก โฆเซ่ เดอ โกยา อี ลูเซียนเตส (Francisco José de Goya y Lucientes) ศิลปินชาวสเปนแห่งยุคโรแมนติก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสเปนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19

เขาเกิดในเมืองฟูเอนเดโทดอส (Fuendetodos) ใกล้กับเมืองซาราโกซา ในแคว้นอารากอน (Aragon) ก่อนที่จะย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองซาราโกซากับครอบครัวตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย และใช้ชีวิตวัยเด็กรวมถึงเริ่มต้นฝึกฝนเล่าเรียนศิลปะที่เมื่องแห่งนี้

ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน โกยาประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะศิลปิน เขาได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะทั้งจิตรกรชั้นครูคนสุดท้ายแห่งยุคสมัยเก่า และจิตรกรผู้ก้าวหน้าคนแรกแห่งยุคโมเดิร์น

เขายังเป็นนักวาดภาพเหมือนบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของเขา

พิพิธภัณฑ์โกยา
พิพิธภัณฑ์โกยา

โกยาทิ้งร่องรอยแห่งอัจฉริยภาพเอาไว้มากมาย ผ่านผลงานหลากหลายที่เขาทำไว้ในเมืองซาราโกซา ทั้งงานจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก, ภาพวาดบุคคล, ภาพวาดลายเส้น และผลงานภาพพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของเมืองแห่งนี้ที่เหล่าบรรดาคนรักศิลปะไม่ควรพลาดที่จะต้องไปเยี่ยมชมอย่าง พิพิธภัณฑ์โกยา (Museo Goya) นั่นเอง

ผลงานของ ฟรานซิสโก โกยา

ตัวพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในอาคารสไตล์เรอเนสซองส์อันงดงาม ซึ่งเคยเป็นคฤหาสน์ของ เฆโรนิโม กอนซิดา (Jerónimo Cósida) จิตรกรและสถาปนิกแห่งยุคเรอเนสซองส์ของสเปน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1979 โดยมีผลงานศิลปะจัดแสดงอยู่กว่า 800 ชิ้น จากคอลเล็กชั่นถาวรกว่า 1,000 ชิ้นที่ทางพิพิธภัณฑ์สะสมไว้

ผลงานของ ฟรานซิสโก โกยา
ผลงานภาพวาดบุคคลของ ฟรานซิสโก โกยา

นอกจากจะจัดแสดงผลงานศิลปะของโกยาแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์โกยายังมีผลงานของศิลปินสเปนเลื่องชื่ออีกมากมายหลายคน

ผลงานของ ฟรานซิสโก เด โอโซนา
ผลงานของ ฟรานซิสโก ปาเชโก
ผลงานของ เปโดร เด กัมปาญา

ทั้งศิลปินในยุคเรอเนสซองส์และบาโร้กของสเปน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 18 อย่าง ฟรานซิสโก เด โอโซนา (Francisco de Osona), ฟรานซิสโก ปาเชโก (Francisco Pacheco), เปโดร เด กัมปาญา (Pedro de Campaȳa), ฆวน ซาริเนน่า (Juan Zariéena), อลอนโซ่ กาโน่ (Alonso Cano), ฆวน อันโตนิโอ เด ฟริอาส (Juan Antonio de Frías), ฆวน การ์เรโญ เด มิรันดา (Juan Carreáo de Miranda), ฆวน เบาติสต้า มาร์ติเนซ เดล มาโซ (Juan Bautista Martínez del Mazo), ฟรานซิสโก เปรเชียโด เด ลา เวกา (Francisco Preciado de la Vega)

ผลงานของ ฆวน ซาริเนน่า
ผลงานของ อลอนโซ่ กาโน่
ผลงานของ ฆวน การ์เรโญ เด มิรันดา
ผลงานของ รามอน บาเยอ อี ซูเบียส

และผลงานของศิลปินพี่น้องตระกูลบาเยอ (Bayeu) สามจิตรกรชั้นเยี่ยมผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นของสเปนในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ผู้มีศักดิ์เป็นน้องเขยของโกยา อย่าง ฟรานซิสโก บาเยอ อี ซูเบียส (Francisco Bayeu y Subías), รามอน บาเยอ อี ซูเบียส (Ramön Bayeu y Subias) และ มานูเอล บาเยอ (Manuel Bayeu)

ผลงานของ ฟรานซิสโก บาเยอ อี ซูเบียส

หรือผลงานของเหล่าบรรดาศิลปินสมัยใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากโกยามาอีกทอดหนึ่ง และนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินร่วมสมัยต่างๆ อีกด้วย

ห้องแสดงผลงานภาพพิมพ์ของโกยา

และถึงแม้พิพิธภัณฑ์โกยาจะไม่มีงานชิ้นเอกของโกยาที่หลายคนรู้จักอย่าง ภาพเปลือยของมายา (La Maja Desnuda), The Third of May 1808 หรือภาพวาดชุด Black Paintings อันเลื่องชื่อ (ซึ่งเราจะไปเยี่ยมชมกันในภายหลัง)

แต่ที่นี่ก็มีภาพวาดบุคคลอันโดดเด่นของโกยาอยู่หลายต่อหลายภาพ แต่ไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สำหรับเรานั้นอยู่ในชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์ กับห้องจัดแสดงคอลเล็กชั่นภาพพิมพ์โลหะชุดที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดของโกยา ที่เขาทำขึ้นในระหว่างปี 1778-1825 นั่นเอง

P. 1 Francisco de Goya y Lucientes, Painter (1799)

ความน่าสนใจของงานภาพพิมพ์โลหะของโกยาชุดนี้ นั้นอยู่ตรงที่ ถึงแม้โกยาจะมีตำแหน่งเป็นจิตรกรเอกผู้ทรงเกียรติแห่งราชสำนักสเปน แต่เขาก็เป็นศิลปินนักปฏิวัติ, นักบันทึกประวัติศาสตร์, นักวิพากษ์วิจารณ์สังคม และนักต่อต้านสงครามตัวยงอีกด้วย

ผลงานของโกยา นอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง, ลึกลับ, ฟุ้งฝัน ตามแบบศิลปะยุคโรแมนติกแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคต่อมาอย่างสูง

Capricho No. 39 : Hasta su abuelo (1799)
Capricho No. 43 : El sueéo de la razön produce monstruos (1799)

และหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นที่สุดในแนวทางนี้ของโกยาก็คือภาพพิมพ์โลหะของเขา ที่สำรวจจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์ และแฝงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมการเมืองของสเปนอย่างจะแจ้ง ทรงพลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานในชุด Los caprichos (ความเพ้อคลั่ง) ชุดภาพพิมพ์โลหะที่โกยาทำขึ้นในช่วงปี 1797 และ1798 และตีพิมพ์รวมเล่มในปี 1799 ผลงานชุดนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความโง่เง่า ขลาดเขลา, ความงมงาย, ไร้ความสามารถ และขาดไร้เหตุผล ของเหล่าชนชั้นปกครองในสังคมสเปนที่เขาอาศัยอยู่ ด้วยอารมณ์ขันเชิงเสียดสีอย่างแสบสันต์

Capricho No. 59 : Y a?n no se van! (1799)

ทั้งผลงานภาพพิมพ์ชิ้นเอกของโกยาที่เราเคยเฝ้าดูแต่ในหนังสืออย่าง Capricho No. 43: El sueèo de la razön produce monstruos (The Sleep of Reason Produces Monsters : การหลับใหลของเหตุผลก่อให้เกิดฝูงอสูรกาย) (1799) ที่แสดงภาพของตัวละคร ซึ่งก็คือตัวโกยานั่งฟุบหลับบนโต๊ะทำงาน และปรากฏฝูงอสุรกายในรูปของสัตว์นักล่าฝูงใหญ่กำลังพุ่งเข้าจู่โจมจากเบื้องหลัง อสุรกายเหล่านี้แทนสัญลักษณ์ของความงมงายและความเชื่อโชคลางอย่างไร้เหตุผลในสังคมสเปน ที่โกยารู้สึกว่ากำลังฉุดรั้งให้ประเทศนี้ห่างไกลจากการก้าวไปสู่ยุคสมัยใหม่

Capricho No. 69 : Sopla (Blow) (1799)

หรือ Capricho No. 39 : Hasta su abuelo (And so was his grandfather : โคตรพ่อมันก็เหมือนกัน) (1799) ผลงานภาพพิมพ์โลหะที่โกยาเสียดสีถึงความภูมิใจหลงใหลของชนชั้นสูงเกี่ยวกับสายเลือดและชาติตระกูลอันบริสทธิ์สูงส่งของตัวเอง ซึ่งโกยามองว่าสิ่งที่สืบทอดผ่านกรรมพันธุ์ของคนเหล่านี้น่าจะเป็นความโง่เขลาไม่ต่างอะไรกับลาเสียมากกว่า

หรือผลงานภาพพิมพ์ Capricho No. 59 : Y a?n no se van! (And still they don’t go! : ยังไงพวกแม่งก็ยังไม่ยอมไปซะที!) (1799) ผลงานภาพพิมพ์โลหะที่แสดงถึงความงมงายไร้เหตุผล และความเชื่อถือโชคลางจนโงหัวไม่ขึ้นของผู้คนในสังคมเช่นเดียวกัน

Capricho No. 64 : Buen viaje (Bon Voyage) (1799)

สําหรับอดีตนักศึกษาผู้เคยเรียนในสาขาศิลปะภาพพิมพ์อย่างเรา การได้ชมงานภาพพิมพ์ต้นฉบับของโกยาด้วยตาตัวเอง เป็นอะไรที่ฟินไม่ต่างอะไรกับนักแสวงบุญได้เห็นนครศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเลยก็ว่าได้

ความเจ๋งอีกอย่างของห้องแสดงงานภาพพิมพ์ห้องนี้ก็คือ ส่วนจัดแสดงผลงานที่ออกแบบเป็นตู้กระจกจัดแสดงผลงานเอาไว้ข้างใน โดยมีป้ายบอกชื่อผลงานและคำบรรยายเป็นตู้ไฟ ที่จะส่องแสงปรากฏตัวหนังสือให้อ่านได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ชมเดินมาหยุดยืนดูงานข้างหน้าเท่านั้น ถือเป็นลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ในการออกแบบอันเปี่ยมไหวพริบและแสดงออกถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อะไรจริง!

พิพิธภัณฑ์โกยา (Museo Goya) ตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสพลาซา เดล พิลาร์ (Plaza Del Pilar) เมืองซาราโกซา แคว้นอารากอน ประเทศสเปน, เปิดทำการ วันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10:00-14:00 น และ 16:00-20:00 น (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดสุดสัปดาห์)

สนนราคาค่าเข้าชม 6 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้พิการ เข้าชมฟรี

ถ้าเข้าไปชมเป็นหมู่คณะเขาก็ลดราคาให้ด้วย

จองตั๋วเข้าชมล่วงหน้าได้ที่ shorturl.at/fnqNV •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์