เรียวไม้-ไม้เรียว อุปกรณ์ลงโทษตั้งแต่สมัยอยุธยา

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม จ.สระบุรี

ไทยเรามีสำนวนว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’

หมายถึง ทำถูกวิธีย่อมได้ผลดี รักวัวต้องผูกล่ามไว้ ไม่เช่นนั้นวัวจะเดินเที่ยวเล่นตามใจก่อความเสียหาย หรืออาจถูกขโมยไปได้

เช่นเดียวกับรักลูกต้องรู้จักอบรมสั่งสอนเฆี่ยนตี ถ้าตามใจลูก ไม่เฆี่ยนตีสั่งสอนให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรไม่ควรทำอะไรควรทำ ลูกก็จะไม่เชื่อฟัง ต่อไปจะเสียคนในที่สุด

สิ่งที่ใช้ตีคือ ‘ไม้เรียว’ เป็นอุปกรณ์ลงโทษที่มีมานานเกินร้อยปี

สมัยอยุธยาก็มี ดังที่ “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล) เล่าถึงการลงโทษเด็กว่า

“เด็กๆ นั้นไม่นุ่งผ้าจนกว่าจะมีอายุได้ 4 หรือ 5 ขวบ และเมื่อเด็กนุ่งผ้าแล้ว (ถึงจะทำความผิด) ผู้ใหญ่ก็จะไม่เลิกผ้าขึ้นเพื่อ (ตี) ลงโทษเลย และคนในภาคบูรพทิศนั้นถือกันว่าเป็นการน่าบัดสีอย่างยิ่ง ถ้าใครถูกโบยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอันเปลือยเปล่า ซึ่งตามธรรมดาแล้ว (ร่างกายส่วนนั้นๆ) จะต้องได้รับการปกปิดไว้

ลางทีจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง จึงได้เกิดธรรมเนียมใช้ไม้เรียวตีลงโทษ เพราะเหตุว่าแส้หรือกิ่งไม้นั้นไม่ทำให้รู้สึก (เจ็บ) พอเพียงที่จะแทรกเนื้อผ้าเข้าไปได้”

 

สิ่งที่มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ บันทึกนั้นสอดคล้องกับรายละเอียดที่ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ให้ไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2530)

“เด็กๆ ไม่นุ่งผ้าเลยจนถึงอายุห้าขวบ พออายุได้ห้าขวบพ่อแม่ก็ให้ลูกนุ่งผ้าผืนหนึ่ง ซึ่งจะถอดออกไม่ได้ แม้เวลาจะเฆี่ยนก็ไม่ไห้เปลื้องออก ชนชาติต่างๆ ในภาคตะวันออกถือเป็นเรื่องอัปยศที่จะเฆี่ยนใครคนหนึ่งบนส่วนของร่างกายที่ไม่มีผ้าปิด ประเพณีของชนชาติเหล่านั้นห้ามการลงโทษด้วยแส้และหวาย ซึ่งใช้อยู่ในชาติที่เจริญแล้ว เพราะชนชาติดังกล่าวไม่กลัวจะหยามความรู้สึกของเด็ก เมื่อให้เขารับโทษอย่างเดียวกับที่กฎหมายกำหนดให้คนผิดได้รับ”

คนที่รู้ซึ้งรสชาติไม้เรียวชนิดลืมไม่ลงคือ ‘สุนทรภู่’ ที่เตือนนักเรียนด้วยความหวังดีไว้ในแบบสอนอ่านเรื่อง “กาพย์พระไชยสุริยา” ว่า

“ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย ไม้เรียวเจียวเหวย

กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว

หันหวดปวดแสบแปลบเสียว หยิกซ้ำช้ำเขียว

อย่าเที่ยวเล่นจงจำ”

ตัวละครในวรรณคดีก็หนีไม่พ้นรสชาติข้างต้น หลังจากพระเวสสันดรประทานโอรสธิดาให้ชูชกพราหมณ์ ความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเกิดแก่สองพี่น้องเป็นระยะๆ ดังที่ “มหาเวสสันดรชาดก” บรรยายว่า

“เมื่อชูชกพฤฒาจารย์พาสองกุมารไปวันนั้น เฒ่าอาธรรม์ล้มแล้วลุกขึ้นได้ ฉวยได้เรียวไม้ไล่ตีต้อนสองบังอรมาต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระบิดาไม่ช้าที”

อีกครั้งที่ชูชกก้าวพลาดถลาล้ม เถาวัลย์ที่มัดสองกุมารก็หลุดออก ทั้งคู่รีบวิ่งกลับไปหาพระบิดา

“เฒ่าชราฉวยได้เรียวไม้ไล่ขบฟัน ฉุดลากกระชากรันด้วยโทโส…ตะแกก็เหลียวมาตีพระชาลีเข้าต้ำผาง แล้วก็เลี้ยวมาตีนางกัณหาให้ร้องอยู่กรี๊ดกรี๊ดหวีดหวาดเวทนา”

ผลจาก ‘ไม้เรียว’ หรือ ‘เรียวไม้’ ทำให้ “พระสรีรกายนี้เป็นริ้วรอยน้อยใหญ่ไม่มีดี”

 

ไม้เรียวในวรรณคดีกับชีวิตจริงไม่ต่างกัน ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าถึงประสบการณ์วัยเยาว์ไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 2 ว่า

“การลงโทษเด็กในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กนั้นเห็นนิยมทำกันอยู่สามอย่าง คือ เฆี่ยน มัดมือโยง และหักนิ้วมือให้งอไปทางหลังมากๆ

การเฆี่ยนใช้ไม้เรียวหรือไม้อะไรก็ได้เล็กๆ เรียวๆ ตีหรือหวดลงไปแรงๆ มักให้ถูกแถวก้นหรือขา และไม่ใช้หวายเลย (ดูจะถือกันว่าถ้าให้นอนคว่ำลงเฆี่ยนด้วยหวายหรือเฆี่ยนให้ถูกหลัง มันเป็นการโบยผู้ใหญ่ที่ทำผิด ไม่เหมาะและไม่ควรทำแก่เด็ก) เด็กชายที่เล่นน้ำนานไม่ขึ้น อย่างที่พูดกันว่า ‘เล่นเจ็ดหัวเจ็ดหาง’ หรือเล่นจนตะไคร่น้ำจับลูกคางเขียว มักถูกเฆี่ยน”

นอกจากถูกเฆี่ยน ยังมีถูกมัดมือโยงด้วยเชือกโดยมัดสองมือผูกติดไว้กับต้นไม้ เสา หรืออะไรที่สูงๆ หน่อย ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” ตอนที่พระสังข์ศิลป์ชัยทูลท้าวเสนากุฏพระบิดาว่าเป็นต้นเหตุให้ตนถูกพระมารดาลงโทษ

“เมื่อนั้น พระสังข์ทูลแจ้งแถลงไข

เมื่อลูกบอกออกนามภูวไนย แม่โกรธนี่กระไรหาไม้เรียว

ห้ามมิให้ว่าข้าขืนว่า ท่านหวดซ้ายป่ายขวาจนขาเขียว

แล้วจับลูกผูกมือด้วยเชือกเกลียว ข้ากัดฟันเกรี้ยวเกรี้ยวไม่เกรงกลัว”

 

การมัดมือโยงแล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียว ใช่ว่าแม่จะทำเฉพาะลูกยังเล็กเท่านั้น ทำกับลูกโตแล้วก็มี ดังกรณีนางวันทองไม่ยอมเข้าหอกับขุนช้าง ถูกแม่ศรีประจันจัดหนักจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยง เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

“แกฉวยเชือกกระชากมาจากฝา

มัดมือยื้อโยงขึ้นหลังคา เอาไม้มาตีกลมระดมไป

จะเข้าหอฤๅไม่ให้เร่งว่า มิบอกมาแล้วแม่หาแก้ไม่

นางวันทองร้องดิ้นจะสิ้นใจ พี่สายทองไปไหนไม่เข้ามา”

รอยแผลจากไม้เรียวรักษาได้ด้วย ‘ไพล’ สมุนไพรประจำบ้าน นางสายทองและท้าวเสนากุฏทำแผลให้นางวันทองและพระสังข์ศิลป์ชัย ดังนี้

“สายทองรีบล้นไปฝนไพล ทาหลังไหล่ลูบที่แนวตี”

และ

“แล้วหยิบพานหมากมาค้นหาไพล ฝนทารอยไม้ให้ลูกแก้ว”

การมัดมือโยงแล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียวน่าจะเป็นการลงโทษที่ใช้กันมาแต่โบราณ แม่ใช้กับลูก รวมไปถึงเมียที่ไม่ให้เกียรติผัวก็ใช้กับผัวของตัวเอง ดังที่ “สุภาษิตสอนหญิง” มีข้อความว่า เมียสำแดงเดชโดยการ

“ขู่คำรนบ่นว่าด่าประชด ให้สามีอัปยศลงหดหัว

ลุอำนาจไม่อาจขยาดตัว มัดมือผัวแขวนแค่นเฆี่ยนตี”

เจออย่างนี้ ผัวว่าไง? •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร