เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ตัวจริงที่ไม่เจอ

นิทานเซนเรื่องหนึ่งมีว่า

“อาจารย์ ช่วยทำจิตผมให้สงบได้ไหม”
“ไหน เอาจิตออกมาดูซิ”
ศิษย์นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วบอกอาจารย์ว่า
“ผมหาจิตไม่พบครับ”

อาจารย์จึงว่า

“ข้าทำจิตเจ้าให้สงบแล้ว”

นิทานเซนมักจบห้วนๆ เท่านี้ คือจบแบบให้คนไปคิดต่อเอาเอง

นี่คือศิลปะของการรู้ด้วยตัวเอง และมีแต่การรู้ด้วยตัวเองนี่เท่านั้น ที่จะนำไปสู่การรู้จริงและรู้แจ้ง

ความรู้นั้นมีสามลำดับคือ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง ถ้าอาจารย์ตอบคำถามศิษย์ดังนิทานข้างต้นด้วยการบรรยายยืดยาวเรื่องจิต เริ่มแต่เรื่องขันธ์ห้า ถึงปฏิจจสมุปบาท ศิษย์ตั้งใจฟังก็จะได้เพียง “รู้จัก” คือ รู้สักว่ารู้

คำถามกลับของอาจารย์นี่แหละ ก่อให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การ “รู้จริง”

คือ รู้ด้วยตัวเอง

จากการนิ่งเพื่อมุ่งคิดค้นหา “จิต” ซึ่งที่สุดก็ “ไม่พบ” ด้วยจิตมัน “ไม่มี” นี่แหละ “รู้จริง” ด้วยตัวเอง ครั้นอาจารย์สรุปสุดท้ายว่า “ข้าทำจิตเจ้าให้สงบแล้ว”

นี่แหละ “รู้แจ้ง” ละ

ถ้าศิษย์ฉลาดรู้ก็จะเข้าใจทุกระดับของความรู้ได้ทันทีว่าอะไรคือรู้จัก อะไรคือรู้จริง และอะไรคือรู้แจ้ง

เรื่อง “ตัวตน” ที่ว่ามีอยู่สามตัวคือ
ตัวที่หนึ่ง ตัวที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น
ตัวที่สอง ตัวที่เราคิดว่าเราเป็น
ตัวที่สาม คือตัวจริงๆ ที่เราเป็น

ตัวที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น ซึ่งเป็นตัวที่หนึ่งนี่แหละ คือ ตัวที่เรา “รู้จัก” ซึ่งกำหนดจากผู้อื่นจากภายนอกทำให้เราตกเป็นเหยื่อมันตลอดเวลา ตลอดชีวิตก็ว่าได้ ซึ่งที่แท้ เรา “รู้จักสักว่ารู้” เท่านั้น

ตัวที่เราคิดว่าเราเป็นนี่ก็เช่นกัน อาจเป็นได้แค่ตัวที่เราคิดว่า “รู้จริง” เพราะเราอยู่กับมัน หมกมุ่นอยู่กับมันมาตลอด จนเหมือนว่า ใครมันจะมารู้จักตัวเราดีเท่ากับที่เรารู้จักตัวเราเอง นั่นเทียว

ตัวสำคัญสุดนี่ต่างหากที่เป็นตัวจริงๆ ของเรา นั่นคือตัวที่สาม

ตัวจริงที่เรามักไม่เจอจริงๆ

เราอยู่กับมันตลอดเวลา ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก แต่น่าแปลกที่เราไม่รู้จักมันเลย ส่องกระจกก็ไม่เคยเห็นมัน ทั้งที่มันก็ปรากฏทนโท่อยู่ต่อหน้าต่อตาตรงนั้น

ส่องกระจกทีไรก็ได้เห็นแต่ตัวที่หนึ่ง ตัวที่สองอยู่นั่น

“นี่ไงเว้ยท่าน…นี่ไงวะข้าผู้ยิ่งใหญ่…นี่ไงโว้ยคือผู้ที่ใครๆ ก็รู้จัก… ฯลฯ

แต่ไอ้หน้าแก่ๆ ผมหงอกขาวนี่มาจากไหนไม่รู้จัก ไม่อยากเห็นด้วยซ้ำ เป็นใครวะ ไม่ใช่กูแน่

นี่คือตัวที่สามที่เราไม่เคยเจอ ไม่อยากเจอ บางคนที่ยอมรับไอ้ตัวนี้ไม่ได้ก็ถึงกับไปดัดแปลงแต่งโฉมใหม่ให้มันย้อมผมดึงหน้าผ่าตัด เสริมโน่นนี่จนวิปริตผิดรูปผิดร่าง กลายเป็นน่ากลัวน่าตกใจ…เหวอเว่อร์ไปเลยนั่น

ที่แท้แล้ว เจ้าตัวที่สามนี่แหละสำคัญสุด หากจัดลำดับกันแล้ว ตัวที่สามคือตัวจริงนี่ต้องสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ตัวที่ดีเราคิดว่าเราเป็นนี่เป็นอันดับสอง ส่วนตัวที่คนอื่นคิดว่าเป็นต้องเป็นอันดับท้ายสุด ไม่ใช่จัดอันดับกลับกัน ดังมักเป็นกันอยู่

เราต้องไม่ปฏิเสธความมีอยู่แห่ง “ตัวตน” ทั้งสามตัวของเรานี้ด้วย ต้องยอมรับรู้ถึงสถานะความมีอยู่ เป็นอยู่ของมัน พร้อมทั้งรู้ทันรู้เท่า และรู้จัดการกับเจ้าตัวคนทั้งสามให้เหมาะสมตามสภาพ ตามสมควร

โดยต้องไม่ตกเป็นเหยื่อทั้งสามตัวนี้ด้วย

ตัวจริงที่เรามักไม่เจอทั้งที่อยู่กับมันตั้งแต่เกิดจนตายนี้ก็เหมือนนิทานเซนข้างต้น จะรู้จักและพบมันได้ต้องผ่านกระบวนการ “รู้แจ้ง” เท่านั้น เหมือนศิษย์เริ่มหยุดคิดและหาจิตไม่เจอนั้น

ตัวตนทั้งตัวที่หนึ่ง ตัวที่สอง แม้ตัวที่สามนี้ก็เถิด ล้วนเป็น “วาทกรรม” คือคำที่สมมติขึ้นตามกระบวนการปรุงแต่งทางจิตทั้งสิ้น

ภาษาพระเรียกว่า อัตวาทุปาทาน (อัตตะ+วาทะ+อุปาทาน) แปลว่า ความยึดมั่นในคำว่าตัวว่าตน

เหมือนเราชื่อนี้ ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะตั้งแต่เดิมหรือชื่อใหม่ เปลี่ยนใหม่ด้วยเหตุใดก็ตามที มันล้วนสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น ถ้ายกเลิกเพิกถอนชื่อเรียกออกไป ก็ไม่รู้จะเรียกอะไร ที่สุดก็ได้แต่ระบุว่าเป็น “คน” เท่านั้น คำว่า “คน” ก็สมุมติอีก ยิ่งพูดยิ่งผิดนั่นเอง ด้วยตัวแท้ๆ นั้นมันอยู่ตรงหมดสมมุตินี่เอง

มันอยู่ตรงนั้น มันเป็นเช่นนั้น

ตรงนี้ภาษาพระเรียก “ตถตา” คือ ความเป็นเช่นนั้น ภาษาอังกฤษเรียก SUCHNESS มันเป็นเช่นนั้น เป็นอย่างนั้น

วาทะ คือถ้อยคำที่สมมุติขึ้นเรียกขานเพื่อการกำหนดรู้ จำแนกให้เห็นความต่าง เพื่อประโยชน์แก่การเกี่ยวข้อง จนพานให้เราเข้าไปติดข้องอยู่กับความหมายของสมมุติที่ซ้อนสมมุติอยู่ตรงนั้น

ดังเช่น ยศศักดิ์อัครฐาน บรรดามี ทั้งของตัวที่หนึ่งและที่สอง เหล่านี้เหล่านั้น

กำแพงแห่งอัตตานี้มีอยู่สามชั้น ดังคำอธิบายของท่านอาจารย์พุทธทาสในหนังสือ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” โดยสรุปคือ

กำแพงแห่งสมมุติตามคติทวินิยม สองขั้ว คือ ดำขาว ดีชั่ว บาปบุญ

กำแพงแห่งความยึดถือตามศรัทธาความเชื่อของตน

สุดท้ายคือกำแพงแห่งความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตน เช่น ตามลักษณะสามตนนั้น

ผ่านสามกำแพงนี้ได้ก็จะประจักษ์ในสัจธรรม

มาช่วยกันรื้อกำแพง ร่วมกันสร้างสะพานข้ามสู่ความเข้าใจต่อกันและกัน ก่อนโลกาจะวินาศ

เถิดท่านทั้งหลาย

กำแพง-สะพาน

๏ ปกป้องผองภยันตรายรอบ
เราจึงสร้างกรงกรอบกำแพงกั้น
ต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน
ต่างไม่เชื่อมั่นความเป็นมนุษย์

๏ ความกลัวกับความกล้ามหาศาล
ก่อปราการสูงสุดและยาวสุด
เอาความกลัวความกล้าเป็นอาวุธ
โลกถึงจุดอ้างว้างอนันตกาล

๏ รื้ออิฐทุกก้อนแห่งกำแพง
รื้อความหวาดระแวงอันแกร่งกร้าน
ความไม่ไว้ใจกันจงอันตรธาน
ร่วมกันสร้างสะพานข้ามกำแพง

๏ ร่วมกันข้ามความกลัวในตัวตน
เชื่อมั่นในความเป็นคนทุกหนแห่ง
เชื่อมั่นในความรักจักสำแดง
เอาชนะฤทธิ์แรงความชั่วร้าย

๏ จงสูงสุดศรัทธาอย่าเสื่อมทราม
จงความงามความดีมีความหมาย
กำแพงแห่งความหลงจงพังทลาย
สะพานสายความรักจงเป็นจริง!