ทำไม “ร่างกาย” คนจึงสำคัญ? จาก “คดีอาชญากรรม” พาดหัว ถึงมุมมองทาง “ศาสนา” และประสบการณ์ตรง “หน่วยกู้ภัย”

ที่ผ่านมา มีหลายคดีความซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม ที่ครอบครัวผู้สูญเสียอยากได้ร่างของคนที่พวกเขารักกลับคืนมา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด

กรณีที่สังคมเพิ่งให้ความสนใจ คือกรณี 2 นักศึกษาไทยประสบอุบัติเหตุรถตกเหวที่สหรัฐ ซึ่งใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะเริ่มต้นภารกิจค้นหาร่าง (ซึ่งมีความเสี่ยง) ท่ามกลางการวิจารณ์ความล่าช้าของทางการสหรัฐ และการอธิบายสาเหตุของความล่าช้าดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการตามหาร่าง “ผอ.อ้อย” ที่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความต้องการจะได้ร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของครอบครัว แม้จะต้องลงแรงและลงทุนมหาศาลก็ตาม

รายการ “เป็นเรื่อง!” ออกอากาศทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจข่าวสดออนไลน์ ลองเขยิบห่างออกมาจากประเด็นอาชญากรรมและดราม่าออนไลน์ ทว่า ชวนผู้ชมไปทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ผ่านมุมมองทางวิชาการด้านศาสนา ว่าทำไม “ร่างกาย” ถึงมีความสำคัญอย่างมาก

https://youtu.be/brrO4qnnqe0

รวมทั้งไปพูดคุยถึงประสบการณ์ตรงของเจ้าหน้าที่กู้ภัย กับ “เรื่องจริง” ที่เคยเกิดขึ้น!

“ดร.พุฒวิทย์ บุนนาค” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า 30,000-40,000 ปีที่แล้ว มีชนเผ่าหนึ่งที่ขุดหลุมฝังศพและนำร่างผู้เสียชีวิตทำเป็นท่าคู้ (เหมือนทารกในครรภ์มารดา) พร้อมนำของใช้ใส่ลงไปในหลุม

แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่อดีต เขาไม่ได้มองว่าความตายเป็นเรื่องที่จะต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการอย่างมีแบบแผน ไม่ใช่จะทำอย่างไรก็ได้ ซึ่งการทำท่าให้เหมือนกับทารกในครรภ์มารดา หมายถึงความตายไม่ได้จบลงแค่หมดลมหายใจในโลกนี้

แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่สู่โลกหน้า “โลกหลังความตาย”

เกือบทุกศาสนาในโลกให้ความสำคัญกับการตายมากกว่าการเกิด พิธีกรรมที่มีสำหรับคนตายยืดยาว ใหญ่โต ทุกศาสนาจะให้ความสำคัญ มีการจัดการที่มีธรรมเนียมแบบแผนแน่นอน

สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันว่าความตายไม่ใช่แค่เรื่องของคนหมดลมหายใจ ความตายไม่ใช่เรื่องของผู้ตาย

ความตายเป็นเรื่องของครอบครัว ความผูกพัน หรือเป็นเรื่องทางสังคมของประชาชาติผู้ตายด้วย (กรณีรถตกเหว)

นี่คือประจักษ์พยานทั่วๆ ไป ที่บอกได้ว่าทำไมเรื่องการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาทำพิธีกรรมถึง “สำคัญ”

ส่วนแนวคิดเรื่องจิตสำคัญกว่ากายนั้นเป็นแนวคิดสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก งานของนักปรัชญา “เรอเน เดการ์ต” ที่แยกจิตกับกาย แล้วบอกว่าธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้จริงแล้วคือจิต ร่างกายเป็นเพียงเครื่องเหนี่ยวรั้ง ไม่ได้มีความสำคัญอะไร

เพราะหากเราย้อนกลับไปดูอดีต มนุษย์ล้วนจัดการกับร่างกายมาตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน แทบทุกอย่างเป็นเรื่องของร่างกายทั้งนั้น พิธีกรรมหลายอย่าง เช่น พิธีเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะผู้ใหญ่ก็ทำกับร่างกาย รวมถึงพิธีของไทยสมัยโบราณ อาทิ โกนจุก หรือธรรมเนียมของศาสนาอิสลามทำสุหนัด เป็นต้น

นี่คือการยืนยันว่าคุณจะเป็นมนุษย์ได้ ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการทำอะไรบางอย่างกับร่างกาย จะเป็นแค่จิตไม่ได้

ดร.พุฒวิทย์ชี้ว่า การมองมนุษย์ในสภาวะปัจจุบันผ่านแนวคิดเรื่องจิต, สิทธิ หรืออยู่แค่อะไรที่เป็นนามธรรม อยู่แค่ความเป็นบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับร่างกายเลย นั้นเป็นแนวคิดสมัยใหม่ ทั้งที่จะเห็นว่ามนุษย์ทำพิธีกรรมกับร่างกาย เพื่อยืนยันสภาวะแห่งความเป็นตัวตนมาตลอด 2-3 พันปี

เช่นกันกับการมองพุทธศาสนาว่าสอนให้เราเน้นแต่จิต ก็เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัยใหม่ เพราะเวลาบวชพระ เขาก็บวชกาย ต้องแต่งกายแบบหนึ่ง ต้องโกนหัว ต้องทำอากัปกิริยาแบบหนึ่ง เวลาจะนั่งสมาธิ เวลาจะฝึกวิปัสสนา ก็ต้องทำร่างกายให้เหมาะสม

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า “กาย” กับ “จิต” แยกจากกัน แล้ว “จิต” เป็นใหญ่ จึงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสมัยใหม่ที่ไปกล่อมเกลาแนวคิดทางศาสนา เพราะถ้าเราพิจารณาพัฒนาการทางศาสนาหลายพันปี หลายหมื่นปีที่ผ่านมา พิธีกรรมต่างๆ ก็เน้นไปยังร่างกายทั้งสิ้น

กลับมาสู่ประเด็นที่ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการนำเอาศพกลับมาทำพิธี นักวิชาการผู้นี้อธิบายว่าเพราะทุกอย่างมีธรรมเนียมกำกับอยู่ ถ้าเราไม่ทำตามธรรมเนียม ก็จะเกิดความไม่สบายใจในหมู่ญาติมิตร และกรณีที่ผู้ตายเป็นคนของประชาชาติ ยิ่งจะต้องทำอะไรให้เป็นการเป็นงานมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ศพของวีรชนจะต้องถูกจัดการ ไม่เหมือนกับศพของคนธรรมดา ต้องมีธงชาติคลุมอยู่ ต้องให้เกียรติที่สูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำอย่างไรก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องการนำเอาศพผู้เสียชีวิตกลับบ้านมาทำพิธีกรรมให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อคนที่ยังอยู่ ซึ่งคนโบราณมีความเชื่อว่าถ้าทำพิธีศพให้ผู้เสียชีวิตไม่ดี จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของญาติมิตร จะไม่ดี ไม่รุ่งเรือง เป็นต้น

จะว่าไปแล้ว การให้ความสำคัญกับร่างกายก็ไม่ได้จบลงแค่พิธีศพเพียงเท่านั้น แต่ในทางสังคมและวัฒนธรรม ยังมีการจัดการกับร่างกายในรูปแบบพิธีกรรมหลังความตายด้วย เช่น ทำบุญบังสุกุลครบรอบวันเสียชีวิต การเก็บอัฐิไว้ที่วัด และทำบุญให้คนเสียชีวิตทุกปี

เรื่องเหล่านี้จึงซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ มากมาย อาทิ การจัดการทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อยืนยันสถานภาพของผู้ยังมีชีวิตอยู่ ที่จะต้องถูกยืนยันด้วยการจัดพิธีกรรมให้สมสถานะ นี่คือปัจจัยทางด้านสังคมวิทยา ไม่ใช่แค่เรื่องจิตวิทยาเท่านั้น

ขณะเดียวกัน จากประสบการณ์ของ “กิจติศักดิ์ สุวรรณบูรณ์” หรือ กู้ภัย 440 ซึ่งทำหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มาเกือบ 18 ปี เก็บศพมาหลายพันกรณี

เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ญาติผู้ตายเข้ามาร้องขอให้ช่วยค้นหาร่างของผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ซึ่งกรณีที่กู้ภัยไม่ได้ร่างที่เป็นตัวบุคคลครบ หรืออวัยวะต่างๆ ไม่ครบ ญาติผู้ตายจะมากดดัน หรือร้องขอเจ้าหน้าที่ให้ไปทุกที่ทุกจุด

กรณีจำพวกนี้ส่วนมากจะเป็นอุบัติเหตุ หรือการฆาตกรรมแยกชิ้นส่วนเพื่ออำพรางคดีซ่อนศพ โดยทางกู้ภัยต้องอธิบายกระบวนการทำงานให้ญาติเข้าใจ รวมถึงเรื่องการรอเวลา เช่น กรณีศพถูกนำไปทิ้งน้ำ บางทีชิ้นส่วนอวัยวะอาจจะลอยขึ้นมาในเวลาต่างกัน แต่ทั้งนี้ เราต้องให้กำลังใจญาติๆ ด้วย

ในบางกรณี ทีมงานของกิจติศักดิ์ต้องลำเลียงศพด้วยความยากลำบาก เช่น แบกศพข้ามเขา 2-3 ลูก จึงต้องมีการเซฟเจ้าหน้าที่ให้ปลอดภัยที่สุด ภายใต้กรอบเวลาที่ต้องนำร่างมาให้ญาติเร็วที่สุดเช่นกัน ทั้งยังต้องคงความเป็นรูปเดิมและเสื้อผ้าชิ้นเดิมให้ได้มากที่สุด

หลายกรณี ความต้องการที่สูงมากของญาติๆ ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากของเจ้าหน้าที่ ญาติบางรายถึงกับนำเงินมาว่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม แต่ทางกู้ภัยก็ต้องอธิบายเหตุผลข้อติดขัดกลับไป

เช่น กรณีท้องฟ้าปิด ต้องรอให้ถึงเวลาเช้าก่อน หรือต้องรอให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยหายเหนื่อยแล้วค่อยเริ่มค้นหากันใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ ญาติผู้เสียชีวิตก็จะเข้าใจในท้ายที่สุด

“เราก็เข้าใจความรู้สึกของเขาที่อยากจะให้ครบตามประเพณี เราก็พยายามทำและจะหาให้ครบที่สุด บางทีญาติเขาก็จะเศร้า เห็นสภาพศพเป็นชิ้น เราก็มีหน้าที่ก็คือบรรเทาความเศร้าโศกของเขา ให้กำลังใจเขาให้ได้มากที่สุด

“แม้บางครั้งต้องเสี่ยงดำน้ำลงไป เจ้าหน้าที่มีอัตราความเสี่ยงสูง เพราะว่าหลักการของกู้ภัย คนที่ลงไปช่วยเหลือต้องปลอดภัยก่อน แต่เราก็เห็นแก่ความสบายใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต”

กิจติศักดิ์เล่าต่อถึงบางกรณีที่ครอบครัวตามหาร่างผู้เสียชีวิตด้วยความยากลำบากหรือตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ บางครอบครัวมีความเชื่อเรื่องวิญญาณมาบอกจุดที่เสียชีวิต หรือมีร่างทรงมาบอก

มีเคสหนึ่งประมาณ 7-8 ปีแล้ว ที่ครอบครัวพากันออกตามหาหลังผู้เป็นสามีหายตัวไปสองวัน เพราะปกติผู้ตายจะเป็นคนกลับบ้านตรงเวลา เป็นคนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ญาติจึงไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนไว้ จนเวลาผ่านไปสองวันก็ไม่มีความคืบหน้า ญาติทนไม่ไหวจึงว่าจ้างร่างทรงมาช่วยเหลือ

“ร่างทรงก็ไปอยู่ที่สะพานแห่งหนึ่งที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพวกผมได้ประจำจุดอยู่แถวนั้นพอดี ญาติเขาขอร้องให้ช่วยดำน้ำค้นหาให้หน่อย ผมก็ถามว่ารู้จุดจมไหม เขาบอกไม่รู้ ผมก็บอกว่ามีความเสี่ยงนะ ในการดำน้ำที่ไม่รู้จุด เปรียบเสมือนการงมเข็มในมหาสมุทร แต่เพื่อความสบายใจก็ลองดู

“พอดำๆ ลงไปสักพักหนึ่งก็ยังไม่เจอ เลยแนะนำให้เขาจุดธูปบอก (เพื่อความสบายใจ) จากนั้นหลังจุดธูปไปพักหนึ่ง ลงไปดำน้ำใหม่ ไปเจอ เจอรองเท้าที่ติดอยู่กับศพ แล้วก็นำขึ้นมาได้

“โดยเคสนี้เจ้าหน้าที่ก็อาจจะงงๆ หน่อยๆ แต่ญาติเขาดีใจ ดีใจตรงที่เราเจอร่าง ได้ช่วยบรรเทาความเศร้าโศกลงไปได้ เราเจอมาหลายเคส บางคนน้ำตาไหลมากอดเข่าหลังทำภารกิจเสร็จแล้วก็มี นี่คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ผมเจอมา”