E-DUANG : ภาพสะท้อน จากเหล่า BLINKs การหลอมรวม ทาง “วัฒนธรรม”

ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ Paper Planes ไม้ว่าการปรากฏขึ้นของ Black Pink เมื่อกลายเป็น “ปรากฏการณ์”ย่อมนำไปสู่ภาพแห่งการช็อคในทางวัฒนธรรม

เมื่อมองจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมองจากกระทรวงวัฒนธรรม

โดยรากฐานในการดำรงอยู่ Black Pink อาจสะท้อนรากฐานของวัฒนธรรมเกาหลี เพราะนี่คือผลผลิตของสังคมเกาหลี เพียงแต่มีคนไทยเป็นส่วนหนึ่ง

ขณะที่กล่าวสำหรับ Paper Planes เกิดขึ้นจากเนื้อดินแห่งสังคมไทยอย่างเด่นชัด เพียงแต่รับผลสะเทือนจากวัฒนธรรม ร็อคอันมาจากตะวันตก

กระนั้น เป้าหมายไม่ว่าจะมาจากเกาหลี ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในสังคมไทย บรรดาแฟนคลับหรือ FC อย่างที่เห็นผ่านโซเชียลและที่ปรากฏเป็นข่าวก็ล้วนเป็นคนไทย

ทั้งยังเป็นคนไทยซึ่งมีตั้งแต่เด็กกระทั่งเยาวรุ่น ที่แสดงออก

ด้วยความกล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง ด้วยความเต็มใจและด้วยความสมัครใจ

ไม่ว่าโดยการร้องเพลงฮิตติดอันดับ ไม่ว่าโดยคอนเสิร์ต

ภาพของเยาวรุ่นที่เรียกว่า Blinks ณ บริเวณหน้าและในสนามศุภชลาลัยเมื่อวันที่ 8 มกราคม ภาพของเยาวรุ่นที่นำเสนอตัวตนผ่านทรงอย่างแบด ในช่องทางติ๊กต๊อก

หากมองจากสายตาของ”คุณลุง”และ”คุณป้า”แห่งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ย่อมตื่นตลึง

เป็นความตื่นตลึงที่พวกเขาถอยห่างออกจากวัฒนธรรมของดนตรีไทยอย่างสิ้นเชิง อย่าว่าแต่สตริงในแบบของสุนทราภรณ์ หรือสุเทพ วงศ์กำแหงเลย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเขามารวมกันอยู่เป็นกลุ่ม พลันที่เสียงเพลงของ Black Pink ดังขึ้น พวกเขานับร้อยก็จัดแถวและเต้นไปกับเสียงเพลงอย่างพร้อมเพรียงกัน

เป็นภาพแห่งการแสดงออกซึ่งการเก็บรับเอาวัฒนธรรมจากเทศะอื่นเข้ามาอย่างชนิดหมดหัวใจ

มองอย่างเข้าใจ มองอย่างรู้เท่าทัน นี่คือการผลมกลมกลืนในทางวัฒนธรรมที่นับวันแต่จะไร้พรมแดน ไม่ว่าจะมาจากตะวันตก ไม่ว่าจะมาจากคาบสมุทรเกาหลี

เพียงแต่เป็นเกาหลี”ใต้” มิได้เป็นเกาหลี”เหนือ”

ความน่าสนใจอยู่ที่บรรดาผู้ใหญ่รุ่นลุงรุ่นป้าในกระทรวงศึกษาธิการ ในกระทรวงวัฒนธรรมคิดนึกตรึกตรองต่อสภาพความเป็นจริงในทางวัฒนธรรมนี้อย่างไร

ในเมื่อเยาวรุ่นรุ่นใหม่ได้ถอยห่างออกจากวัฒนธรรมดั้งเดิมไกลเป็นอย่างยิ่ง