สูงไปต่ำ | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ขณะที่สังคม วิพากษ์วิจารณ์ “นักการเมือง-พรรคการเมือง”อย่างหนักหน่วง

ทั้งประเด็น แจกกล้วย ซื้อตัว พลังดูด ธนาธิปไตย ฯลฯ

จน”นักเลือกตั้ง” มีสีเทาออกดำ ไม่แพ้มาเฟียจีน

ซึ่งแน่นอนเราปฏิเสธไม่ได้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ดังกล่าว มีมูลฐานแห่งความจริง อยู่ไม่น้อย

และสมควรที่จะต้องชำแหละกันหนักๆ

แต่กระนั้น เราก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับนักการเมือง และพรรคการเมือง ด้วยเช่นกัน

กล่าวคือถึงที่สุด คนและพรรค เหล่านั้น ต้องไปผ่าน สนามเลือกตั้ง ให้ชาวบ้านตัดสินอีกครั้ง

ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะฝ่าด่านเข้ามาได้หรือเปล่า ต้องลุ้นกันหนัก

ภาวะเช่นนี้ แตกต่างโดยสิ้นเชิง กับ “วุฒิสมาชิก” ที่มาจากการ”ลากตั้ง” ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนส่วนใหญ่

หากแต่ยึดโยงกับ ฝ่ายที่แต่งตั้ง มาเสียมากกว่า

เมื่อไม่ได้ ยึดโยงกับชาวบ้าน ทำให้ บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของวุฒิสภา ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นมา”เพื่อพวกเรา” คือการ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เห็นหัวของชาวบ้านสักเท่าไหร่

ทั้งที่หลักการสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะคำนึงถึง

นั่นคือวุฒิสมาชิกควรจะเป็น”หลัก”อิงให้กับเจตนารมณ์ของชาวบ้าน ที่แสดงผ่านการเลือกตั้ง โดยพร้อมที่จะสนับสนุน นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ชาวบ้านเสียงส่วนใหญ่มอบความไว้วางใจให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อบริหารประเทศ

แต่หลักการสำคัญนี้ ดูเหมือนสมาชิกวุฒิสภา จะไม่ให้ความสำคัญนัก หรือไม่ให้ความสำคัญเลย

ยังคงไปยึดโยง กับ ฝ่ายที่ “แต่งตั้ง” พวกตนเข้ามาเสียมากกว่า ว่าจะสนับสนุนใคร

ซึ่งอาจจะยุ่งยากสักหน่อย เพราะบังเอิญ ที่ฝ่ายแต่งตั้ง เกิดแตกคอกัน หันไปสร้าง ดาวคนละดวง

ทำให้ วุฒิสมาชิก ต้องเลือก ว่าจะสนับสนุน ใครระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จึง มีการคาดหมาย ว่าจะมีการล้อบบี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนกันหนักหน่วง เพื่อแย่งชิง 250 เสียงไปอยู่ฝ่ายข้างตนให้มากที่สุด

และ วุฒิสมาชิก ก็ดูเหมือนจะขับเคลื่อนไปตามเกมนี้ เกือบทั้งหมด

น้อยอย่างยิ่งที่จะเห็น วุฒิสมาชิก ออกมาประกาศจุดยืนจะเคียงข้างไปกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงผ่านเลือกตั้ง

เราจึงไม่อาจคาดหวัง ว่า “สภาสูง” จะทำให้ การเป็นประชาธิปไตยของประเทศ “สูง” ขึ้นไปด้วย

ตรงกันข้าม มติ ของวุฒิสภา อาจจะทำให้ ความเป็นประชาธิปไตยที่”ต่ำ”อยู่แล้วในตอนนี้ “ต่ำ” ลงไปอีก

หากไปมีส่วนในการโหวตสนับสนุนโหวตฝ่ายที่แต่งตั้งตนเองเข้ามา เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป โดยมิได้สนใจว่า คนๆนั้น ได้รับฉันทามติส่วนใหญ่มาจากชาวบ้านหรือไม่

และหากเป็นเช่นนั้น วุฒิสภา ก็คงไม่ต่างจากพรรคการเมือง พรรคหนึ่ง มิได้เป็น “สภาสูง” ที่มีเจตนารมณ์”สูง”ในการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวอ้าง

แถมยัง “ลอยตัว”เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ ต่างกับนักการเมือง และพรรคการเมือง ที่จมอยู่ในบ่อโคลน

ทั้งที่ บทบาท ของวุฒิสภา ถูกตั้งคำถาม ว่าไม่ได้ ผุดผ่อง อย่างที่พยายามอวดอ้าง

ตรงกันข้ามกับเป็นองค์กรที่ตอกย้ำ ถึงการเป็นฝ่ายสนับสนุนการสืบต่ออำนาจจากการรัฐประหารมาอย่างมั่นคง

ไม่เคยเปลี่ยนแปลง