จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา : ที่มา หน้าที่ และความหมาย (จบ) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา

: ที่มา หน้าที่ และความหมาย (จบ)

 

ในงานศึกษาเรื่อง “คติ สัญลักษณ์ และความหมายของ ซุ้มประตู-หน้าต่างไทย” โดย สมคิด จิระทัศนะกุล ได้อธิบายความเปลี่ยนแปลงในการออกแบบช่องเปิดหน้าต่างของพระอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลายเอาไว้ว่า มีคตินิยมแบบใหม่ที่ต้องการจะจำกัดปริมาณแสงที่เข้าสู่ภายในอาคารอย่างมีนัยยะสำคัญ

พระอุโบสถเป็นจำนวนมากที่สร้างขึ้นในยุคนี้นิยมทำช่องหน้าต่างน้อยมาก เช่น พระอุโบสถวัดมเหยงคณ์ ซึ่งมีการปฏิสังขรณ์ใหม่แทนหลังเดิม มีความยาวอาคารมากถึง 9 ห้องเสา แต่กลับเปิดช่องหน้าต่างเพียงแค่ด้านละ 3 ช่อง ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนการออกแบบช่องเปิดที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กับขนาดของตัวอาคาร

และในหลายกรณีของการบูรณะพระอุโบสถที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้พบลักษณะที่น่าสนใจคือ มีการอุดปิดช่องหน้าต่างเดิมลง เช่น พระอุโบสถวัดพระยาแมน วิหารวัดแม่นางปลื้ม วิหารวัดธรรมมิกราช

และกรณีที่สำคัญคือ พระอุโบสถวัดกุฎีดาว ซึ่งบูรณะใหญ่ในช่วงอยุธยาตอนปลายเช่นกัน ก็พบว่า มีการอุดช่องหน้าต่างของเดิม จากด้านละ 8 ช่องจนเหลือเพียงด้านละ 4 ช่องเท่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงอยุธยาตอนปลายยังมีความนิยมอีกอย่างหนึ่งในการสร้างพระอุโบสถ (หรือปฏิสังขรณ์ใหม่) ในแบบที่ไม่มีช่องหน้าต่างเลยเป็นจำนวนหลายวัด เช่น พระอุโบสถวัดเกาะ เพชรบุรี, พระอุโบสถวัดนางสาว สมุทรสาคร, พระอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี ฯลฯ

พระอุโบสถวัดกุฎีดาว อยุธยา แสดงให้เห็นการอุดช่องหน้าต่างหลายช่องโดยรอบ
ที่มาภาพ : เพจ อยุธยา-Ayutthaya Station

ความนิยมในการเปิดช่องหน้าต่างน้อยไปจนถึงไม่มีช่องหน้าต่างเลย อ.สมคิดวิเคราะห์เหตุผลเอาไว้ในงานชิ้นเดียวกันนั้นว่า สังคมอยุธยาตอนปลายต้องการเน้นบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงพิธีกรรมแบบ “ไสย-พุทธ” มากขึ้น จึงนิยมออกแบบพื้นที่ภายในพระอุโบสถหรือวิหารให้มืดกว่าในอดีตเพื่อสร้างความขลังที่เอื้อกับพิธีกรรมแบบไสยศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น

หรือถ้าอธิบายตามแบบ อ.สายชล ก็คือ ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น มีลักษณะทั่วไปทางความคิดของพุทธศาสนาแบบหนึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น คือพุทธศาสนาแบบที่เน้นบุญฤทธิ์และวิทยาคม และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวอาจมิใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดความนิยมในการสร้างช่องหน้าต่างที่น้อยลง (หรือไม่สร้างเลย) ในช่วงเวลานั้น

เหตุผลสำคัญที่แท้จริงอาจเป็นเพราะได้เกิดความนิยมใหม่ในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและวิหารขึ้นต่างหาก ซึ่งทำให้เกิดความต้องการพื้นที่ฝาผนังภายในสำหรับการเขียนภาพในปริมาณที่มากขึ้น

ด้วยคตินิยมใหม่ดังกล่าว อาจทำให้พระอุโบสถและพระวิหารที่สร้างมาก่อนแล้วในยุคก่อนหน้า เมื่อมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ในช่วงนี้หลายแห่งจึงมีการอุดช่องหน้าต่างของเดิมลง ส่วนพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่งก็เลือกที่จะไม่สร้างช่องหน้าต่างเลย (หรือหากสร้างก็มีจำนวนช่องหน้าต่างที่น้อยอย่างผิดสังเกต) เพื่อเปลี่ยนเป็นผืนผนังสำหรับการเขียนภาพจิตรกรรม

 

น่าสังเกตต่อไปด้วยว่า ด้วยการเป็นยุคแรกเริ่มของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสังคมไทย อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้โครงสร้างการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาตอนปลายเท่าที่หลงเหลืออยู่ จึงไม่ได้มี pattern ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจนนัก

แม้โดยภาพรวมเนื้อหาหลักจะเขียนเป็นภาพชาดก ภาพจักรวาล และภาพมารผจญ แต่ในแง่ของตำแหน่งภาพและรูปแบบการเขียนในแต่ละแห่ง มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมาก วิธีการเขียนเพื่อแบ่งเนื้อหาของภาพก็หลากหลาย (ประเด็นนี้ดูรายละเอียดเพิ่มในบทความของ อ.คริส และ อ.ผาสุก)

ในขณะที่โครงสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (เฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2) กลับพบ pattern ที่เป็นระบบมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า

เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีโครงสร้างหลักคือ ผนังสกัดด้านหลังพระประธานจะนิยมเขียนเป็นภาพเขาพระสุเมรุที่เน้นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ โดยมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ ด้านล่างของภาพเขียนเป็นป่าหิมพานต์ โดยผนังตอนล่างสุดเขียนเป็นภาพนรก

ผนังสกัดด้านหน้าพระประธานจะนิยมเขียนเป็นภาพมารผจญ ส่วนผนังด้านยาวทั้งสองข้างในส่วนพื้นที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างจะนิยมเขียนภาพเทพชุมนุม ส่วนผนังด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างจะนิยมเขียนเป็นภาพทศชาดกและพุทธประวัติ

พระอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี การออกแบบพระอุโบสถแบบที่ไม่มีช่องหน้าต่าง
ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/User:Archy36

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ชวนคิดต่อไปในทำนองที่ว่า เมื่อแรกเริ่มความนิยมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในช่วงปลายสมัยอยุธยา แม้ช่างไทยจะได้รับอิทธิพลการเขียนภาพและโครงสร้างของภาพมาจากสมุดภาพไตรภูมิ (ที่มีขนบมาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว)

แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่ใหญ่โตกว่ามากของฝาผนังอาคาร ทำให้ในช่วงแรกช่างไทยจึงเสมือนยังเป็นการทดลองรูปแบบและโครงสร้างการเขียนภาพ จนเป็นเหตุทำให้โครงสร้างภาพของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน

และชวนให้คิดอีกว่า การสร้างพระอุโบสถและวิหารแบบไม่มีช่องหน้าต่างในช่วงนั้น อาจเป็นเพราะช่างไทยกำลังพยายามออกแบบพื้นที่ฝาผนังอาคารให้เหมือนกับสมุดไทยที่ใช้เขียนสมุดภาพไตรภูมิมากที่สุด นั่นก็คือ เรียบเต็มไม่มีช่องว่าง หรือก็คือ ความพยายามไม่ให้มีช่องหน้าต่างมาขัดขวางความต่อเนื่องของการเขียนภาพ (แบบเดียวกับหน้ากระดาษสมุดไทย)

แต่การเลือกที่จะไม่มีช่องหน้าต่าง (ที่อาจไม่เกี่ยวข้องเลยกับความต้องการบรรยากาศขลังศักดิ์สิทธิ์แบบไสยศาสตร์) ต้องแลกมาด้วยบรรยากาศที่มืดเกินไปภายในพระอุโบสถและวิหารจนไม่เหมาะสมต่อการทำพิธีกรรมทางศาสนา

เราต้องนึกถึงสภาพภายในพระอุโบสถที่ยังไม่มีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าสมัยใหม่นะครับ ภายในสว่างได้เพียงแค่แสงที่ส่องผ่านประตู และไฟจากแสงเทียนหน้าองค์พระประธานเท่านั้น

และอาจเป็นด้วยข้อจำกัดนี้เองที่ทำให้พระอุโบสถในยุคต้นรัตนโกสินทร์จึงมิได้เลือกเดินตามรอยการออกแบบช่องหน้าต่างจำนวนน้อยหรือไม่มีช่องหน้าต่างเลยอีกต่อไป และเกิดเป็นพัฒนาการในการวางโครงสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นใหม่ในรูปแบบที่สอดคล้องไปกับการมีช่องหน้าต่างจำนวนมาก

นั่นก็คือ pattern ที่ได้อธิบายไปแล้วว่า พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างได้ถูกวางให้เป็นภาพทศชาดกและพุทธประวัติ โดยใช้ตำแหน่งหน้าต่างมาเป็นตัวแบ่งเนื้อหาของชาดกและพุทธประวัติแต่ละตอน ซึ่งได้กลายมาเป็น pattern ที่ลงตัวที่ปรากฏแพร่หลายในช่วงต้นกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตและข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ คงต้องศึกษาและหาหลักฐานพิสูจน์อย่างจริงจังอีกมาก หากจะพัฒนาข้อเสนอนี้ต่อไป

 

ท้ายที่สุด หากเราเชื่อว่าโครงสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังมีที่มาจากสมุดภาพไตรภูมิ ความหมายของพื้นที่ภายในพระอุโบสถที่เต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวย่อมมีความหมายสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันกับความหมายภาพที่ปรากฎในสมุดภาพไตรภูมิ

ตามที่อธิบายไปในสัปดาห์ก่อน สมุดภาพไตรภูมิประกอบด้วย 2 ด้าน ด้านหน้า (หน้าต้น) นิยมเขียนเป็นภาพจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนประธาน ส่วนด้านหลัง (หน้าปลาย) เขียนเป็นภาพพุทธประวัติในพื้นที่ชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์ (อ่านเพิ่มประเด็นนี้ในหนังสือ การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังก็เช่นกัน ผนังสกัดด้านหลังพระประธานเป็นเสมือนภาพเขียน “หน้าต้น” ของสมุดภาพไตรภูมิ ในขณะที่ฝาผนังที่เหลือทั้งหมดอีก 3 ด้านเปรียบเสมือนภาพเขียน “หน้าปลาย” ของสมุดภาพไตรภูมิ

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง พื้นที่ภายในพระอุโบสถตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ จึงมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากความหมายของการเป็นพื้นที่ชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์

พระอุโบสถในฐานะชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์นี้จะเปลี่ยนความหมายไปเมื่อสังคมสยามเริ่มรับแนวคิดสมัยใหม่จากโลกตะวันตกจนทำให้คติความเชื่อแบบไตรภูมิเสื่อมความนิยมลง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังแม้จะกลายเป็นองค์ประกอบที่แทบขาดไปไม่ได้เสียแล้ว แต่ภาพที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ก็เปลี่ยนบทบาทและความหมายไปจากเดิม และทำให้พระอุโบสถมิได้มีสถานะเป็นดั่งชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

ใต้ภาพ

1-

2-พระอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี การออกแบบพระอุโบสถแบบที่ไม่มีช่องหน้าต่าง

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/User:Archy36