นักการเมือง | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ในยุคสมัยที่นักการอาชีพเป็นผู้ขับเคลื่อนโลก เรามักจะคิดถึงคุณภาพของนักการเมืองอย่างเดียวกับนักการอาชีพ เช่น วิศวกร, นักบัญชี, แพทย์, นักสถิติ ฯลฯ คือได้รับการฝึกปรือจากสถาบันการศึกษามามากน้อยแค่ไหน

เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ผู้มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.ได้ต้องจบปริญญาตรี รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถูกเรียกว่า “ฉบับประชาชน” ด้วย ทั้งๆ ที่ส่วนข้างมากของประชาชนไทยไม่เคยสามารถฝ่าฟันเครื่องกีดขวางที่มหาวิทยาลัยไทยตั้งขึ้นเข้าไปได้เลย สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญแบบนั้นจึงไม่ใช่สิทธิ์ที่มีไว้แก่คนไทยทุกคน สงวนไว้ให้แก่คนข้างน้อยของสังคมเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง นักการเมืองไม่เคยผ่านหลักสูตรที่เตรียมคนธรรมดาให้กลายเป็นนักการเมืองเลย ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองไทยนะครับ นักการเมืองทั้งโลกก็ไม่เคยผ่านหลักสูตรดังกล่าวทั้งสิ้น เพราะไม่มีที่ไหนที่เขาสอนหลักสูตรนั้น หลักสูตรที่ว่าด้วยการเมืองนั้นมีหลายหลักสูตร แต่หลักสูตรที่จะเตรียมให้เป็นนักการเมืองนั้นไม่มีสักหลักสูตรเดียวครับ

 

โดยปราศจากการศึกษาเฉพาะเช่นนี้ เราจะเรียกนักการเมืองว่าเป็นนักการอาชีพชนิดหนึ่งได้หรือไม่? คุณเป็นแพทย์หรือวิศวกร แต่ผมเป็นนักการเมือง ต่างเป็นนักวิชาชีพเหมือนกัน ฟังดูแปร่งๆ นะครับ แต่ผมก็เคยได้ยินนักการเมืองไทยบางคนที่พูดถึงอาชีพของตนว่าคือนักการเมือง เหมือนกับการเมืองเป็นวิชาชีพอย่างเดียวกับแพทย์หรือวิศวะ ในขณะเดียวกันก็เคยได้ยินคนไทยอีกมากที่เห็นว่า การเมืองไม่ใช่อาชีพ และหากมองการเมืองเป็นอาชีพย่อมนำมาซึ่งความวินาศสันตะโรของบ้านเมือง

อย่างที่ส่อนัยยะมาแต่แรกว่า นักการอาชีพเป็นมนุษย์ประเภทใหม่ของโลก เพิ่งเกิดแพร่หลายไม่น่าจะเกิน 200 กว่าปีที่ผ่านมา โลกสมัยโบราณก็อาจจะมีบ้าง แต่น้อยอย่างยิ่ง เช่น นักกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่ผู้พิพากษามาจนถึงทนายความ คนพวกนี้ต้องเรียนกฎหมายมาพอสมควร อาจเรียนโดยไม่มีสำนักชัดเจน แต่ต้องเรียนจากครูแน่ เช่น ในพม่าโบราณ อันเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่อนุญาตให้ “ทนาย” แก้ต่างในศาลได้ (ของไทย, กัมพูชา, ลาว อนุญาตให้ทนายเขียนคำฟ้องเท่านั้น แต่ขึ้นศาลแทนโจทก์หรือจำเลยไม่ได้) จะเป็นทนายก็ต้องเรียนกฎหมายอย่างเป็นระบบมาบ้าง

แพทย์ก็เป็นอีกอย่างที่ในยุโรปต้องเรียนอย่างเป็นระบบจากสำนักใดสำนักหนึ่งมาเก่าแก่พอสมควร

 

ที่จริงแล้ว “นักการเมือง” ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เก่าแก่มาก ว่ากันอย่างเคร่งครัดตามทฤษฎีแล้ว การเมืองเกิดขึ้นทันทีที่ผู้หญิงซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นจากซี่โครงของผู้ชายอุบัติขึ้นคู่กับผู้ชายคนแรกของโลก (ตำนานที่คิดขึ้นและเล่ากันเพื่อรอนอำนาจของฝ่ายหญิง – ก็นับเป็น “การเมือง” ด้วย) เมื่อเกิด “การเมือง” ก็ย่อมเกิด “นักการเมือง” ซึ่งได้แก่ผู้ชายคนนั้น และผู้หญิงคนนั้นเหมือนกัน

ตอนที่ผู้หญิงตัดสินใจกิน “ผลไม้แห่งความรู้” และชวนให้ผู้ชายกินบ้าง เธอได้ตัดสินใจใช้ทรัพยากรร่วม คือกำลังแรงของสองฝ่าย ไปลงทุนเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรร่วมอีกอย่างหนึ่งคือ “ความรู้” เข้าไปในคลังทรัพยากรของสังคม โดยจะรู้ตัวหรือไม่ว่ากำลัง “เล่นการเมือง” อยู่ก็ตาม แต่นั่นคือการเมือง และเธอกลายเป็นนักการเมืองไปก่อนจะออกจากสวนสวรรค์เสียอีก (และหากมองด้วยสายตาของมนุษย์ปัจจุบัน ผมก็ไม่แน่ใจเธอตัดสินใจผิดนะครับ)

การตัดสินใจทางการเมืองทำได้โดยอาศัยประสบการณ์ในชีวิต หรือที่การศึกษาสมัยใหม่ถือว่าเท่ากับ “ความรู้” การศึกษาในห้องเรียนคือเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการศึกษาของนักการเมืองได้มาจากการมีชีวิตและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้โดยการลองทำ ซึ่งที่จริงแล้วคือการศึกษากระแสหลักในโลกก่อนจะเกิดการศึกษามวลชนขึ้นไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง

แต่เมื่อเกิดการศึกษามวลชนและอย่างเป็นระบบขึ้นแล้ว การศึกษาแบบลองทำดู ก็ถูกการศึกษา “ในแบบ” แย่งเอาไปทำเสียมาก เพียงไม่นานมานี้ ไม่มีสถาบันสอนคนให้เป็นนักเขียน แต่ปัจจุบัน มีหลักสูตรเพื่อผลิตนักเขียนในมหาวิทยาลัยหรือนอกมหาวิทยาลัยอยู่เป็นอันมาก ยังไม่พูดถึงนักหนังสือพิมพ์, นักวิทยุ, นักโทรทัศน์ หรือแม้แต่นักโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันก็มีหลักสูตรแล้ว

เรียนด้วยการลองทำตกยุคตกสมัย เหลืออยู่กับคนที่คนอื่นเห็นว่า “ล้าหลัง” เช่น เกษตรกรดั้งเดิม, แรงงานไร้ฝีมือ เช่น แรงงานก่อสร้าง ซึ่งรวมไปถึงที่มี “ฝีมือ” ด้วย เช่น ก่ออิฐ, โบกปูน, ปูกระเบื้อง, ยาแนว ฯลฯ ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ต้องเรียนรู้จากลองทำมานานพอสมควรทีเดียว, ผู้ประกอบศิลปะโบราณอีกหลายแขนง ก็ยังไม่ถูกการศึกษา “ในแบบ” แย่งไปหมด แต่เรียนจากสำนักครูที่สอนโดยลองทำมาทั้งนั้น

แต่อย่านึกถึงเพียงคน “ตกยุค” เท่านั้น อาชีพสำคัญๆ อีกบางอาชีพก็ไม่มีโรงเรียนสอนเหมือนกัน เช่น กษัตริย์, ประธานาธิบดี, สันตะปาปา, นายกรัฐมนตรี, เจ้าคณะจังหวัด, เจ้าอาวาส และอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นต้น อาชีพเหล่านี้ยังไม่มีหลักสูตรฝึกในสถานศึกษาใดเป็นการเฉพาะเจาะจง ได้เป็นก็เป็นโดยไม่มีการศึกษาในระบบหนุนหลังเลย เรียนรู้จากประสบการณ์กันไป

แม้คนเหล่านี้อาจขาดการศึกษาในแบบหรืออย่างเป็นระบบ แต่เขาไม่ได้ด้อยการศึกษาแต่อย่างไร ดังที่กล่าวแล้วว่าความรู้คือรู้ประสบการณ์ของตนเองหรือของคนอื่นก็ตาม อย่างเป็นหรือไม่เป็นระบบก็ตาม คนเหล่านี้ล้วนสั่งสมประสบการณ์หรือความรู้ (ประสบการณ์) มาไม่น้อยทั้งสิ้น

และนักการเมืองนั้นสั่งสมและเรียนรู้ประสบการณ์มามากกว่าคนเช่นเจ้าอาวาสและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมากทีเดียว

 

นักการเมืองนั้นไม่ใช่จู่ๆ ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามานั่งในสภา กว่าจะถึงระดับนั้น ต้องผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางการเมืองมามาก นับตั้งแต่เข้าไปทำงานในฐานะหรือตำแหน่งเล็กๆ เท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองของตน (ซึ่งก็มักจะเป็นนักการเมืองที่ได้ตำแหน่งใหญ่ขึ้นแล้ว เช่น เป็นหน้าห้องรัฐมนตรีหรือเป็นนายกเทศมนตรี เป็นต้น) ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาจากท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น ตำบล, เทศบาล, จังหวัด จนถึงระดับประเทศ กว่าจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

บางท่านอาจคิดถึงนักการเมืองว่าก้าวมาจาก “เจ้าพ่อ” ซึ่งปัจจุบันมักเรียกในสำนวนใหม่ว่า “บ้านใหญ่” ไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมืองอะไรมากหรอก แต่ขอโทษเถิด ไปดูประวัติของเจ้าพ่อหรือบ้านใหญ่แต่ละคนแต่ละตระกูล จะพบว่าไม่ได้ผุดขึ้นมาง่ายๆ เลย

เพราะเจ้าพ่อไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปืนหรือเงินเท่านั้น ต้องใช้ “การเมือง” สั่งสม “ทุนทางการเมือง” ของตนให้แข็งแกร่ง “ทุน” ดังกล่าวหมายความได้ตั้งแต่คอนเน็กชั่นหรือเส้นสาย ไปจนถึงลูกน้องและผู้ใต้อุปถัมภ์หรือที่เรียกว่า “บารมี” จะได้มา ก็ต้องอาศัยการตัดสินใจที่ไม่พลาด หรืออย่างน้อยก็ไม่พลาดบ่อย ทั้งไม่มีสูตรสำเร็จให้ตัดสินใจ เพราะสถานะของตัวเองก็เปลี่ยน คนที่ต้องได้ใจหรือต้องทำให้กลัวก็เปลี่ยน การตัดสินใจท่ามกลางเงื่อนไขที่ไม่หยุดนิ่งนั้นยากแค่ไหนก็คงพอนึกออก

คนมีเงินและปืนแล้วไม่ได้เป็น “เจ้าพ่อ” มีมากกว่าคนที่ได้เป็นไม่รู้จะกี่เท่าตัวนะครับ เงินและปืนจึงเป็นเครื่องมือชั้นรองเท่านั้น

 

ดังนั้น ไม่ว่านักการเมืองจะไต่เต้ามาจากงานการเมืองโดยตรง หรือไต่เต้ามาจากเงามืดของอาชญากรรม (แล้วไม่ติดคุกหรือถูกเก็บเสียก่อน) ก็ล้วนสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น ผมคิดว่ามากกว่าผู้รับเหมาหรือเทคโนแครตที่ผันตัวเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ เพราะ “การเมือง” ของพวกหลังไม่ละเอียดอ่อนซ้อนซับเท่า จนดูเหมือน “เดะๆ” ไปเลย (เช่น เอาเงินวางลงไปบนมือที่แบอยู่แล้ว)

หนึ่งในความสามารถที่ได้จากการเรียนรู้แบบลองทำของนักการเมืองซึ่งผมเห็นว่าเยี่ยมยอดอย่างมาก ก็คือการสร้างสมดุลระหว่างแนวทางอันหลากหลายในหมู่ผู้สนับสนุนทางการเมืองของตน (นับตั้งแต่พรรคพวกใกล้ชิด, เจ้าสัว, หัวคะแนน ไปจนถึงผู้เลือกตั้งฝ่ายตน)

อย่าลืมว่า ความหลากหลายของผู้สนับสนุนย่อมหมายถึงความแตกต่าง (บางครั้งอย่างสุดขั้ว) ในทุกด้าน ไม่ว่าชีวิตความเป็นอยู่, อุดมคติของสิ่งต่างๆ นับตั้งแต่อาหารไปจนถึงนโยบายสาธารณะที่ดี, อคตินานาชนิด, ผลประโยชน์ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ ฯลฯ จะให้เขาสนับสนุนนักการเมืองคนเดียวกันหรือพรรคเดียวกันได้อย่างไร ปราศจาก “การศึกษา” ฝึกปรือที่ผ่านมาของนักการเมืองแล้ว คงทำไม่ได้เลย

แม้แต่เมื่อผู้สนับสนุนแคบลงเหลือเพียงชนชั้นเดียว, ชาติพันธุ์เดียว หรืออาชีพเดียว ปัจเจกบุคคลที่ร่วมกันสนับสนุนนั้นก็แตกต่างกันอย่างลิบลับพอๆ กัน ถึงแม้อาจมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตรงกัน แต่มนุษย์ทุกคนมีความชอบความชังอีกมากที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเลยอยู่ด้วยเสมอ (ครับ ผมเชื่อว่าชนชั้นทางเศรษฐกิจกำหนดหลายอย่าง แต่ไม่ทุกอย่างหรอกครับ)

สร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอที่จะให้เป็นนักการเมืองที่ดีได้ แต่ต้องสร้างนโยบายสาธารณะบางอย่างที่สังคมโดยรวมยอมรับได้ด้วย (อย่างไม่พอใจเต็มร้อย) ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นนักการเมืองที่ดี อย่างไรก็ตาม นักการเมืองส่วนใหญ่ทำได้เพียงสร้างสมดุลเพื่อรักษากลุ่มผู้สนับสนุนให้ดำรงอยู่ได้สืบไปโดยไม่ร่อยหรอลง แค่นี้ก็เป็นนักการเมืองจืดๆ ธรรมดาซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของนักการเมืองทั้งโลก

สังคมที่ขัดแย้งกันเองขนาดแยกขั้วสุดโต่งอย่างที่เกิดในเมืองไทยและสหรัฐในปัจจุบัน ทำให้นักการเมืองไม่ต้องสร้างสมดุลที่เป็นไปได้ในกลุ่มผู้สนับสนุน เพราะความต่างถูกทำให้เลือนหายไปในชีวิตจริงของผู้คน ภาวะแตกขั้วอย่างนี้แหละครับ ที่ผลิตนักการเมืองสะตึขึ้นมาจำนวนมาก แม้แต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจบ้านเมือง ก็มีคนเชียร์

 

ผมอยากสรุปว่า นักการเมือง ทั้งที่เลวๆ และดีๆ ล้วนได้ผ่าน “การศึกษา” มามากและยาวนานทั้งนั้น ซ้ำเป็นการศึกษาที่เข้มข้นขนาดที่ถ้าเป็นการศึกษาในแบบก็ต้องเรียกว่า พวกเขาเลือกเรียน major เดียวกัน คือหลักสูตรเตรียมนักการเมืองให้แก่สังคม

ความสามารถในการ “เล่นการเมือง” นั้นสำคัญแก่ทุกสังคม เราชอบนึกถึงการ “เล่นการเมือง” แต่ด้านเดียว คือด้านผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง อันนี้ก็มีจริงอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ แต่ “เล่นการเมือง” ยังมีอีกด้านหนึ่ง คือด้านประนีประนอม, ยืดหยุ่น, ทางออกที่พอรับได้, การมีส่วนร่วมของฝ่ายใต้อำนาจ (subaltern) เช่น คนจน, คนพิการ, คนกลุ่มน้อย, ผู้หญิง ฯลฯ (ไม่ใช่เพราะนักการเมืองเป็นคนดี แต่เพราะต้องการเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนใต้อำนาจ เพราะมักถูกละเลยไปโดยฝ่ายศัตรูของตน)

แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรนะครับว่า การ “เล่นการเมือง” ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแน่นอน “เล่นการเมือง” ทำได้แต่เพียงกล่อมให้การปกครองทำได้โดยผ่านอำนาจบังคับน้อยลง และหากเห็นไม่เข้าที ก็อาจเปลี่ยนให้อำนาจไปอยู่ในมือของคนอื่นได้โดยไม่ต้องฆ่าฟันกัน

ถ้าสังคมใดขาดการประนีประนอม, ยืดหยุ่น, ทางออก ฯลฯ ดังกล่าวข้างต้น ก็จะเหลืออยู่ทางเดียวคือเราต้องจับอาวุธฆ่าฟันกันเอง บ้านเมืองดำเนินไปด้วยอำนาจบังคับเชิงเด็ดขาดคือปราศจากการต่อรอง หรือถูกปล้นสะดมขนาดใหญ่และยาวนานโดยกลุ่มอำนาจ และก็ไม่มีหลักประกันเหมือนกับสังคมที่มีนักการเมืองนั่นแหละว่า การปกครองของนักการเมืองในตำแหน่งเหล่านี้ จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจแก่ส่วนรวม

พูดง่ายๆ คือ เสี่ยงเท่าๆ กัน แต่การปกครองที่เกิดจากการ “เล่นการเมือง” ทำให้นองเลือดน้อยกว่า และอาจ “ออกตัว” ได้โดยไม่ต้องฆ่ากันในที่สุด

ข้อสรุปของผมที่กล่าวข้างต้น หากเห็นด้วย ก็หมายความว่า ผบ.เหล่าทัพก็ตาม, เทคโนแครตก็ตาม, นายกฯ พระราชทานก็ตาม ฯลฯ อาจมีความรู้มากบางเรื่อง แต่ไม่ได้มีความรู้ทางการเมืองมากไปกว่านักการเมือง และปราศจากสมดุลทางการเมืองซึ่งมีประโยชน์แก่สังคมทุกชนิดอย่างปฏิเสธไม่ได้ ก็ไม่แน่ว่าเขาจะใช้ความรู้ของเขาเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา (เช่น ได้เป็นเนติบริกรที่ถูกทุกเผด็จการเรียกหา) หรือเพื่อประโยชน์เฉพาะของนายของเขา หรือเพื่อส่วนรวมกันแน่ ไม่ว่าเขาจะใช้อำนาจที่ได้มาไปในทางไหน เราก็ต่อรองไม่ได้ทั้งนั้น

แทงหวยเราดีๆ นี่เอง แทงถูกก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับโอกาสแทงผิด