E-DUANG : สัญญาณ  คำขวัญ “วันเด็ก” สัญญาณ จาก “คนรุ่นใหม่”

การทะยานเข้าไปยืนเรียงอยู่เคียงกับไหล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายชวน หลีกภัย ของ 2 นักร้องแห่งวง Paper Planes ในวาระ”วันเด็กแห่งชาติ”ทรงความหมาย

ทรงความหมายทั้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทรงความ หมายทั้งต่อ นายชวน หลีกภัย

เท่ากับเป็น”สัญญาณ” เท่ากับเป็น”การเตือน”

ทุกอย่างเหมือนกับเป็น”ขนบ”เป็น”ธรรมนิยม”ที่จะต้องมีคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติจาก 1 นายกรัฐมนตรี 1 จากประธานรัฐสภา ในฐานะที่เป็นประมุชบริหาร ประมุขนิติบัญญัติ

แต่สำหรับวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ปรากฏคำขวัญอันมาจาก 2 นักร้องแห่งวงดนตรี Paper Plames วางเรียงอยู่เคียงข้างในลักษณะเปรียบเทียบ

หากถามว่ารากฐานแห่งคำขวัญนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบที่เป็นรูปธรรมอย่างที่สุดก็คือ เพราะว่าวงดนตรีนี้ได้กลายเป็นขวัญใจของเด็ก คำขวัญนี้คือความต้องการของเด็ก

และอยู่ๆมิใช่ว่าความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย ตรงกันข้าม ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความยินยอมพร้อมใจ

นั่นเพราะผลสะเทือนจาก #ทรงอย่างแบด

 

ต้องยอมรับว่ายุคแห่งโซเชียลไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในทางความคิด หากแต่จากความคิดก่อผลสะเทือนถึงการเคลื่อนไหวในทางวัฒนธรรม

การนำเสนอของศิลปินรุ่นใหม่ประสานเข้ากับรสนิยมและความต้องการของแฟนเพลงอย่างฉับพลันทันใด

บทบาทจากเสียงเพลงของ Paper Planes ไม่เพียงแต่ทะลวงเข้าไปในหัวใจของวัยรุ่น ตรงกันข้าม ยังลงลึกไปในความต้องการของเด็กระดับประถม

สะท้อนให้เห็นว่าฐานทางด้านดนตรีและเสียงเพลงของเด็กรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และสวนทางกับความปรารถ นาดีที่”ผู้ใหญ่”ยัดเยียดและมอบให้

เพียงอ่านแต่ละถ้อยคำอันเป็น”คำขวัญ”ก็สะท้อนให้เห็นช่องว่างในทางความคิดและรสนิยมของแต่ละรุ่นอย่างเด่นชัด

จากรสนิยมในทางดนตรีทำให้สัมผัสได้ในสความเปลี่ยนแปลงจากยุคของ นายชวน หลีกภัย จากยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา เข้าสู่ยุคของ Paper Planes

สัมผัสได้จากความเรียกร้องต้องการ”คำขวัญ”แบบใหม่

คำถามอยู่ที่ว่าแต่ละปรากฏการณ์ที่เด็กๆได้แสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง นายชวน หลีกภัย ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับรู้และรู้สึกลึกซึ้งเพียงใด