คณะทหารหนุ่ม (22) | สัญญาของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ก้าวของ พล.อ.เปรม-ก้าวของคณะทหารหนุ่ม

หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเต็มตัวแล้ว ต่อมาเมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ก็มีประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

ที่น่าสนใจคือ นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคู่ไปด้วย

โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใหม่สดจากกองทัพภาคที่ 2 และแทบไม่มีใครรู้จักมาก่อน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งรองผู้บัญชาการทหารบก และเสนาธิการทหารบก ซึ่งมีลำดับอาวุโสกว่า ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐมนตรีเลย

และต่อมายังมีประกาศแต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ พ.ท.จำลอง ศรีเมือง ที่ได้รับมอบหมายจากเพื่อนคณะทหารหนุ่มให้อยู่ประจำที่ บก.ทหารสูงสุด กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ระหว่างการยึดอำนาจเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 เป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

15 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 360 คน ในจำนวนนี้มีอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นประธาน ถึง 209 คน

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ มีสมาชิกคณะทหารหนุ่มได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ รวม 8 คน ได้แก่ พ.ท.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล พ.ท.ธานี เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พ.ท.ธีระวัฒน์ เอมะสุวรรณ พ.ท.นานศักดิ์ ข่มไพรี พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.ท.มนูญ รูปขจร พ.ท.วินิต เทศวิศาล ลำดับ และ พ.ท.แสงศักดิ์ มังคละศิริ

สังคมไทยจึงเริ่มรู้จักและให้ความสนใจ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” และ “คณะทหารหนุ่ม-ยังเติร์ก” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา…

 

สัญญาลูกผู้ชาย

สุรชาติ บำรุงสุข เล่าไว้ใน “จากจุฬาฯ สู่บางขวาง” ถึงคำมั่นสัญญาจาก พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ ระหว่างถูกกังขังที่เรือนจำบางขวางว่า

“ถ้าออกไปได้จริง ก็จะหาทางหนทางช่วยพวกเราให้ได้ พี่หนั่นพูดกับผมเสมอว่า ถ้าพี่ออกไปก่อนแล้วก็จะมาเอาพวกเราออกด้วย ผมเองก็ไม่กล้าที่จะฝันมากกับสภาพเช่นนี้ เพราะตระหนักดีว่าสถานะของคดีของพี่ๆ กับพวกเราแตกต่างกันอย่างมาก จำนวนของข้อหาที่พวกเราถูกตั้งจากฝ่ายรัฐก็มากกว่าของพวกพี่เหล่านั้นเสียอีก และยังพ่วงตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์อีกด้วย ต้องบอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ผมไม่กล้าที่จะฝันถึงอิสรภาพเลย เพราะรู้สึกว่ายังอยู่ห่างไกลอีกพอสมควร”

ขณะเดียวกัน พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ก็เล่าไว้ใน “ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง” ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับปากกับคณะทหารหนุ่มเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้วว่า

“ผมมีข้อตกลงกับหัวหน้าผู้ก่อการ 2 ข้อ คือเมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้วต้องนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาในคดี 6 ตุลาคม 2519 และนิรโทษกรรมแก่คดี 26 มีนาคม 2520”

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยังกล่าวยืนยันความมั่นใจหลังความสำเร็จในการยึดอำนาจเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 อีกด้วยว่า

“เมื่อยังเติร์กเข้ายึดอำนาจได้แล้วเอา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้รับคำยืนยันว่าพวกเขามีข้อตกลงกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ในเรื่องนิรโทษกรรม และกำลังของยังเติร์กขณะนั้นก็มีอยู่ถึง 40 กองพัน ดังนั้น ขอให้วางใจว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์จะไม่หักหลังอีกแน่นอน”

ควรสนใจความระหว่างบรรทัดในประโยคสุดท้ายที่ว่า “พล.อ.เกรียงศักดิ์จะไม่หักหลังอีกแน่นอน” และอย่าลืมเป็นอันขาดว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คือผู้สูญเสียนาย “พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ” ไปเมื่อครั้งกบฏ 20 มีนาคม 2520

บัดนี้การยึดอำนาจ 20 ตุลาคม 2520 สำเร็จเรียบร้อยลงแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามความต้องการของคณะนายทหารหนุ่มซึ่งยังคงมีกำลังเป็นหลัก

ประกันความมั่นใจ จึงถึงเวลาของการทำตามคำมั่นสัญญานี้…

 

ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล บ่ายวันที่ 22 พฤศจิกายน 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นากยกรัฐมนตรีได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในสองประเด็นหลัก

ประเด็นแรกคือ กรณีนักเรียน นักศึกษา ที่ถูกจับกุมตัวในคดี 6 ตุลาคม 2519 ว่าได้แก้ไขกฎหมายให้สามารถแต่งตั้งทนายแก้ต่างในศาลทหารได้แล้ว และรัฐบาลยืนยันให้ประกันความปลอดภัย

“นอกจากเราจะให้ความปลอดภัยแก่นักเรียนนักศึกษาที่หลงผิดอย่างเต็มที่แล้ว เราก็จะให้การต้อนรับเขาเหล่านั้น พร้อมทั้งจะไม่มีการพิจารณาโทษแก่นักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นแต่อย่างใด เพราะเราทราบว่าที่ได้หลบไปอยู่ในป่าก็เพราะความกลัวซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร ดังนั้น การเข้ามอบตัวก็จะให้มีการรายงานตัวแล้วก็จะส่งกลับบ้านไป เราขอรับรองว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่จะให้ความปลอดภัยแต่เพียงอย่างเดียว จะไม่มีการพิจารณาความผิดอย่างใดทั้งสิ้นด้วย เพราะเราถือว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิด”

ประเด็นที่สองคือ กรณีกบฏ 26 มิถุนายน 2520 ที่ยังคงอยู่ในความสนใจของประชาชน นายกรัฐมนตรีได้แถลงเป็นลำดับต่อมาว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเหตุผลโดยละเอียดรอบคอบแล้ว เพื่อความสามัคคีของคนในชาติจึงได้มีมติให้นิรโทษกรรมแก่นักโทษในคดีนี้ทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ยังหลบหนีอยู่

“การลงโทษโดยใช้มาตรา 21 ของรัฐบาลครั้งที่แล้วเกี่ยวกับกรณี 26 มีนาคม ทำให้ภาพพจน์ของประเทศเราที่ต่างประเทศมองดูเขาว่าเราไม่ได้ให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาลงโทษให้ถ่องแท้ เพราะเวลานี้ก็มีบุคคลบางคนซึ่งขณะนี้ก็ได้หนีไปอยู่ต่างประเทศก็สอบไม่ได้ว่าเข้าไปเพื่อล้มล้างรัฐบาลหรือถูกเรียกเข้าไป แต่ก็ถูกตัดสินไปแล้ว”

“ดังนั้น ต่อจากนี้เราจะตั้งต้นกันใหม่ เปิดศักราชกันใหม่ ทำทุกอย่างให้เกิดความสามัคคีรักใคร่ของคนในชาติ ซึ่งก็ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้ตกลงใจว่าจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์นี้ รวมทั้งผู้ที่หลบหนีอยู่หมดทุกคนให้พ้นจากมลทินและไม่ถูกจองจำต่อไป”

 

กรณี พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และคณะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศจนนำไปสู่การใช้มาตรา 21 ประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ในที่สุด ซึ่งยังคงเป็นที่สงสัยในหมู่ประชาชน นายกรัฐมนตรีแถลงว่า

“ผมเองขอแสดงความในใจ เพราะเรื่องนี้มีบุคคลหลายคนได้เข้าใจตัวผมและคณะปฏิรูปฯ ในสมัยนั้นผิดไป โดยเข้าใจว่าเป็นผมเองที่หักหลังนายฉลาดโดยกล่าวหาว่าหลอกให้ขึ้นเครื่องบินแล้วจึงจับตัวไป เรื่องนี้ผมขอยืนยันด้วยความสัตย์จริงและในฐานะลูกผู้ชายว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เหตุการณ์ในครั้งนั้นทางคณะปฏิรูปฯ ไม่ต้องการที่จะให้มีการนองเลือดเกิดขึ้น จึงต้องการให้ตนเองไปเจรจาเพื่อจะได้ส่งตัวผู้ก่อการเหล่านั้นออกนอกประเทศ ซึ่งตนเองได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้เจรจาก็ได้ไปเจรจา”

“ก่อนการจะไปเจรจาได้ติดต่อไปทางรัฐบาลไทเปหาตั๋วเครื่องบินได้ หาเงินให้ แม้ว่าก่อนที่นายฉลาดออกเดินทางก็ให้หลักฐานต่างๆ วิทยุเข้าๆ ออกๆ จากฮ่องกงและไทเป ซึ่งวิทยุนั้นก็รายงานว่าพร้อมที่จะไปได้ และก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินแล้ว นายฉลาดก็มอบปืนให้แก่ผม 2 กระบอก ซึ่งในขณะนั้นถ้าผมจะหักหลังหรือคณะปฏิรูปฯ จะหักหลังก็สามารถเอาในตอนนั้นได้ แต่นี่ก่อนจะจากกันก็ได้กอดคอกัน อำลากัน เพราะเราในฐานะที่ได้เคยร่วมเป็นร่วมตายในสงครามเกาหลีมาด้วยกัน แต่พอขึ้นเครื่องบินแล้วก็บังเอิญวิทยุได้รับรายงานว่าทางไทเปไม่สามารถรับนายฉลาดได้ เป็นช่วงวิกฤตนี้ และในตอนนั้นผมเองก็เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันจึงได้กลับบ้านนอน เพราะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เครื่องบินคงไปได้แล้ว”

“มาทราบภายหลังว่าเครื่องบินรับไปไม่ได้ในตอนเช้า ซึ่งถึงช่วงนั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียแล้ว”

 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 ถึง 26 มีนาคม พุทธศักราช 2520 แล้วได้มีการประกาศพระราชบัญญัติดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษลงวันที่ 3 ธันวาคม

อันมีผลให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมเป็นต้นไป ผู้ต้องขังทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 4 ธันวาคม 2520

สำหรับกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น จำเลยทั้ง 18 คนยังต้องรอคอยอีกจนกระทั่งเกือบปี จึงได้มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อ 16 กันยายน 2521

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ถือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาแห่งลูกผู้ชายแล้วโดยครบถ้วน