ตอน-ปลายบูรพาทิศ-ปลายวิทยาการ

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

ตอน-ปลายบูรพาทิศ-ปลายวิทยาการ

 

“แค่ 121 ปีเท่านั้นเวียสนา ที่องค์กรแห่งนี้ก่อตั้งมา…”

อืมห์นะ แถมไม่ได้ก่อตั้งที่กัมพูชาด้วยสิ…

“เวียสนา นายคิดถึงเรื่องอย่างไร? ฉันอยากรู้ไทม์ไลน์” พลัน ฉันก็เห็น “สนา” (อ่านสะนาใกล้กับคำว่าวาสนาของไทย) เพื่อขอไทม์ไลน์จากเขา

แต่เวียสนาเหมือนกับว่าเขาเองก็จนใจ เพราะขาดข้อมูลหลักฐาน แต่เราจะลืมปราชญ์คนหนึ่งคือ ตรึง เงีย ไปได้อย่างไร?

ตรึง เงีย คือตรึงใจ เพราะสิ่งใดๆ ที่เขาบันทึกไว้ในตำราประวัติศาสตร์เขมรเล่มเดียวที่กัมพูชายังตกทอดใช้สอนในห้องเรียนและตัวเขาเองที่ได้บันทึกมุมมองของตนต่อคณะโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ซึ่งมีที่มาจากเขมร

ทุกวันนี้ สำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ชื่อที่เรียกกันในสหัสวรรษใหม่ก็ไม่ได้กลับไปต้นทางที่นั่นแต่อย่างใด รวมทั้งสำนักอภิรักษ์องกอร์/อภิรักษ์เมืองพระนครที่ก่อตั้งมาเพื่อผลพวงเดียวกัน

ทั้ง 2 สถาบันที่มุ่งเน้นการสำรวจโบราณวิทยาและด้านวิชาการได้กลายเป็นเพียงความหลังของอาณาจักรขอมแห่งยุคกลางไปแล้ว

กล่าวว่า พอได้สิทธิ์เป็นชาติอารักขาต่อกัมพูชาแล้ว ฝรั่งเศสต่อมาได้จัดตั้งคณะมิชชั่นในชื่อ “คณะบารังจุงบูร์เปีย” (ปลายบูรพา) ทำหน้าที่สำรวจเขตโบราณสถานสำคัญทั้งหมดของกัมพูชา

ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งเป็นผู้มาจากกองทัพเรือคือ นาวาอากาศโทดูอาร์ต เดอ ลาแกร์ (Doudart de Lagr?e) ระหว่างปี ค.ศ.1866-1867

หือนะ ก็ต้องเข้าใจนะว่าในบรรดาเจ้าหน้าที่อินโดจีนระยะแรกนั้น ล้วนแต่เป็น ผบ.เหล่าทัพของฝรั่งเศส น่าทึ่งที่คนเหล่านี้ได้ปรับไปกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในแต่ละท้องถิ่นของแคว้นอินโดจีนได้ดี โดยเฉพาะแคว้นเขมร/กัมโพชที่มีลักษณะพิเศษ

เดอ ลาแกร์ ได้ทำการสำรวจเมืองพระนคร แต่ไม่ประสบสัมฤทธิผลในภารกิจนี้ พอบังเอิญกลับยูนนานเขาก็จบชีวิตที่นั่น แต่คณะของเขาก็นำผลงานการสำรวจเมืองอาณาจักรยุคกลาง (นครทม-นครวัด) และพันเรือเอกฟราซิส การ์นิเยร์ ได้นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ “Voyard Exploration en Indochine” ตีพิมพ์/1873

นอกจากนี้ ผู้ร่วมคณะอีกท่านคือ หลุยส์ เดอ ลาปอร์ต์ (โปรดสังเกตว่าล้วนแต่เป็นทหาร) ซึ่งได้เดินทางกลับไปฝรั่งเศส ต่อมาเขาได้นำภาพสเกตช์จำนวนมากจัดนิทรรศการขึ้นที่กรุงปารีส

เดอ ลาปอร์ต์ กล่าวชื่นชมอารยธรรมเขมรต่อสาธารณชนในบารังและสร้างความตื่นรู้ต่อชาวยุโรปตะวันตกอย่างโอฬารริกเช่นกัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการสำรวจลาวและเขมร (แต่ไม่มีสยาม?) ในปี 1875-1877 นั้นเอง จูลส์ ฮาราร์ด ก็ทำหนังสือถึงเฮ็นริก เคิร์น (Henrik Kern) นักศึกษาตะวันออกชาวฮอลันดาที่รอบรู้จารึกฮินดูอันพบในหมู่เกาะชาวอินโดนีเซีย เคิร์นได้อ่านจารึกเขมรที่เขียนด้วยสันสกฤตและตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1879

หลังจูลส์ ฮาราร์ด จบภารกิจลง ผู้สำเร็จราชการกัมพูชาคนใหม่ (1882-85) ฌ็อง มูรา (JEAN MOURA) ก็ได้รวบรวมจารึกหลักต่างๆ ในจำนวน 340 หลัก ทั้งสันสกฤตและอักขระเขมรโบราณ ขณะที่ออกุส บาร์ธ (A. BARTH) และผู้ช่วยอาเบล เบอร์แกจ์น (A. BERGAIGNE) ทำการแปลและตีพิมพ์เผยแพร่จารึกดังกล่าวระหว่างสันสกฤต-เขมร-จาม

ในปี 1883/2426 มูราได้ตีพิมพ์ประวัติศาสตร์เขมรในชื่อ “ประวัติอาณาจักรกัมโพช” (LE ROYAUME DU CAMBODGE) นับว่าเป็นบันทึกแรกๆ ที่กัมพูชามีตัวตนในโลกยุคศตวรรษที่19 และชาวตะวันตกต่างพากันตะลึง

ทว่า สำหรับกัมปูเจียแล้ว นักวิทูอย่างตรึง เงีย ไม่คิดเช่นนั้น โดยอ้างว่า สำนักบารังปลายบูรพาทิศนอกแคว้นเขมร มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงพนมเปญ ทั้งยังระบุว่า เดิมทีมีสำนักงานที่ไพรนคร (ไซ่ง่อน) ตั้งแต่ ค.ศ.1865

หรือก่อนย้ายไปกรุงฮานอย 35 ปี

ไม่เท่านั้น ยังนำไปสู่การก่อตั้งสำนัก : Conservation d’ Angkor หรือสำนักอภิรักษ์เมืองพระนคร/อภิรักษ์องกอร์มี เจ.ก็อมไมย์ เป็นผู้อำนวยการ และเดอ ลาจ็องกีเยร์ เจ้าหน้าที่งานทะเบียนที่เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าสำนักแห่งนี้

จนถึงอิทธิพลแคว้นเขมรด้านโบราณคดีที่มีส่วนทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจสร้างพิพิธภัณฑ์โบราณสถานขึ้นที่กรุงพนมเปญ เพื่อคัดเลือกและเก็บรักษาโบราณวัตถุที่แคว้นกัมโพช และอย่างเป็นลำดับความก้าวหน้าของวิชาการทางโบราณคดี

กระนั้น การถือกำเนิดขึ้นของสำนักบารังปลายบูรพาทิศซึ่งปักหมุดในปี ค.ศ.1900 ตามบันทึกสากลนั้น ให้สังเกตว่าเป็นปีเดียวกับเอเตียน อิโมนิเยร์ (E. AYMONIER) ตีพิมพ์ “กัมพูชา” (Le Cambodge)

แต่ไม่ใช่แค่ความก้าวหน้าสำนักบารังฯ เท่านั้น แต่ยังขยายไปยังภารกิจอื่นของสำนักอภิรักษ์องกอร์ต่อการมอบหมายฟิลิป สเติร์น นักโบราณวิทยาออกสำรวจพื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นแอ่งอารยธรรมร่วมกันรวมทั้งปราสาทพนมกุเลน

เช่น กองงานบันทึกภาพนิ่งปราสาทบายน ปราสาทนครวัด บันเตียฉมาร์ และอื่นๆ ซึ่งมีดูฟูต์กับคาร์โปซ์ผู้ช่วยนายปาร์มงติเยร์รับหน้าที่

แต่ภารกิจที่ท้าทายของพวกเขา กลับเป็นการต่อสู้กับหมู่รุกขชาติพันธุ์ไม้ศัตรูที่ปกคลุมทำลายปราสาทหินเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ การขยายออกไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑสถานที่กรุงพนมเปญก็มาจากการค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมากที่จำเป็นต้องการศึกษาวิจัย

ยอร์จ โกรลิเยร์ จึงได้รับการมอบหมายให้ดูแลโครงการนี้ ไม่แต่เท่านั้น หลังจากโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศย้ายไปฮานอยไม่นาน หน่วยงานอย่างอภิรักษ์องกอร์ก็มีบทบาทราวกับเป็นสาขาด้านการสำรวจ จนเกิดการตั้งกระทรวงภูมิศาสตร์ขึ้นมารับผิดชอบ มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อหาที่ตั้งและขนาดของปราสาทเหล่านั้นเพื่อไปสู่ศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม

อีกทั้งการค้นพบปราสาทหินมากจำนวนในสมัยยอร์จ ตราเว่ ผู้รับผิดชอบโครงการ ตราเว่ยังศึกษาวิถีการปลูกข้าวและผันน้ำของยุคกลาง และสิ่งนี้ อย่างเหลือเชื่อดูจะพ้องแนวคิดคณะไลดาร์ (LiDAR) ต่อการสำรวจปริศนาอาณาจักรโบราณเหนือภูเขาพนมกุเลนอีกแห่งหนึ่งซึ่งอ้างการพิสูจน์มีวิวัฒนกรรมไม่ต่างจากยุคกลางของเมืองพระนคร

แต่ที่น่าประหลาดที่พบว่า เมื่อเทียบกับ 100 ปีก่อนของสำนักอภิรักษ์องกอร์แล้ว โครงการสำรวจด้วยยุคไลดาร์กลับถดถอยล่าช้ากว่ามาก

ไม่แต่เท่านั้น สำนักทั้ง 2 : ฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศและอภิรักษ์ฯ ที่แม้จะเป็นโรงเรียนและสำนักที่ทำงานอย่างลึกลับ แต่กลับสร้างนักวิชาการท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ตลอดจนวิทูบารังซึ่งล้วนแต่คุณภาพ

ในบรรดาวิทูเหล่านั้น ล้วนแต่ได้รับการปลุกปั้นมาจากหลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศยุคที่เฟื่องฟูที่สุดโดยเฉพาะแคว้นกัมพูชาและเถรวาท และการให้ความสำคัญอย่างมากต่องานวิจัย

อาทิ แม้แต่นักวิชาท้องถิ่นซึ่งเป็นนักบวชเถรวาทส่วนใหญ่ หลุยส์ ฟิโนต์ ได้ให้การอบรมศึกษาและต่อยอดด้านจารึก, อักษรศาสตร์ ที่พบว่าภิกษุเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานแข็งแรงจากภาษาเขมรและอักษรขอม ทำให้พระสงฆ์กัมพูชายุคอินโดจีน แตกฉานด้านสันสกฤตและจารึกโดยง่าย

อันต่างไปจากพระเถรวาทในประเทศอื่นของภูมิภาคนี้ พระบางรูปจึงถูกเชิญเป็นสมาชิกโรงเรียนฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษ บ้างบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่สร้างผลงานอย่างเอกอุ

ส่วนชาวบางรังนั้น ตัวอย่างที่ฟิโนต์บรรจงปั้นมิใช่ใครอื่นแต่คือ ยอร์จ เซเดส อดีตบรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดวชิรญาณของไทยที่ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อไปเป็นผู้อำนวยโรงเรียนฝรั่งเศสฯ กรุงฮานอย

และอีกท่านหนึ่งซึ่งบทบาทสำคัญ คือ อ็องรี ปาร์มงติเยร์ (Henri Parmentier) อดีตหัวหน้าแผนกโบราณคดีโรงเรียนฝรั่งเศสฯ ผู้เชี่ยวชาญจารึกอาณาจักรจัมปา, ปาร์มงติเยร์เคยลงพื้นที่สมโบร์ไพรกุก, ปราสาทกัมปงทมและบันเตียไพรนคร

แต่สิ่งที่ทำให้ชาวเขมรจดจำคือการที่อ็องรี ปาร์มงติเยร์ ออกโรงเรียกร้องจังหวัดพระตะบอง เสียมเรียบและศรีโสภณ คืนจากสยาม

ปัจจุบัน การถูกมองข้ามความสำคัญจากรัฐบาลกัมพูชาและเงินสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส มีส่วนทำให้สำนักแห่งนี้ไม่ถูกจดจำได้ในหมู่ชาวสหัสวรรษ เช่นเดียวกับสำนักอภิรักษ์องกอร์ที่กลายเป็นอดีตเมื่อถูกยุบไป

และตั้งหน่วยงานใหม่ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกัมพูชาในนาม “องค์กรอัปสรา” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลจากการท่องเที่ยวให้กัมพูชาปีละหลายหมื่นล้าน

ทว่า สำหรับด้านการฟื้นฟูวิทยาการที่เคยรุ่งเรื่องเฟื่องฟูสมัยอินโดจีนนั้น มันสะดุดลงอย่างสิ้นเชิง และเหลือแต่ร่องรอยของภาวะชะงักงันด้านการวิจัยต่อเนื่อง

ตลอดจนความเสื่อมถอยในการฟื้นฟู