กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (24) คำนำของชัยค์ แห่งอัลอัซฮัร (ต่อ)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (24)

 

คำนำของชัยค์ แห่งอัลอัซฮัร (ต่อ)

เรื่องที่ ดร.ฮัยกัลอ้างว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการสมัยใหม่นั้น ออกจะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการอ้างเอาเช่นนี้ ดร.ฮัยกัลกำลังปรองดองกับนักวิชาการผู้ซึ่งจะเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ท่าน

ตัวท่านเองก็ยอมรับว่าวิธีการนี้เป็นวิธีของกุรอาน และเป็นวิธีการของนักวิชาการมุสลิมในอดีตด้วย

ลองคิดถึงหนังสือกะลาม (ตรรกศาสตร์) ต่างๆ ดูเถิด บางเล่มก็ยืนยันว่าหน้าที่อันแรกของผู้ใหญ่คือการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า

บางเล่มก็ถือว่าหน้าที่อันจำเป็นประการแรกคือการตั้งข้อสงสัยเพราะจะไม่มีความรู้เกิดขึ้นได้นอกจากวิธีพิสูจน์และถกเถียง ถึงแม้ว่ากระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะเป็นการอนุมาน (คือการสรุปลงความเห็นโดยพิจารณาจากหลักทั่วไป)

ขอบเขตของการหาเหตุผลเช่นนี้ต้องเป็นการหาหลักฐานด้วยตนเอง การรู้สึกโดยการครุ่นคิดหรือการรู้สึกขึ้นมาในทันทีทันใด หรือการขึ้นอยู่กับการทดลองที่ไม่มีข้อผิดพลาดและการหานัยทั่วไป

การทำตามกฎเกณฑ์แห่งตรรกวิทยา ความผิดพลาดแม้แต่น้อยที่สุดในเหตุผลใด หรือในรูปแบบของการให้เหตุผลย่อมทำให้ข้อพิสูจน์ทั้งหมดเป็นโมฆะไป

อัลฆ็อซาลี บรมครูก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้จริงๆ ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่าน ท่านได้รายงานว่าท่านตัดสินใจที่จะทำให้ความนึกคิดของท่านว่างเปล่าปราศจากการติดยึดกับความคิดเห็นเก่าๆ แต่จะคิดและพิจารณา จะเปรียบเทียบความเหมือนกันและข้อแตกต่างกัน แล้วเอาข้อพิสูจน์และหลักฐานพยานทั้งหมดมาคิดใหม่ไปทีละขั้นๆ

หลังจากการสร้างวิธีการใหม่นี้ขึ้นมาใช้แล้วท่านก็บรรลุถึงข้อสรุปว่า อิสลามเป็นความจริงแท้ ดังนั้น ท่านจึงสร้างความคิดเห็นและข้อถกเถียงขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของอิสลาม

ท่านทำทั้งหมดเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงจากความคิดแบบเก่าๆ เพื่อจะได้มาซึ่งความศรัทธาโดยอาศัยความแน่นอนซึ่งสร้างขึ้นบนความจริงและการถกเถียงกัน

มุสลิมทั้งมวลเห็นพ้องแล้วว่าอันความศรัทธาแบบนี้ที่เกิดขึ้นจากความมั่นใจในเหตุผลนั้น ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะเป็นความจริงแท้และจะนำมาซึ่งความรอดพ้น

 

วิธีการเช่นเดียวกันนี้ หรือการเจตนาปฏิเสธความเชื่อทั้งหลายเสียก่อน เพื่อเป็นขั้นต้นของการสำรวจตรวจสอบและการศึกษาอย่างนักวิชาการนี้จะพบได้ในหนังสือกะลามส่วนมาก

ความจริงความสงสัยนั้นเป็นวิธีการที่เก่าแก่พร้อมกับการทดลองและการตั้งหลักการทั่วไป

ส่วนอย่างหลังนั้นสร้างขึ้นบนการสังเกต สำหรับพวกเรานั้นมันไม่ใช่ของใหม่เลย แต่เมื่อมันถูกละเลยและลืมเลือนไปในตะวันออก นับตั้งแต่ที่ตะวันออกมายึดเอาลัทธิอนุรักษนิยมและลัทธิไม่ใช้เหตุผล วิธีการเก่านี้ตะวันตกจึงรับเอาไปชำระล้างเสียให้สะอาด แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม

บัดนี้เรากำลังเอามันคืนจากตะวันตกโดยคิดว่าเรากำลังนำเอาวิธีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบใหม่มาใช้อยู่

ดังนั้น วิธีการนี้จึงเป็นทั้งวิธีเก่าและวิธีใหม่ อย่างไรก็ตาม การรู้วิธีนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การใช้มันนั้นเป็นเรื่องยาก มนุษย์มิได้แตกต่างกันมากนัก ในเรื่องความรู้ในกฎเกณฑ์บางอย่าง แต่ในการนำกฎเกณฑ์เหล่านั้นมาใช้มนุษย์ยืนอยู่ห่างกันมาก

เพื่อจะหยุดยั้งอดีตทั้งมวล เพื่อจะสังเกตการณ์ ทดลอง เปรียบเทียบ อนุมาน แต่สำหรับผู้ที่กำลังยืนอยู่ภายใต้มรดก ซึ่งเป็นภาระหนักหน่วงทั้งทางกายและใจ ต้องดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมที่กดขี่ในบ้าน หมู่บ้าน โรงเรียน เมืองและประเทศ ต้องทนทุกข์ภายใต้น้ำหนักมหาศาลของเงื่อนไขที่เกิดจากอารมณ์ สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และกิเลสตัณหา แล้วเขาจะใช้กฎหมายได้ง่ายๆ อย่างไรกัน

นั่นคือปัญหาไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้มีทรรศนะและคำสอนอยู่หลากหลาย

นั่นคือเหตุผลที่มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง

ทรรศนะเหล่านี้ในหมู่ประเทศและผู้คนต่างๆ ในทุกรุ่น ปรัชญาและวรรณกรรมย่อมจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ๆ เหมือนกับที่ผู้หญิงแต่ง แทบจะไม่มีทฤษฎีหรือหลักการใดที่เป็นเหมือนป้อมปราการที่ตีไม่แตก

ความเปลี่ยนแปลงมักเข้าโจมตีทฤษฎีแห่งความรู้ซึ่งเป็นที่นับถือมาเป็นเวลานาน

ทฤษฎีสัมพัทธภาพนำพายุหมุนมาสู่หลักการวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่ยอมรับ แต่ในไม่ช้ามันก็ถูกโจมตีเหมือนกัน

ในทำนองเดียวกัน ทฤษฎีอาหารและโรคภัย สาเหตุและการรักษาต่างๆ ก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้ามองให้ใกล้ชิดเข้าไปก็จะทำให้เรามั่นใจว่าไม่มีความมั่นคงสำหรับผลิตผลแห่งความคิดจิตใจของเรา จนกว่าทฤษฎีต่างๆ เหล่านั้นจะมีข้อพิสูจน์ที่แน่นอนเป็นเครื่องรองรับ

แต่ส่วนสัดระหว่างผลผลิตแห่งความคิดจิตใจกับการเปลี่ยนแปลงของทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดฟุ้งซ่าน ฉายออกมาโดยจิตใจที่เจ็บป่วย ถูกยัดเยียดโดยเรื่องการเมืองหรือถูกสร้างขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้เพียงแต่ชอบทำตัวให้แตกต่างไปจากพรรคพวกเพื่อนฝูงเท่านั้น จะเป็นเช่นไร?

บางทีความคิดนี้อาจจะทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการที่ทะนงในเหตุผล และขึ้นอยู่กับเหตุผลแต่อย่างเดียวจนเกินไปเหล่านั้นค่อยมีสติขึ้นบ้างก็ได้

และสักวันหนึ่งความคิดเช่นนี้อาจจะนำพวกเขาไปสู่สัจธรรม ทำให้พวกเขาเข้าไปพักพิงอยู่ภายใต้ความมั่นใจอย่างเต็มที่ ซึ่งเกิดจากสัจธรรมนั้น นั่นคือความมั่นใจในวะหฺยุที่แท้จริง ในพระมหาคัมภีร์กุรอานและในสุนนะฮฺ (จริยวัตรของท่านศาสดา) ที่แท้จริง

 

บัดนี้ขอให้เราหันกลับมายัง ดร.ฮัยกัลกับหนังสือของท่านบ้าง มุตะกัล ลิมีน จำนวนหนึ่งถือว่าความรู้ที่ได้มาจากดาราศาสตร์ และการผ่าตัดร่างกายของมนุษย์นั้นเป็นเครื่องชี้อย่างชัดเจนให้เห็นว่าพระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้า รวมไปถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุดของชีวิต

ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าการค้นพบและการสร้างกฎต่างๆ และความลี้ลับของธรรมชาตินอกจากจะช่วยความนึกคิดของมนุษยชาติให้แทงทะลุลงเข้าไปในสิ่งที่แต่ก่อนเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้นั้นในที่สุดก็จะสนับสนุนศาสนา

ในเรื่องนี้พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นสัญลักษณ์ของเราที่ขอบฟ้าและในตัวของพวกเขาเองว่าการเปิดเผยของเรานั้นเป็นความจริงแท้ ยังไม่เป็นการเพียงพออีกหรือที่พระผู้อภิบาลของเจ้าเป็นพยานในทุกสิ่งทุกอย่าง” (กุรอาน 41 : 53)

การค้นพบไฟฟ้าและบรรดาทฤษฎีและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกิดจากการค้นพบนั้นทำให้เราเข้าใจได้ว่าสสารอาจถูกเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานและพลังงานอาจแปลงรูปเป็นสสารได้อย่างไร การเชื่อด้านจิตวิญญาณ ได้ช่วยให้เราเข้าใจลักษณะที่นอกเหนือธรรมชาติของดวงวิญญาณและรู้ถึงความเป็นไปได้ที่มันจะอยู่แยกออกไป รู้ถึงความสามารถที่ดวงวิญญาณจะท่องเที่ยวไปในที่ว่างและกาลเวลาได้ มันจะได้ช่วยอธิบายถึงเรื่องราวหลายอย่างซึ่งมนุษย์เข้าใจแตกต่างกันเนื่องจากความไม่รู้

ดร.ฮัยกัลใช้ความรู้อย่างใหม่นี้ในการอธิบายถึงเรื่องของอิสรออฺ (การเดินทางสู่สรวงสวรรค์) ของท่านศาสดามุฮัมมัดให้ฟังในแบบใหม่

 

หากจะบรรยายถึงข้อดีต่างๆ ที่มีอยู่ในหนังสือของ ดร.ฮัยกัลเล่มนี้ก็จะเปลืองหน้ากระดาษไปหลายหน้า ฉะนั้นจึงเป็นการเพียงพอแล้วที่จะชี้ให้เห็นประโยชน์เหล่านี้เป็นการทั่วๆ ไป

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านผู้อ่านจะได้ทราบถึงคุณค่าของงานชิ้นนี้ และจะได้เรียนรู้เป็นอย่างมากจากข้อถกเถียงที่มีเอกสารรองรับเป็นอย่างดีของ ดร.ฮัยกัล

การให้เหตุผลที่ดีและความเข้าใจที่ลึกซึ้งของท่าน ท่านผู้อ่านจะได้ประจักษ์ว่า ดร.ฮัยกัลนั้นอุทิศตนให้แก่สัจธรรมเท่านั้นและจะได้ทราบว่าท่านทำงานของท่านด้วยดวงใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแสงสว่าง และทางนำของวะหฺยุของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) รวมทั้งมีความรู้สึกนับถืออย่างใหญ่หลวง

ดร.ฮัยกัลมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าศาสนาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) นี้จะช่วยปลดปล่อยมนุษยชาติให้พ้นจากความสงสัยคลางแคลง และจากการนิยมวัตถุอย่างมืดมนได้อย่างแน่นอนและจะเปิดนัยน์ตาของมนุษย์ ให้ได้แลเห็นแสงสว่างแห่งความมีสำนึก และจะนำทางพวกเขาไปสู่แสงสว่างแห่งพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจะทำให้เขาได้ทราบถึงความเมตตากรุณาอันไม่สิ้นสุดของพระองค์

ดร.ฮัยกัลมีความมั่นใจว่าในไม่เร็วก็ช้ามนุษย์จะได้รู้ถึงบารมีของพระผู้เป็นเจ้า เหมือนดั่งที่ฟากฟ้าและแผ่นดินได้รับรู้แล้ว และได้สรรเสริญพระอำนาจของพระองค์ ซึ่งสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งมวลจักอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เบื้องหน้า

ท่านได้เขียนไว้ว่า

“อันที่จริงนั้นข้าพเจ้าไปไกลกว่านั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการศึกษาเช่นนี้อาจจะชี้ทางแก่มวลมนุษย์ทั้งปวง ให้ไปสู่อารยธรรมใหม่ ซึ่งมนุษยชาติกำลังควานหาอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากว่าชาวคริสเตียนตะวันตกจะหยิ่งทะนงเกินไปในการที่จะค้นหาแสงสว่างใหม่ในอิสลาม และในตัวศาสดาของอิสลาม แต่กลับเต็มใจที่จะรับมันไว้จากลัทธิที่เชื่อว่ามนุษย์จะสำเร็จได้ด้วยญาณของอินเดียและศาสนาอื่นๆ ของตะวันออกไกล ครั้นแล้วมันก็ตกทอดเป็นมรดกของนักบูรพคดีเอง หรือมุสลิม หรือยิว หรือคริสเตียนที่จะทำการศึกษานี้ในจุดมุ่งหมายและความยุติธรรมทั้งมวล เพื่อที่จะบรรลุถึงความจริงแท้และเพื่อสร้างความแท้จริง ความคิดแบบอิสลามนั้นวางอยู่บนวิธีการที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์และสมัยใหม่ในทุกเรื่องที่นำมนุษย์ไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ในด้านนี้มันเป็นสภาพที่เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ แต่มันจะกลายเป็นส่วนตัวในทันทีที่มันทิ้งธรรมชาติมาคำนึงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับจักรวาลทั้งหมดและกับพระผู้สร้างของเขา”

ดร.ฮัยกัลกล่าวต่อไปว่า

“อย่างไรก็ตาม นักต่อสู้ผู้บุกเบิกซึ่งต่อสู้กับลัทธิป่าเถื่อนที่มีอยู่ทั่วไป ในสมัยปัจจุบันนี้ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนภายใต้การสังเกตกระแสเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างใกล้ชิด บางทีพลังริเริ่มเหล่านี้อาจจะเติบโตขึ้นและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อนักวิชาการได้พบคำตอบแก่ปัญหาด้านจิตวิญญาณเหล่านี้ได้ โดยอาศัยการศึกษาชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) คำสอนของท่าน ยุคสมัยของท่านและการปฏิวัติโลกด้านจิตวิญญาณซึ่งท่านได้ริเริ่มขึ้น”