สนามแข่งโค้งสุดท้าย! การเมืองไทยปีใหม่ 2566

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สนามแข่งโค้งสุดท้าย!

การเมืองไทยปีใหม่ 2566

 

“ประชาธิปไตยจะเจริญเติบโตได้ต่อเมื่อฝ่ายค้านมีความเข้มแข็งและสื่อมีเสรีภาพ”

Syed Badiuzzaman

 

การเมืองไทยหลังปีใหม่ 2566 คือ การ “รอเลือกตั้ง” ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจนแล้วคือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่า การเลือกตั้งนี้จะไม่เกิดสภาวะ “สดุดระหว่างทาง” จนการเลือกตั้งต้องล้มพังพาบไป

เนื่องจากการเมืองไทยเดินทางมาไกล เกินกว่าจะถอยกลับไปสู่เส้นทางเก่าในแบบเดือนพฤษภาคม 2557 อีกแล้ว

 

ปลายทางระบอบรัฐสภา

เมื่อระบอบเลือกตั้งเดินทางมาจนถึงปลายทาง การประกาศยุบสภาจึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และหลังจากออกประกาศกฤษฎีกายุบสภาแล้ว การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลา 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ซึ่งเท่ากับมีนัยว่า การเลือกตั้งจะเป็นทิศทางหลักของการเมืองไทยในช่วงหลังปีใหม่

ในภาวะเช่นนี้คนบางกลุ่มอาจ “ขาดความยั้งคิด” ทางการเมือง ที่ต้องการหยุดการเลือกตั้งให้ได้ด้วยการ “ก่อกระแสขวาจัด” และหวังว่าการก่อกระแสเช่นนี้จะนำไปสู่ความวุ่นวายเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต้นปี 2557 อันจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการล้มการเลือกตั้ง และตามมาด้วยการยึดอำนาจ

แต่เมื่อกระแสการเลือกตั้งกำลังก่อตัวขึ้น อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของรัฐสภาชุดนี้ ชุดความคิดทางการเมืองแบบ “ขวาจัด-สุดโต่ง” เช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตของประเทศไทย

หากเกิดการล้มการเลือกตั้งจริง ผลที่ตามมาจะยิ่งขยายความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยให้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น จนอาจขยายตัวไปสู่ความรุนแรงได้ไม่ยาก

ว่าที่จริงแล้ว “สงครามกลางเมือง” ในเมียนมา ซึ่งเป็นผลจากการต่อต้านรัฐประหารคือ คำเตือนที่ชัดเจนสำหรับ “นักรัฐประหารไทย” ว่า การตัดสินใจยึดอำนาจรอบใหม่คือ หายนะใหญ่ต่ออนาคตของประเทศ

ฉะนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดของสังคมไทยในปี 2566 คือ การเปิดโอกาสให้การเมืองไทยเดินหน้าไปตามครรลองปกติอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะเกิดคำถามในทางวิชาการว่า การเลือกตั้งใหม่จะนำไปสู่ “การเมืองยุคหลังประยุทธ์” (The Post-Prayuth Regime) หรือไม่ หรือจะมีพลังพิเศษสุดที่ทำให้เกิด “ระบอบประยุทธ์ 66” แต่ถ้าระบอบนี้เกิดขึ้น ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ดังนั้น การเมืองในช่วงหลังจากปีใหม่จึงทำให้เกิดคำถามใน 2 ส่วนหลัก ดังนี้

 

คำถามต่อสถานการณ์การเมือง

การเมืองไทยหลังปีใหม่จะเป็น “โค้งสุดท้าย” ของการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจริงนั้น เรามีคำถามสำคัญ 12 ประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่

1) ความสัมพันธ์ของอดีตผู้นำรัฐประหารทั้งสามที่มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันนั้น เริ่มสะท้อนให้เห็นถึง “ปัญหาเอกภาพ” ของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่เคยยึดอำนาจร่วมกันมา และเป็นคำถามสำคัญว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นั้น สามผู้นำรัฐประหารจะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร อีกทั้งวาทกรรมที่เราใช้เรียกกันเสมอมาว่า “สาม ป.” นั้น จะยังใช้ได้อีกเพียงใดในปี 2566 เพราะภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ของ “สามนักรัฐประหาร” ดูจะไม่ไปในทางเดียวกันเท่าใดนักในปี 2565

2) ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองจึงเป็นคำถามว่า พวกเขาทั้งสามจะยังเดินไปต่อด้วยกันอีกจริงหรือไม่ หรือแนวคิด “แยกกันเดิน-รวมกันตี” เป็นเพียงวาทกรรมปลอบใจสำหรับกองเชียร์ที่ต้องการเห็นภาพเก่าๆ ที่บ่งบอกถึงความแนบแน่นทางการเมืองของผู้นำเดิม ทั้งที่ในความเป็นจริงของการเมืองในปี 2565 เริ่มสะท้อนถึงปัญหาเอกภาพของผู้นำรัฐประหาร อันอาจทำให้การเมือง 2566 เป็นปัญหา “หนึ่ง ป. vs สอง ป.” ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกว่า พวกเขากำลัง “เดินคนละทาง ชิงดาวคนละดวง”

3) การจะเดินไปต่อในทางการเมืองร่วมกันของ 3 ผู้นำรัฐประหารเดิมจะมีนัยโดยตรงต่ออนาคตของ “พรรคทหาร” ซึ่งได้แก่ พรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันอย่างมาก และผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของพรรคทหารหรือไม่ เนื่องจากจากพรรคทหารเกิดขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจ และดำรงอยู่ได้ด้วยเอกภาพของผู้นำรัฐประหารที่ผันตัวเองเข้าสู่สนามทางการเมือง แต่เมื่อถึงจุดพลิกผันแล้ว การแข่งขันทางการเมืองระหว่างผู้นำรัฐประหารเดิมย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

4) การแข่งขันระหว่างผู้นำรัฐประหารเดิมอาจมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งพรรคทหารใหม่ หรือเปิด “พรรคทหาร 2” ซึ่งพรรคใหม่คือรวมไทยสร้างชาติ จึงไม่ใช่การเปิด “สาขา 2” ของพรรคทหาร หากเป็นการจัดตั้ง “พรรคคู่แข่ง” มากกว่า กล่าวคือ ไม่ใช่การสร้าง “พรรคพี่-พรรคน้อง” เพื่อเป็นพันธมิตรทางการเมืองภายใต้วาทกรรม “แยกกันทางยุทธวิธี” ซึ่งประเด็นนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ บนความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารทั้ง 3 และยังเป็นผลจากปัญหาภายในพรรคทหารเดิมด้วย

5) ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ดูจะมีปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภา จนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นได้สร้างปัญหา “เอกภาพของพรรคร่วม” และกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ก่อให้ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลเองด้วย หรือเกิดสภาวะ “สงครามระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งต้องการชิงความได้เปรียบก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

6) ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้านจะเป็นอีกประเด็นที่ถูกจับตามองว่า การเป็นพันธมิตรของปีกฝ่ายค้านจะสามารถร่วมมือกันได้เพียงใด หรือจะร่วมกันสร้าง “พันธมิตรพรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ในสภาได้หรือไม่ แต่ปีกของพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็เผชิญการแข่งขันในสนามเลือกตั้งระหว่างกัน (ไม่แตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล) โดยเฉพาะการแข่งขายนโยบาย

7) แนวโน้มจากนี้ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลง จะเห็นถึงการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองจะรุนแรงมากขึ้น และการโจมตีทางการเมือง ที่มาพร้อมกับการใส่ร้ายป้ายสีจะมีมากขึ้นด้วย ประชาชนที่เป็นผู้เสพสื่อต้องแยกแยะ และไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของการโฆษณาให้ร้ายทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้าง “ข่าวปลอม” ที่บิดเบือน สื่อจึงต้องมีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยตรวจสอบ เพื่อสร้าง “สังคมข่าวสาร” อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเป็น “ผู้รับสารที่ชาญฉลาด”

8) การแข่งขันทางการเมืองในอีกด้านจะเน้นในเรื่องของการนำเสนอนโยบาย ซึ่งจากนี้จะมีนโยบายถูกนำเสนอขายให้แก่สังคมมากขึ้น และนโยบายมีแนวโน้มที่เป็น “ประชานิยม” มากขึ้นด้วย พร้อมกับการเสนอ “คำสัญญา” ในเรื่องทางเศรษฐกิจจากพรรคต่างๆ อันเป็นผลจากการที่ผู้คนในสังคมประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาค่าครองชีพ

9) การสร้างพันธมิตรของพรรคการเมืองจะผันแปรไปตามสถานการณ์ และจะเห็นชัดในท้ายที่สุดต่อเมื่อคะแนนการเลือกตั้งถูกประกาศ อันจะนำไปสู่จุดสุดท้ายคือ การสร้างพันธมิตรเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ “สมการรัฐบาลใหม่” ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของคะแนนจากสนามเลือกตั้ง

10) ผลการเลือกตั้งจะนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารหรือไม่ เนื่องจากเกิดการถดถอยของกระแสพรรคทหารและตัวผู้นำ อันเป็นคำถามทางวิชาการว่า ผลการเลือกตั้งจะพาสังคมก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้จริงเพียงใด อันจะมีนัยถึงการปรับเปลี่ยนกติกาทางการเมืองและลดทอนอิทธิพลขององค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร

11) ถ้าระบอบสืบทอดอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว ผู้นำรัฐบาลที่เคยเป็น “นักรัฐประหาร” มาก่อน จะยอมรับถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นได้เพียงใด และกลุ่มการเมืองขวาจัดจะ “ทำใจ” ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่ (เปรียบเทียบตัวแบบผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐและประธานาธิบดีโบลโซนารูในบราซิล) หรือจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองอีกหรือไม่

12) การรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งจะแวดล้อมด้วย 3 ประเด็นคู่ขนาน คือ “เอาประยุทธ์ vs ไม่เอาประยุทธ์” และ “เอาประชาธิปไตย vs ไม่เอาเผด็จการ” และ “เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ” วาทกรรมเหล่านี้ถูกประกอบสร้างเพื่อใช้เรียกเสียงสนับสนุนตาม “จริต” ของกลุ่มการเมืองในแต่ละภาคส่วน

 

คำถามต่อกลุ่มพลังการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองต่างๆ 6 กลุ่มในการเมืองไทย เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย ได้แก่

1) บทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ในการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร เนื่องจากกลุ่มทุนไทยเป็น “ทุนการเมือง” หรืออาจเรียกเป็น “ไทยออลิการ์ก” (Thai Oligarchs) เพราะอาศัยความแนบแน่นกับอำนาจรัฐ และเมื่อการเลือกตั้งมากถึง ทุนใหญ่เหล่านี้จะ “เทใจ” ไปสนับสนุนทรัพยากรให้กับพรรคใด เพราะทรัพยากรจากกลุ่มทุนใหญ่ยังเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งเสมอ

2) กองทัพจะเล่นบทบาทให้เหมาะสมกับการเป็น “กองทัพในระบอบประชาธิปไตย” ได้หรือไม่ คำถามเรื่องบทบาทของ “ทหารกับการเลือกตั้ง” ยังเป็นประเด็นที่ละเลยไม่ได้

3) คนรุ่นใหม่จะแสดงบทบาทอย่างไรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ลงเสียงครั้งแรก (first voters) จะ “ให้ใจ” กับพรรคใด พรรคที่เคยครองใจคนรุ่นใหม่จะยังได้เสียงเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่ และอะไรคือประเด็นที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ในการให้เสียงแก่พรรคตน

4) บทบาทของกลุ่มอนุรักษนิยมผนึกกำลังกับกลุ่มจารีตนิยมยังคงเป็น “พลังฝ่ายขวา” ที่ละเลยไม่ได้ในการเมืองไทย และเสียงของปีกนี้จะเทไปที่พรรคฝ่ายขวา ซึ่งจะเกิดการชิงเสียงของพรรคฝ่ายขวาด้วยกันเอง แต่พรรคฝ่ายขวาจะขายอะไรในการเลือกตั้งรอบนี้ (รอบที่แล้วขาย “ความสงบ”)

5) กลุ่มที่ประกาศตัวเป็น “พลังประชาธิปไตย” และไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ จะเทเสียงไปที่พรรคฝ่ายค้าน แต่ก็จะเกิดปัญหาแบบเดียวกันคือ การชิงเสียงของพรรคปีกนี้ในสนามเลือกตั้ง

6) มีความกลัวต่อกระแสของพรรคฝ่ายค้านที่มาแรง ทำให้เกิดคำถามถึง “องค์กรอิสระ” ว่ากระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” จะมีบทบาทเช่นไร และจะมีการใช้เครื่องมือชุดนี้ในการยุบพรรคฝ่ายตรงข้ามอีกหรือไม่ แต่การยุบพรรคจะทำให้การเมืองไทยเกิดวิกฤต และตามมาด้วยการต่อต้านอย่างแน่นอน

 

โค้งสุดท้าย!

การเมืองจากนี้ไปเป็น “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เห็นสภาวะ “6 ชิง” ได้แก่ “ชิงเสียง-ชิงคน-ชิงพื้นที่-ชิงทรัพยากร (เงินทุนสนับสนุน)-ชิงการนำ-ชิงความได้เปรียบ” ดังนั้น เราอาจกล่าวโดยสรุปในภาพรวมได้ว่า การเมืองจากปีใหม่ไปจนถึงการเลือกตั้งจะยิ่ง “ดุเดือด-เข้มข้น-ตื่นเต้น-เร้าใจ” อย่างแน่นอน

แต่เมื่อผู้ขับต้องใช้ความเร็วเต็มที่ในโค้งสุดท้ายนั้น มักมีคำถามเสมอว่า “ใครจะเข้าโค้ง และใครจะหลุดโค้ง” ในสนามแข่งขัน 2566!