วัยรุ่นยุค ‘ปีกระต่าย’ มันเหนื่อย จับเข่าคุยนักจิตวิทยา ภาวะซึมเศร้า ที่หลายคนคิดว่าตัวเองป่วย | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

วัยรุ่นยุค ‘ปีกระต่าย’ มันเหนื่อย

จับเข่าคุยนักจิตวิทยา

ภาวะซึมเศร้า ที่หลายคนคิดว่าตัวเองป่วย

 

เป็นวัยรุ่นยุคไหนก็เหนื่อย ที่สำคัญในปีกระต่าย 2566 มันมีโจทย์ที่ยากขึ้น ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมมองคนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหลายอย่าง ที่เข้ามาอิทธิพลต่อชีวิต ประกอบกับด้วยธรรมชาติของวัยรุ่น ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมือนตัวเรากำลังเปลี่ยนผ่าน จึงมากด้วยความสับสน

ถ้าเราย้อนไปเป็นเด็กสักสมัยประถม เราเริ่มค้นหาตัวเอง แต่พอมาเป็นวัยรุ่นเหมือนมีโจทย์ใหญ่ๆ ในชีวิต ที่บอกว่าฉันต้องรู้จักตัวเองให้ได้ ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต ฮอร์โมนมันเปลี่ยน ข้อเรียกร้องจากสังคมมันก็เปลี่ยน มันยากสำหรับลักษณะวัยรุ่นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเรามาดูวัยรุ่นยุคนี้ อย่างที่บอก โซเชียลและสิ่งแวดล้อมภายนอกมันเปลี่ยน ทำให้โจทย์มันยากขึ้น

วัยรุ่นที่ค้นหาตัวเอง เรามักจะเทียบตัวเรากับคนอื่นอยู่แล้ว ว่าเพื่อนเขาสวยอย่างงั้น เพื่อนเขาเก่งอย่างงี้ ฉันไปโรงเรียนฉันต้องรู้สึก แต่ตอนนี้โลกแห่งการเปรียบเทียบ โลกที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย มันไม่ได้อยู่แค่เมื่อเราออกจากบ้านไปเจอ แต่มันอยู่กับเราทุกที่ เนื่องจากในโทรศัพท์มือถือ/อินเตอร์เน็ตมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่ทำให้โจทย์มันยากขึ้น เพราะแทนที่เราจะมีที่ที่อยู่แล้วรู้สึกว่าปลอดภัย สำรวจตัวเองได้ เป็นตัวเองได้ แต่กลับเป็นว่าเราไม่มี เพราะฉะนั้นมันยาก

วัยรุ่นยุคปัจจุบันที่ยากอยู่แล้วยังมีสิ่งที่ทำให้ยากขึ้นไปอีก

 

ดังนั้น ทางบรรเทาปัญหา ผศ.ดร.ณัฐสุดาแนะนำว่า หนึ่งคือถ้าหยุดเปรียบเทียบได้ จะดีมากที่สุด เราต้องรู้จักตัวเอง อะไรที่มีจุดที่มันดีของเรา ซึ่งธรรมชาติของเรา มันมีการเปรียบเทียบ อย่างบางทีเราเคยได้ยินคำว่า การเห็นคุณค่าในตัวเอง ฉันรู้สึกว่าฉันมีค่า ฉันดี ถ้าเรามีความสุขนั้น เราจะรู้สึกว่าดีกับตัวเอง

แต่รู้ไหมว่า ด้วยธรรมชาติจริงๆ ของการที่รู้สึกว่าจะเห็นคุณค่าในตัวเอง มันก็จะมีลึกๆ ที่ฉันเทียบตัวฉันเองกับคนอื่น เช่น ฉันสวยกว่า ฉันผอมกว่า ฉันเก่งกว่า เราก็จะรู้สึกดี ว่าฉันต้องมีอะไรสักอย่างดีกับตัวเอง

แต่ถามว่าจริงๆ แล้วเราดีกว่าคนอื่น มีโอกาสที่เราจะชนะเลิศตลอดไหม ตอบว่าไม่

ถ้ารู้เท่าทัน เลิกเปรียบเทียบ กลับมามองคุณค่าของตัวฉันคืออะไร นั่นคือทางออกที่สำคัญที่สุด

แต่ทีนี้จะทำยังไง ให้ทำเช่นนี้ได้ มี 2 Step

อันที่ 1 เราต้องรู้ก่อนว่าเราเทียบคนอื่นอยู่ บางทีเราไม่รู้ตัวว่าเราเทียบคนอื่น เป็นความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น แล้วไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ทำนั้นคือการเปรียบเทียบอยู่ ถ้าเทียบแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ถ้ารู้ตัวว่าฉันกำลังเทียบ ฉันจะยุติการเทียบนะ

2. ฉันจะกลับมาสำรวจคุณค่าของตัวฉัน แบบตัวฉัน ถ้าทำได้แบบนี้ เราจะรู้ว่านั่นไม่ใช่ทางฉัน ไม่ใช่แนวฉัน ฉันก็ไม่น่าต้องมองอย่างนั้น

ถ้าเราทำแบบนี้ได้ เราก็จะหยุดเทียบได้ และเมื่อหยุดเทียบได้มันก็จะทำให้เรามีทิศทางในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าทำแบบนี้ได้ มันจะเป็นทางออกหลายๆ อย่าง

 

“สภาวะซึมเศร้า” เป็นอีกประเด็นสำคัญของคนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.ณัฐสุดาอธิบายว่า คำว่า “สภาวะซึมเศร้า” จะมีทั้งอารมณ์เศร้า และมีทั้งโรคซึมเศร้า แต่บางทีเวลาเราคุย เราเหมือนเหมารวม บางคนแค่รู้สึกประมาณว่าอกหักแล้วก็เศร้าเสียใจ นี่ฉันเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า? ถ้าเกิดมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นเพราะเหตุอันใดอันหนึ่ง แต่สามารถจัดการมันได้ มันก็ไม่ถึงขนาดเป็นโรคซึมเศร้า

แต่ทั้งสภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า มันมีมากขึ้นจริงๆ ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศเรา ในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง อเมริกาก็เป็นเช่นกัน และก็มักจะมีงานที่ศึกษาน้องๆ นิสิต นักศึกษาที่พบว่า พอเข้าสู่มหาวิทยาลัยมันเปลี่ยนผ่าน มักจะมีจังหวะที่ลักษณะอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ถามว่าเพราะอะไร อันนี้ตอบยากมาก แม้กระทั่งถามนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เอง สาเหตุของโรคซึมเศร้า มองได้จากหลายมุม ทั้งทางปัจจัยชีวภาพ ปัจจัยทางสังคมวิทยา ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม บางคนเชื่อว่ามันเป็นเพราะสารเคมีในสมอง แต่บางคนเชื่อว่าปัจจัยอื่น

ถ้าถามในฐานะนักจิตวิทยา ก็รู้สึกว่า มันมีหลายปัจจัย ยกตัวอย่างบางคนที่มีลักษณะว่า ที่บ้านมีกรรมพันธุ์ มีความยากลำบากในการจัดการทางอารมณ์ ชีวิตเขายากมาก อยู่ในภาวะที่กดดัน เจอความผิดหวังมาตลอด หรือถ้าเกิดในต่างประเทศเจอภาวะอากาศที่มันมัวๆ อย่างมีไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ ฝนตกหนักๆ ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน สภาวะอากาศมัวๆ ไม่มีแสง ล้วนแต่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า

แต่ถามว่าถ้ามาดูดีๆ ว่าเกิดขึ้นจากอะไรจริง จากมุมมองของดิฉัน ถ้าเราเริ่มจากสามารถตระหนักรู้ให้เท่าทันอารมณ์ของเรา ว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้ว่ามีความเศร้า เรารู้ว่ามันเริ่มเศร้ามากไปแล้ว ไม่สามารถจัดการได้ แล้วเราสามารถแสวงหาความช่วยเหลือได้ ไม่ให้มันเหมือนกับว่า พัฒนาจนกระทั่งเป็นโรค อันนั้นจะเป็นทางที่เราสามารถจัดการได้

บางความเชื่อ เชื่อว่าจำเป็นต้องกินยาเพื่อให้ปรับสารเคมีในสมอง

จริงๆ ถ้าเราคิดในเมื่ออารมณ์ของเรามันเกิดขึ้นจากพฤติกรรม มันเกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสิ่งที่เราเจอ สมมุติเรากินยา แล้วเราก็ทำแบบเดิม เจออันนี้เกิดขึ้น เราก็รู้สึกแบบเศร้า หน่วง ไม่ทำอะไร ไม่พูดกับใคร ไม่จัดการปัญหา กินยาเท่าไหร่ เราก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมทางสมอง ทางอารมณ์ของเรา มันมาด้วยกันหมดนะ

สมมุติว่าเรากินยา แล้วเขาปรับสารเคมีในสมองเราดีขึ้น แต่เรายังคงใช้ชีวิตรูปแบบเดิม เราจะเป็นเหมือนเดิมไหม? ถ้าเราเจอสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น เจอสิ่งกระตุ้นตัวเดิม

ฉะนั้น เมื่อเราพูดถึงสาเหตุ เราต้องพูดถึงทางออกด้วยว่า สมมุติถ้ายังไม่ยกระดับจนกระทั่งเป็นถึงโรค รู้เท่าทันก่อนนะ ถ้ามันเศร้าจนขนาดที่เรารู้สึกว่า ง่ายๆ ที่สุด สิ่งที่เราเคยทำให้มีความสุขที่สุดในชีวิต เราไม่มีแล้ว มันเป็นสิ่งชี้วัดบางอย่าง

สมมุติอย่างเช่น เจอปัญหาหนักๆ ในชีวิตมา แล้วเราใช้คำว่า สอบไม่ได้ คะแนนต่ำกว่าที่คิด เราก็รู้สึกแย่ไม่สบายใจ แล้วเราก็ใช้วิธีย้ำคิด ทบทวนกับตัวเอง ทำไมมันเป็นแบบนี้ ทำไมฉันถึงซวย คนนู้นเขารังแกฉัน คิดอยู่อย่างนี้ตลอด มันก็จะนำไปสู่การจัดการปัญหาค่อนข้างลบ ทำให้เราวนๆ อยู่ในอ่าง

ดังนั้น คิดแบบนี้ มันก็จะมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าที่มากขึ้น

ถ้าเกิดว่าเรารู้สึกสิ่งที่เราทำมันวนอยู่ในอ่าง มันบ่งชี้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ Work ควรจะหาวิธีใหม่เพิ่ม

เชียร์ให้แสวงหาความช่วยเหลือใหม่เถอะ ให้มีตาที่สาม หูที่สาม ใจที่สาม ที่มาคอยช่วยฟังเรา ช่วยเข้าใจเรา ช่วยเป็นเพื่อนกับเรา

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดาบอกอีกว่า บางคนชอบบอกว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้า คนรอบข้างบอกใช่เหรอ ดิฉันว่าจริงๆ สำคัญที่สุดเลย ขีดเส้นใต้หนาๆ คือ การที่ใครจะบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้! เพราะคนที่จะวินิจฉัยได้คือจิตแพทย์ เป็นผู้ที่มีหน้าที่วินิจฉัย เพราะมันมีเกณฑ์ของมัน มีความยาวของมัน ว่าระยะเวลาอย่างน้อยกี่วันกี่สัปดาห์ อาการอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าฉันเป็นซึมเศร้า แต่เพื่อนบอกว่าแกไม่ได้เป็น จริงๆ ไม่ควรจะเถียงกัน หรือไม่ควรที่จะจิกตีกัน ใช้คำนี้ ถ้าถามว่าเพราะอะไร สิ่งที่ควรจะรู้ Message อันที่หนึ่ง คือตัวเรา แปลว่าขณะนั้นเรากำลังมีความไม่สบายใจอะไรบางอย่าง และอยากจะได้คำตอบว่าทำไมฉันถึงไม่สบายใจ บางทีคำว่าโรคซึมเศร้าเป็นคำที่ติดแล้วรู้สึกว่ามันหาแหล่งได้ง่ายที่จะอธิบาย

เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะเริ่มตีตราตัวเองว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้าแล้วก็เริ่มอธิบายทุกอย่างว่าที่ฉันทำอย่างนี้เพราะฉันเป็น

ที่จริงแล้วถ้าเรามาทำความเข้าใจว่าตอนนี้เรากำลังไม่สบายใจ ไม่ต้องตีตรา ไม่ต้องเรียกมันว่าอะไร แต่ถ้าคิดว่าอยากจะรู้จริงๆ ว่าเป็นอะไร ก็ไปรับคำวินิจฉัยจากแพทย์ รู้สึกว่าโอเคฉันไม่สบายใจ ก็ต้องแสวงหาความช่วยเหลือ หานักจิตวิทยาได้