ขึ้นค่าแรงคือการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

หลังปีใหม่การถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็หายวับไปอย่างรวดเร็วพอๆ กับที่ประเด็นนี้เป็น “กระแส” ขึ้นมา และนอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยที่ขึ้นป้ายคุณแพทองธาร ชินวัตร พร้อมนโยบายนี้ รวมทั้งพรรคก้าวไกลทำคลิป ส.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พูดเรื่องนี้ พรรคการเมืองอื่นในประเทศก็ไม่มีใครพูดเรื่องนี้อีกเลย

เมื่อพรรคการเมืองลดการพูดเรื่องนี้ลง ส.ส., สื่อ และกองเชียร์พรรคที่เคยพูดเรื่องนี้ก็เลิกพูดตามไปด้วยจนพื้นที่ข่าวนี้หายไปหมด

ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่พูดกันสนั่นจึงจบไปเฉยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหลือเพียงแค่รอเลือกตั้งแล้วลุ้นว่าจะมีพรรคไหนทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นแค่สงครามน้ำลาย

อย่างไรก็ดี ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่กระทบชีวิตประชาชนหลายสิบล้านคน ถ้าขึ้นน้อยไปคนจนก็พัง แต่ถ้าขึ้นมากไปกิจการก็เจ๊ง

ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจึงใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้นักการเมืองใช้เป็นสงครามน้ำลายพูดเพื่อสร้างกระแสหาเสียงอย่างเดียวแบบที่ผ่านมา

 

การหาเสียงคือการประกาศให้ประชาชนรู้ว่านักการเมือง, พรรคการเมือง และ “นาย” ของพรรคต่างๆ จะทำอะไรเมื่อได้เป็นรัฐบาล การหาเสียงจึงไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งหาเสียงด้วยนโยบายยิ่งดีกว่าชนะเลือกตั้งโดยซื้อเสียง, ใช้อิทธิพลขัดขวางคู่แข่งหาเสียง รวมทั้งใช้ผู้ว่าฯ และ กกต.เป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่าการหาเสียงเปิดโอกาสให้คนเฮงซวยในคราบพรรคและนักการเมืองพูดส่งเดชหลอกลวงประชาชน

แต่การหลอกระดับบุคคลเป็นเรื่องที่ทุกคนรังเกียจฉันใด การหาเสียงหลอกคนเป็นล้านก็ยิ่งน่ารังเกียจขึ้นหลายเท่าตัวฉันนั้น และไม่มีทางเลยที่คนแบบนี้และพรรคแบบนี้จะไม่ถูกเช็กบิล

พลังประชารัฐคือตัวอย่างของพรรคที่มีโอกาสเป็นตำนานพรรคที่ถูกกล่าวหาพูดไม่จริง เพราะไม่มีพรรคไหนที่ประชาชนวิจารณ์ว่าไม่รักษาคำพูดเท่าพลังประชารัฐ นโยบายที่พลังประชารัฐประกาศว่าจะทำแล้วไม่ทำมีเยอะไปหมด แต่ข้อแก้ตัวที่ฟังได้นั้นมีน้อยมาก เพราะพลังประชารัฐคือพรรคแกนนำรัฐบาล

ในการเลือกตั้งปี 2566 แค่ถึงเวลาที่พลังประชารัฐหาเสียงก็ย่ำแย่แล้ว เพราะนอกจากหัวหน้าพรรคจะพูดเรื่องนโยบายไม่ได้ ทั้งพรรคก็ไม่เหลือใครที่พูดนโยบายแล้วน่าเชื่อถือ

และหากมีใครใจกล้าพอจะพูด สื่อและประชาชนก็จะรุมด่าว่าพูดแล้วก็ส่อโกหกเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมา

ต่อให้พลังประชารัฐเคลียร์กับคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เรื่องตำแหน่งในพรรคสำเร็จ และต่อให้คุณมิ่งขวัญยอมอยู่พรรคทั้งที่ถูกเบี้ยวเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ตามที่คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ตกลงไว้ คุณมิ่งขวัญก็ล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือจนแก้ตัวให้พลังประชารัฐซึ่งเละแล้วได้ยาก ถึงคุณมิ่งขวัญจะอมโบสถ์ทั้งหลังมาพูดก็ตาม

เลือกตั้งรอบนี้พลังประชารัฐขลาดจนไม่พูดคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเลย แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพลังประชารัฐ พรรคใหม่ของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปอดแหกจนไม่พูดคำนี้ด้วย เพราะคุณประยุทธ์ขัดขวางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจนค่าแรงปีนี้อยู่แค่ 354 บาท หรือขึ้นแค่ 54 บาทใน 8 ปีที่คุณประยุทธ์ยึดแผ่นดิน

คุณประยุทธ์โหดที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 7 บาท หรือเท่ากับปีละ 2.25% และความโหดของคุณประยุทธ์จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นค่าแรงจาก 225 เป็น 300 หรือเพิ่มขึ้น 33% ในสองปีที่เป็นนายกฯ แม้ผลกระทบกับนายจ้างจะมีจนหลายกิจการไม่ฟื้นอย่างที่เคยเป็นก็ตาม

 

ค่าจ้างขั้นต่ำคือค่าจ้างสำหรับคนงานที่ไม่มีทักษะการทำงานเลย คนงานที่กินค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จึงได้แก่คนงานใหม่และคนงานที่ใช้แรงงานล้วนๆ จนเป็นคนงานกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อยมาก และนั่นย่อมทำให้นายจ้างจ่ายค่าแรงให้คนงานกลุ่มนี้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ตลอดเวลา

คนที่เกิดบนกองเงินกองทองย่อมไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่บ่นเรื่องเงินไม่พอใช้แทบทุกเดือน เหตุผลง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่รายได้ต่ำกว่ารายจ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทางออกของคนเป็นล้านในประเทศจึงได้แก่เป็นหนี้, ทำงานล่วงเวลา และถ้าโชคดีก็หารายได้จากการทำหลายงานพร้อมกัน

ผมให้ความสำคัญต่อคนงานหรือ “กรรมกร” ตั้งแต่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ความสนใจของผมต่อเรื่องนี้มีมากจนเรียนเสร็จบ่ายๆ ก็นั่งรถเมล์สาย 82 ไปสุขสวัสดิ์-พระประแดง เพื่อคุยกับคนงานและสหภาพนับไม่ถ้วน จากนั้นสี่ทุ่มก็นั่งรถเมล์มาธรรมศาสตร์แล้วเดินกลับบ้านที่เทเวศร์ตอนเที่ยงคืน

สำหรับคนชั้นกลางและคนรวยที่ “เวลา” คือ “โอกาสใช้ชีวิต” จนไม่อยากทำงานล่วงเวลา หนึ่งในเรื่องที่คนงานไทยพิพาทกับนายจ้างคือความต้องการทำงานล่วงเวลาให้มากที่สุด เพราะงานโอทีคือโอกาสหาเงินเพิ่มให้พอค่าใช้จ่าย หลายโรงงานถึงกับประท้วงที่นายจ้างลดการทำงานล่วงเวลา

ทุกครั้งที่มีการพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างและลูกจ้างที่คิดว่าตัวเองไม่ใช่ลูกจ้างมักพูดว่าคนงานได้ค่าแรงเกินกว่าอัตราขั้นต่ำเยอะแล้ว แต่ความจริงคือรายได้ส่วนเกินนั้นมาจากการทำงานนานกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ก็เป็นลูกจ้างที่มีทักษะและอายุงานมากจนไม่ใช่กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้นเอง

 

รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานมีข้อมูลมานานแล้วว่า “รายจ่ายจริง” ที่คนงานต้องใช้เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตนั้นเกินกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เกือบเท่าตัว การกดค่าแรงงานจึงเป็นการบีบคนงานให้เป็นหนี้ หรือไม่ก็ทำงานล่วงเวลาจนไม่มีโอกาสในการพัฒนาชีวิตหรือฝีมือแรงงาน

รัฐบาลและนายจ้างที่เป็น “สลิ่ม” มักโจมตีว่าคนจนคิดไม่เป็นจนหนี้ท่วมและไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง แต่ด้วยการกดค่าจ้างขั้นต่ำให้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมาเกินครึ่งศตวรรษ รัฐบาลและนายจ้างที่เป็น “สลิ่ม” ต่างหากที่ทำให้คนจนจมปลักอยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เลย

คนงานไม่ใช่เทวดา และแน่นอนว่าไม่ใช่คนงานทุกคนจะเป็นพนักงานในฝันที่ทุ่มเทพัฒนาตัวเองไม่รู้จบ แต่ด้วยโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐและนายทุนจงใจกดให้ต่ำกว่ารายจ่ายจริง กว่าที่คนงานสักคนจะพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ถ้าคนงานต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง หรือ “สองกะ” เพื่อให้ได้เงินเพียงพอสำหรับการกินอยู่ เวลาที่เหลืออีกวันละ 8-12 ชั่วโมงย่อมไม่พอต่อการพัฒนาตัวเองในด้านไหนแน่ๆ

เพราะเลิกงานก็มีเวลาแค่พอให้กินกับนอนได้เท่านั้น จะเอาเวลาเรียนหรืออบรมอะไรก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

พูดกันเยอะว่าเศรษฐกิจไทยต้อง “อัพเกรด” จากการรับจ้างประกอบชิ้นส่วนสินค้าส่งออกชนิดต่างๆ เป็นประเทศที่เน้น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”, “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “อุตสาหกรรมอนาคต”

แต่ปัญหาคือทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ตราบใดที่คนงานถูกกดค่าแรงจนหนี้ท่วมหัวขั้นแทบไม่มีที่ซุกหัวนอน

 

ด้วยการดันทุรังกดค่าแรงอย่างที่คุณประยุทธ์ทำเพื่อเอาใจนายจ้าง “สลิ่ม” มาตลอด 8 ปี คนงานไทยถูกแช่แข็งให้เป็นคนงานไร้คุณภาพจนไม่มีทางที่การอัพเกรดประเทศจะประสบความสำเร็จได้อย่างกว้างขวาง ไม่ต้องพูดถึงการสร้าง “อุตสาหกรรมอนาคต” ที่ทุกวันนี้ยังแทบไม่มีอนาคตเลย

เพื่อไทยและก้าวไกลควรได้คำชื่นชมจากการพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง ขณะที่พรรครัฐบาลไม่พูดเรื่องสำคัญแบบนี้แม้แต่น้อย ความเห็นที่ตรงกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลแบบนี้ชี้ว่าสองพรรคนี้ต้องเป็นพันธมิตรกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่อวดอุตริเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาล

เพื่อไทยควรได้เครดิตที่พูดเรื่องให้คนงานพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Reskill)

แต่นโยบายเพื่อไทยก็ไม่ชัดเจนว่าจะใช้ใครหรือหน่วยงานไหนทำเรื่องนี้เสร็จใน 5 ปีอย่างที่ประกาศ เพราะหน่วยงานหลักคือสถาบันการศึกษาไม่มีกำลังพอจะทำเรื่องนี้เร็วอย่างที่เพื่อไทยต้องการ

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด นโยบายดีๆ ก็ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติดีๆ ในเวลารวดเร็วฉันนั้น แต่การตั้งต้นถูกต้องคือทางเดียวในการสร้างความเจริญให้ประเทศโดย “อัพเกรด” ประเทศให้ออกจากประเทศรายได้เป็นกลางที่คุณประยุทธ์พูดแบบคนไม่รู้เรื่องมากว่า 8 ปี