อัตราต่อรอง ซีกรัฐบาลหลังเลือกตั้ง | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ไม่มีใครซื้อเวลาได้ แม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะฉลาดปราดเปรื่อง งัดกลยุทธ์ใดมาเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนกฎข้อบังคับ เพื่อเลื่อนโปรแกรมเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อนับอายุราชการของ “สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน” ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะครบเทอม 4 ปีเต็มอยู่หรัดๆ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ชิงยุบสภาก่อนกำหนด

ประชาชนพลเมืองจะมีโอกาสออกมากำหนดชะตากรรมสังคมร่วมกัน บนเส้นทางประชาธิปไตยทางตรงอีกคำรบไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 จะยึกยักตามบทถนัด ย่อมหมดสิทธิ์

เวลาทองคำเป็นของประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย จะได้แสดงพลังออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเท่าเทียมกัน เลือกคนที่ไปทำหน้าที่ “ผู้แทนตน” ในรัฐสภา

ตามกฎกติกาของการเลือกตั้งทั่วโลก จะเอาคะแนนเสียงของผู้สมัคร-พรรคการเมืองที่เหนือกว่าเป็นผู้ชนะตามมาตรฐาน แต่ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยผสมผสานกึ่งเผด็จการทางอ้อม “ขบวนการลากตั้ง” มีอิทธิพลแบบรวมศูนย์ เข้ามามีบทบาทในการยึดครองอำนาจบริหาร “ชนะเลือกตั้ง” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป

ศึกเลือกตั้ง 2566 การเมืองโฟกัสไปที่ “น้องเล็ก-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กับ “พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ มากกว่าใครเพื่อน “2 ป.” พี่น้องร่วมสาบาน รักกัน ห่วงใยดั่งพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนาน รู้ไส้รู้พุงว่ามีกี่ขด รู้กันทุกสิ่งทุกอย่าง วันนี้ ถึงจะยังไม่ประกาศตัวเป็นศัตรูต่อกัน แต่ “แยกกันเดิน” เป็นที่เรียบร้อย

“ป.ประยุทธ์” ประกาศเสียงดังฟังชัดแล้ว ไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ “ป.ประวิตร” เป็นหัวหน้าพรรค ไปร่วมรบสร้างบ้านหลังใหม่คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ในนามแคนดิเดตบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ “พี่ใหญ่” ลูกหาบประกาศลั่นกลองรบเป็น “ผู้ท้าชิง” ในฐานะแคตดิเดตนายกรัฐมนตรี พปชร. เท่ากับว่าสถานการณ์บีบบังคับให้ 2 พี่น้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันไม่ได้ เพราะโดยพฤตินัย การเป็นเบอร์ 1 บัญชีรายชื่อ คือการเปิดศึกรบพุ่ง ชิงดำเก้าอี้หมายเลข 1 ตึกไทยคู่ฟ้า ระหว่างกัน จะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

 

ทีนี้ลองตามไปดูว่า ระหว่าง “ป.ประยุทธ์” กับ “ป.ประวิตร” ใครจะมีภาษีดีกว่ากัน

เริ่มจากแชมป์เก่า “บิ๊กตู่” ต้องรับสารภาพว่า ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อย่างสิ้นเชิง การอยู่ในศูนย์อำนาจแบบผูกขาดนานมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 ความรู้สึกแบ่งออกเป็น 3 คาบช่วง

ระยะแรก มีเสียงชื่นชม เยินยอ ยินดี ให้กำลังใจ

ระยะที่สอง มีบ่น แสดงปฏิกิริยาตอบโต้หลายรูปแบบ

ระยะที่สาม เริ่มด่า ถนนทุกสายรุมกินโต๊ะ ความนิยมที่เคยเอกอุมาตลอดตกต่ำอย่างน่าใจหาย การบริหารถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความน่าเชื่อถือ ล้มเหลวในการแก้ปัญหาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เดือดร้อนหนักในทุกภาคส่วน

ที่ทรุดหนักคือ หลักนิติธรรม-คุณธรรม โดยเฉพาะ “ความโปร่งใส” ที่เคยนำมาเป็นข้ออ้าง เป็นจุดแข็ง ล่าสุดน้ำลดตอผุด หลักธรรมาภิบาลชำรุด มีการซื้อขายตำแหน่ง ถูกจับได้คาหนังคาเขา แล้วมีการอุ้มกระเตงกันออกหน้าออกตา แบบไม่เกรงกลัวอะไรเลย

กอปรกับอายุราชการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากได้รับชัยชนะจากศึกเลือกตั้งครั้งหน้า “บิ๊กตู่” ตีนตุ๊กแกได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ก็จะจบข่าวบริบูรณ์ ตามที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมากวินิจฉัย 6 ต่อ 3 เสียง ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไปสิ้นสุดตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 จากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คือวันที่ 6 เมษายน 2560

เท่ากับว่าความเป็นนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” จะครบ 8 ปีเต็มในวันที่ 5 เมษายน 2568 หากป้องกันแชมป์ ยึดตึกไทยคู่ฟ้าได้อีกสมัย ก็ไปต่อได้ไม่ถึง 2 ปีต้องลงจากหลังเสือโดยอัตโนมัติ

ขนมเลยผสมน้ำยา การที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซุป’ตาร์ขาใหญ่ ทำเนียนประกาศเปิดตัวกับ รทสช.เลยปรากฏว่า ไม่มีอะไรหวือหวา เสียงขานรับค่อนข้างเบาหวิว ขนาดนักเลือกตั้ง เจ้าของพื้นที่ตัวจริง กระโจนลงเรือลำเดียวกันน้อยมากๆ ไปๆ มาๆ เลยไม่หวังชนะเลือกตั้ง ขอเพียงแค่ผ่านเกณฑ์เกินร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. 2 ระบบ โดยคาดหวังว่า “อำนาจอื่น” มาเป็นตัวช่วยให้ยึดครองศูนย์อำนาจได้สำเร็จอีกคำรบ

มีการสำรวจตรวจแถว ส.ส.ที่จะเดินตามไปร่วมรบกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ระบบเขตเลือกตั้งที่เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเพื่อนเฮ้ง ภายใต้ร่มเงา “สุชาติ ชมกลิ่น” ประมาณ 10 ที่นั่ง “กลุ่มเตาปูน” ของ “ชัชวาลย์ คงอุดม” อีกจำนวนหนึ่ง และ “กลุ่มเสธ.หิมาลัย” อีกเล็กน้อย ขณะที่เลือดที่ไหลจากประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เป็นตัวกลั่นจากบัญชีรายชื่อ

ขณะที่ในส่วนของ “พี่ใหญ่บ้านป่ารอยต่อฯ” ที่ประกาศท้าชิงนายกฯ คนที่ 30 จากศึกเลือกตั้งใหญ่ พปชร.ได้ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อทั้งหมด 118 ที่นั่ง จากศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 แต่ถูกเพื่อนเกลอ “ภูมิใจไทย” ดูดไปต่อหน้าต่อตาเสีย 14 คน ตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ไป รทสช.กับกลุ่มเพื่อนเฮ้ง และอื่นๆ อีก 10 กว่าที่นั่ง

แต่กระนั้นก็ตาม พปชร.ของ “บิ๊กป้อม” ยังมีสายแข็ง-บ้านใหญ่ ร่วมหัวจมท้ายอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะกลุ่มเพชรบูรณ์กับ “สันติ พร้อมพัฒน์” กลุ่มโคราชใต้ร่มเงา “วิรัช รัตนเศรษฐ์” กลุ่มปากน้ำ ของบ้านใหญ่ “อัศวเหม” ก๊วนกำแพงเพชร ที่มี “วราเทพ รัตนากร” คุมฐานที่มั่น

เหนืออื่นใด คือกลุ่ม “สามมิตร” ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-อนุชา นาคาศัย” แม้ลูกข่ายจะถูกดูดไปบ้างบางส่วน แต่ยังถือว่าเป็นสายแข็งและทรงพลังอยู่มาก

มีข่าวคลุกวงในว่า มีการส่งมือดีไปเจรจา หมายดึง “กลุ่มสามมิตร” ให้ย้ายขั้วไปรวมไทยสร้างชาติ เป็นฐานที่มั่นให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ยังตกล่องปล่องชิ้นกันไม่ลงตัว โอกาสที่ “สามมิตร” จะปักหลักกับ พปชร.มีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแยกกันเดินระหว่าง “ป.ประยุทธ์” กับ “ป.ประวิตร” วงพนันเปิดโต๊ะให้แทงหลายมุม หลายหู เป็นต้นว่า “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” ใครได้รับเลือกตั้งมากกว่ากัน เฮียเส็งชี้แดง เฮียแสงชี้น้ำเงิน ราคาเสมอไหนเสมอกัน

แต่อัตราต่อรอง พรรคไหนได้อยู่ซีกรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐของ “พี่ป้อม” ต่อหนึ่งลูก-ครึ่งควบลูก

แถมเจ้ามือรับไม่อั้น เป็นซะยังงั้น