2 คน 2 คดีดังในกรมอุทยานฯ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน

 

2 คน 2 คดีดังในกรมอุทยานฯ

 

เข้าสู่ปี 2566 เต็มไปด้วยข่าวใหญ่เขย่าสังคม เขย่าการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หนึ่งในนั้นคือ การบุกจับข้าราชการระดับอธิบดีของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในข้อกล่าวหาทุจริตเรียกรับเงินแต่งตั้งโยกย้ายและเงินส่วยรายเดือนจากข้าราชการในสังกัด

เป็นการจับกุมในห้องทำงาน แถมค้นภายในห้องยังเจอเงินสดๆ อีกราว 5 ล้านบาท แม้ว่านายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีที่ถูกจับกุม จะยืนยันปฏิเสธ ไม่รู้ไม่เห็นกับเงินเหล่านี้ ซึ่งจะต้องต่อสู้พิสูจน์ความถูกผิดกันต่อไป

แต่สำหรับประชาชนแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ ข้าราชการระดับสูงเช่นนี้ ถูกจับข้อหาทุจริตร้ายแรงอันเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ เป็นเรื่องที่น่าจะต้องขุดคุ้ยสะสางกันต่อไป โดยส่วนใหญ่เชื่อด้วยว่าโดยวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ต้องมีการรีดลงมาเป็นทอดๆ น่าสงสัยว่าระบบส่วยในกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีปลายทางที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าข้าราชการหรือไม่

แน่นอนว่า นายรัชฎาจะผิดจริงหรือไม่ ยังสรุปไม่ได้

เพียงแต่การจับกุมคนระดับนี้ ถ้า ป.ป.ช. และตำรวจ บก.ปปป.ไม่มีพยานหลักฐานรองรับพอสมควร คงไม่สามารถดำเนินคดีได้ง่ายๆ

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเปิดเผยต่อสังคมให้เห็นเส้นทางความเป็นมาของนายรัชฎา ซึ่งไม่ธรรมดา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พี่ชาย ซึ่งเป็นนายทหารยศพลเอก เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเป็นหัวหน้าสำนักงาน ผบ.ทบ.ด้วย

แถมหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวแค่วันเดียว ยังไม่ทันที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือปลัดกระทรวง จะขยับสอบสวนหรือโยกย้ายอธิบดีรายนี้

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นคำสั่งในวันที่ 28 ธันวาคม หลังการจับกุมในวันที่ 27 ธันวาคม สั่งเด้งนายรัชฎา ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ในทันที

จนเป็นที่ฮือฮาว่า สั่งเด้งตัดหน้ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

ทั้งที่โดยบุคลิกและพฤติกรรมของนายวราวุธ น่าเชื่อว่าคงไม่ไปรู้เห็นกับเรื่องอื้อฉาวซื้อขายตำแหน่ง และนายรัชฎาก็ไม่ใช่คนสนิทที่จะต้องไปปกป้องอะไร จึงไม่มีความจำเป็นที่นายกฯ จะต้องไปเซ็นย้ายแบบตัดหน้ากันเช่นนี้

ดังนั้น เชื่อว่า การรีบสั่งย้ายด้วยมือตัวเอง เพียงแค่วันเดียวหลังเกิดเหตุ น่าจะเป็นเพราะคดีนี้ส่งผลสะเทือนต่อนโยบายปราบโกง ที่เอามาอวดอ้างตลอด จึงต้องรีบใช้อำนาจนายกฯ เข้ามาจัดการ เพื่ออ้างว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจัง และเปิดทางให้ ป.ป.ช.และตำรวจสอบสวนได้อย่างเต็มที่

อีกเหตุผลก็คือ เพราะเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวนั่นเอง!

ตะลึงเงินเป็นฟ่อน

นอกจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะปฏิเสธว่าไม่มีพฤติกรรมเรียกรับเงินดังกล่าวแล้ว ยังให้การกับตำรวจอ้างว่า เพราะมีข้อขัดแย้งส่วนตัวกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเป็นผู้เข้าร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.กล่าวหาอธิบดี

การอ้างข้อขัดแย้งส่วนตัว คงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะพยานหลักฐานในทางคดีจะเป็นเครื่องชี้มากกว่า ว่ามีการเรียกรับเงินส่วยจริงหรือไม่

แต่เท่ากับเป็นการเปิดตัวนายชัยวัฒน์ ซึ่งถือเป็นอีกข้าราชการคนดังของกรมอุทยานแห่งชาติฯ

โดยเฉพาะขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีลักษณะแข็งกร้าว ในปฏิบัติการย้ายชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ป่า โดยมีภาพถ่ายทรัพย์สิน บ้านเรือน ยุ้งข้าว ของชาวบ้านถูกเผาไฟโชน

จากนั้นนายชัยวัฒน์ยังต้องคดีร้ายแรง กรณีการหายตัวของบิลลี่หรือนายพอละจี รักจงเจริญ เด็กหนุ่มแกนนำชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งมีความรู้ภาษาไทย ทำให้เป็นหลักในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน และเป็นพยานปากเอกในการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในเหตุการณ์เผาไร่เผาบ้าน

จนกระทั่งปี 2557 บิลลี่ก็หายตัวไป

จนสุดท้ายถูกพนักงานสอบสวนดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานจนสรุปได้ว่า ถูกฆ่าและเผาทำลายศพ ก่อนทิ้งน้ำภายในแก่งกระจาน จึงตั้งข้อหานายชัยวัฒน์กับพวก ในคดีร่วมกันฆ่า

แต่รอบแรกนั้น อัยการไม่เห็นพ้อง ตีตกข้อหาฆาตกรรม จากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษรวบรวมข้อมูลแย้งกลับไปยังอัยการสูงสุดให้พิจารณาฟ้องร้องข้อหาฆ่าบิลลี่ จนในที่สุดเมื่อปลายปี 2565 อัยการสูงสุดจึงเซ็นฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกในข้อหาฆ่าดังกล่าว

ขณะนี้คดีได้ขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งนายชัยวัฒน์ให้การปฏิเสธ

แน่นอนว่า การเดินเครื่องร้องเรียนเอาผิดอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จนส่งผลให้กลายเป็นคดีใหญ่โต ทำให้อธิบดีถึงกับเก้าอี้หัก และจะต้องใช้เวลาไปกับการต่อสู้คดีอีกยาวนานไม่น้อย

คงส่งผลให้นายชัยวัฒน์มีภาพเป็นฮีโร่ ในการปกป้ององค์กร กรมอุทยานแห่งชาติฯ

เป็นภาพในทางบวก หลังจากที่นายชัยวัฒน์ต้องประสบชะตากรรมสาหัส เมื่อโดนคดีร้ายแรง ข้อหาฆาตกรรมบิลลี่

แต่อีกด้าน เมื่อมีชื่อนายชัยวัฒน์โผล่เข้ามาในคดีที่เอาผิดอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ย่อมทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพ คนดัง 2 คน ข้าราชการดัง 2 ราย โคจรมาพบกันในคดีทุจริตเรียกรับส่วยในหน่วยงานเกรดเอ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่คดีซึ่งนายชัยวัฒน์ตกเป็นจำเลย กำลังขึ้นพิจารณาคดีในชั้นศาล จะผิดหรือถูก ยังต้องรอคำพิพากษาของศาล แต่ถือเป็นคดีที่สะท้านกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในด้านนโยบายปฏิบัติต่อชาวบ้าน ในด้านการใช้กฎหมายอย่างแข็งกร้าว รวมทั้งในแง่สิทธิมนุษยชนของชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ในสังคมไทย

ส่วนคดีของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็เช่นกัน ยังต้องรอขั้นตอนการพิสูจน์ความจริงกันต่อไป แต่ในชั้นนี้ถือได้ว่าเป็นคดีที่เขย่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการทุจริต

ที่สำคัญสะเทือนไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่อวดอ้างเรื่องปราบโกงมาตลอด

 

ภายในกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งถือว่าเป็นกรมสำคัญสุดยอดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดได้ว่ามีเครือข่ายเส้นสายและฝักฝ่ายอยู่ไม่น้อย ใครที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ ย่อมจะถูกอีกสายหนึ่งจับจ้อง พลาดเมื่อไหร่เป็นต้องถูกเล่นงานอย่างไม่ปรานีปราศรัย

ขณะเดียวกัน เก้าอี้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ถือว่าใหญ่โตชนิดที่บางครั้งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็ไม่สามารถกำหนดตัวบุคคลได้ด้วยซ้ำ

กรณีที่เกิดเหตุล่าสุด สะท้อนบรรยากาศความเป็นไปภายในกรมนี้ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ การที่ พล.อ.ประยุทธ์รีบเซ็นสั่งเด้งนายรัชฎาไปเข้ากรุสำนักนายกฯ อย่างทันทีทันใด โดยไม่รอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้ใช้อำนาจ กลับกลายเป็นร่องรอยที่ทำให้เห็นถึงเส้นทางการมาดำรงตำแหน่งอธิบดีดังกล่าวได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่า นายรัชฎาคือน้องชายของนายพลเอกที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นใกล้ชิดของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งประเด็นการเกิดเรื่องอื้อฉาวทุจริตภายในหน่วยราชการใหญ่ มีระดับอธิบดีถูกดำเนินคดี เหล่านี้ย่อมกระทบต่อคำโฆษณาของรัฐบาลชุดนี้ที่มักอ้างว่า สะอาดกว่ารัฐบาลที่มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้นำ

แล้วยังเชื่อมโยงใกล้ตัวนายกฯ จนต้องเซ็นเด้งปาดหน้ารัฐมนตรี

ทั้งหลายทั้งปวงเชื่อว่า จะต้องมีการนำไปขยายในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ แบบไม่ลงมติในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปัญหาภายในกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เกิดขึ้น คงไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในยุคนี้ และปัญหาทำนองนี้น่าจะมีอยู่ในอีกหลายๆ หน่วยงานใหญ่ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางทั่วประเทศ

คดีนี้ถือว่าเป็นคดีดังส่งท้ายปีเกี่ยวเนื่องมาถึงปีใหม่ ที่ยังจะต้องครึกโครมกันต่อไป

และเป็นการตอกย้ำเรื่องราวหลายเรื่องในกรมอุทยานแห่งชาติฯ นี้

ทั้งคดีทุจริตที่ทำอธิบดีโดนดำเนินคดีและคดีฆาตกรรมแกนนำกะเหรี่ยงที่สะท้อนนโยบายแข็งกร้าวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ!