นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อเมริกันอัปลักษณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในท่ามกลางความโกรธแค้นชิงชังที่คนชั้นกลางระดับกลางและสูงของไทยมีต่อ “ฝรั่ง” ผมไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ แต่ผมให้รู้สึกว่าอเมริกันเป็นเป้าที่เด่นชัดที่สุด จนแทบจะกลายเป็นตัวแทนของประเทศที่เราเรียกว่า “ตะวันตก” ทั้งหมดที่น่าเกลียดชังไปเลย

มีการประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐมากกว่าสถานทูต “ฝรั่ง” อื่นๆ สื่อก็พร้อมจะลงข่าวการประท้วง ไม่ว่าจะมีฝูงชนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม (เพราะรู้ว่าลูกค้าคือคนชั้นกลางระดับกลางและบนของตนจะซื้อ) อันที่จริงอียู และบางประเทศของอียูประท้วงการรัฐประหารในประเทศไทยแรงเสียยิ่งกว่าสหรัฐอีก

คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็อาจเป็นว่า เพราะอเมริกันใกล้ชิดกับไทยปัจจุบันยิ่งกว่า “ฝรั่ง” อื่นๆ ไม่ว่าจะดูจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, วัฒนธรรม, การค้าระหว่างประเทศ, การลงทุน ฯลฯ จึงไม่แปลกที่อเมริกันควรเป็นเป้าหลักของความไม่พึงพอใจของคนชั้นกลางไทยมากกว่าประเทศ “ฝรั่ง” อื่นๆ

แต่ผมสงสัยว่ามันจะมีอะไรในสำนึกของคนชั้นกลางไทยต่ออเมริกัน มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอยากพูดถึงสำนึกตรงนี้อย่างไม่ค่อยแน่ใจ เพราะไม่ได้ศึกษาค้นคว้าจริง

 

ขอเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ว่า มีประเทศตะวันตกสามประเทศที่ผูกพันกับคนชั้นกลางและชั้นสูงไทยมากเป็นพิเศษ

ประเทศแรกก็อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในเอเชียหลังสงครามนโปเลียนเป็นต้นมา จนถึงศตวรรษที่ 20 ฉะนั้น การที่ชนชั้นสูงไทยซึ่งตัดสินใจเปิดประเทศ จะเลือกทั้งภาษาอังกฤษและประเทศอังกฤษ เป็นฝรั่งที่เราเข้าไปสนิทสนมและหวังพึ่งพาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เจ้านายและขุนนางต่างพากันส่งลูกหลานไปเรียนต่อในเมืองอังกฤษสืบมาจนปัจจุบัน

จนแม้แต่ลูกเจ๊กที่คิดจะเอาดีในการเข้าคลุกคลีกับชนชั้นสูงไทย ก็ต้องกัดฟันส่งลูกไปเมืองอังกฤษเหมือนกัน

ความเป็นนักเรียนอังกฤษในสังคมไทย จึงไม่ได้มีความหมายเพียงได้รับการศึกษาแผนใหม่จากเมืองนอกเมืองนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการมีเทือกเถาเหล่ากอที่สูงด้วย หรืออย่างน้อยก็เชื่อมโยงกับเทือกเถาเหล่ากอสูงๆ ทั้งหลาย

ผมยังไม่เคยได้ยินใครพูดว่า “นักเรียนอเมริกันด้วยกัน” สักครั้งในชีวิต แต่ได้ยินคำพูดว่า “นักเรียนอังกฤษด้วยกัน” มาหลายครั้ง ทั้งๆ ที่อาจไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน แต่มีความผูกพันบางอย่างต่อกันเพราะ “เป็นนักเรียนอังกฤษด้วยกัน” ฉะนั้น การเป็นนักเรียนอังกฤษจึงเป็น “ชนชั้น” กลายๆ ซึ่งไม่เกิดกับนักเรียน “นอก” สายอื่น

ความจริงแล้ว ลูกผู้ลากมากดีไปเรียนสหรัฐก็มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว แต่จำนวนน้อยมาก ที่มาเพิ่มขึ้นจนท่วมทับนักเรียน “นอก” สายอื่นทั้งหมดนั้น ก็นับตั้งแต่ประมาณสมัยสฤษดิ์ลงมา เพราะอเมริกันให้ทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่คนชั้นกลางไทยจำนวนมากมายอย่างที่ไม่มีมหาอำนาจตะวันตกใดเทียบได้ ร้ายไปกว่านั้น ประเทศสหรัฐยังค่อนข้าง “เปิด” แก่การอพยพเข้า (ทั้งถูกและผิดกฎหมาย) จึงทำให้ลูกหลานคนชั้นกลางแม้แต่ระดับล่างลงมา สามารถเข้าไปเสี่ยงโชคในอเมริกาได้ไม่ยาก หางานทำด้วยและอาจลงเรียนหนังสือไปด้วย จนหลายคนจบปริญญาตรีได้เป็นอย่างน้อย ซ้ำยังอาจมีอาชีพการงานมั่นคงในสหรัฐเสียอีก

อเมริกาจึงเป็นเมือง “นอก” สำหรับคนชั้นกลางใช้ชุบตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นแหล่งสำคัญสุดในการเชื่อมต่อคนชั้นกลางไทยกับโลกตะวันตก (ในขณะที่อังกฤษเป็นแหล่งสำคัญในการเชื่อมชนชั้นสูงไทยกับโลกตะวันตก)

 

ถ้าอย่างนั้น ฝรั่งเศสและเยอรมนีคืออะไร ผมอยากตอบว่าคือจุดเชื่อมต่อของนักปฏิวัติไทยกับโลกตะวันตก ทั้งนี้เพราะความคิดแหกคอกนอกกรอบหรือความคิดปฏิวัตินั้น ได้รับความเอาใจใส่อย่างเท่าเทียมกับความคิดอื่นๆ ในสองสังคมนั้น ผิดจากในโลกแองโกลแซกซอน ซึ่งมักทำให้ความคิดปฏิวัติเป็นกระแสรองกว่าความคิดที่ครอบงำสังคมอยู่

ผมจึงอยากมีข้อสังเกตประการแรกว่า คนที่ก่นด่าอเมริกันอยู่เวลานี้ รวมทั้งคนที่พากันไปประท้วงหน้าสถานทูตด้วย คือคนชั้นกลางไทย ทั้งกลางระดับกลางและกลางระดับล่างนะครับ บางคนอาจเป็นนักเรียนเก่าอเมริกัน บางคนอาจไม่ใช่ แต่นี่คือกลุ่มคนที่เคยเป็น clients หรือบริวารของอเมริกันมาก่อน

ผมอยากให้สังเกตด้วยว่าไม่มีชนชั้นสูงนะครับ (ถึงมีบางคนที่เป็นราชนิกุล เขียนเฟซบุ๊กด่าอเมริกันก็เป็นข้อยกเว้น แต่ผมไม่กล้าบอกว่าทำไมถึงยกเว้น เอาแต่ว่ามีน้อยมากขนาดนับได้ด้วยมือเดียว ก็แล้วกันครับ)

แม้ว่าอเมริกาไม่ใช่จุดเชื่อมต่อกับโลกตะวันตกของชนชั้นสูงไทยมาก่อน หากทว่านับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อเมริกาเป็นมหาอำนาจซึ่งชนชั้นสูงพึ่งพาสูงมาก ทั้งในการรักษาอำนาจของตนภายในและภายนอก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ และในแง่รับความช่วยเหลือด้านทหาร ถึงอเมริกาจะเปลี่ยนนโยบายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่ชนชั้นสูงยังไม่รู้สึกเป็นศัตรูกับอเมริกันหรอกครับ คนที่ขุ่นเคืองอเมริกันอย่างเหลืออดจริงๆ คือคนชั้นกลางซึ่งเป็นแฟนเก่าของอเมริกันต่างหาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผมหวังว่าจะสามารถอธิบายความซับซ้อนตรงนี้ให้เข้าใจได้

พลังสามอย่างที่ยังช่วยให้อเมริการักษาความเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งไว้ได้คือ พลังทางเศรษฐกิจ, ทางทหาร และทางอุดมการณ์ คู่แข่งของอเมริกาเช่นจีน คงเอาชนะหรือตีเสมออเมริกาทางด้านพลังทางเศรษฐกิจ และทางทหารได้สักวันหนึ่งในอนาคต แต่พลังทางอุดมการณ์ของจีนนั้นพังสลายไปพร้อมกับลัทธิเหมา และแทนที่การเปิดประเทศจะนำมาซึ่งอุดมการณ์ใหม่ที่มีพลังไม่น้อยไปกว่าลัทธิเหมา กลับเป็นแค่อุดมการณ์ รวย รวย รวย ดีกว่ารัสเซียหน่อยที่รวยกันมากหน้ากว่าเท่านั้น

สรุปสั้นๆ ตรงนี้ไว้ก่อนว่า ชนชั้นสูงไทยเห็นคุณค่าของพลังอุดมการณ์ (แม้อาจไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของอุดมการณ์อเมริกัน) เพราะอำนาจของชนชั้นสูงไทย (หรือที่ไหนในโลกก็ตาม) ย่อมต้องอาศัยพลังของอุดมการณ์เป็นส่วนใหญ่ เงินทองและอำนาจทำร้าย (coercion) ก็สำคัญ แต่อาจถูกแข่งขันจนตีเสมอหรือเลยหน้าไปได้ พลังอุดมการณ์ต่างหากที่คนกลุ่มอื่นแข่งได้ยากกว่า

ตรงกันข้ามกับคนชั้นกลางไทย ซึ่งไม่เคยมีศรัทธาต่ออุดมการณ์อะไรเท่าเงินและอำนาจ (ก็กำเนิดและการขยายตัวของคนชั้นกลางไทย กำหนดให้เติบโตได้ด้วยข้าวน้ำที่เขาเลี้ยงเท่านั้น ไม่ใช่ความคิด) อุดมการณ์จึงไม่มีความหมายอะไร

ประเทศไทยเล็กและไร้ความสำคัญแก่สหรัฐเสียจนกระทั่ง อเมริกันเลือกที่จะไม่เบ่งกล้ามทางเศรษฐกิจของตนอย่างจริงจัง เลือกที่จะไม่เบ่งกล้ามทางการทหาร หรือล้มรัฐบาลด้วยซีไอเออย่างที่เคยทำในละตินอเมริกา แรงกดดันทั้งหมดของสหรัฐต่อการยึดอำนาจของกองทัพในประเทศไทยคือแรงกดดันทางอุดมการณ์ คนชั้นกลางไทยอาจคิดว่าอุดมการณ์ไม่สำคัญ แต่มันสำคัญมากทีเดียวในหมู่คนชั้นกลางญี่ปุ่น, ยุโรปหลายประเทศ และในสหรัฐเอง อันล้วนเป็นคู่ค้าใหญ่ของไทยทั้งสิ้น

มองจากจุดยืนของคนชั้นกลางไทย อุดมการณ์อเมริกันเป็นเรื่องหลอกกันเท่านั้น เพราะในการอ้างอุดมการณ์นั้น อเมริกันได้แต่ทำกำไรทางเศรษฐกิจ และสั่งสมอำนาจของตนเอง ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับสิทธิเสรีภาพของคนอื่นเลย

เรื่องนี้จริงอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพลังทางอุดมการณ์ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของสหรัฐทั้งในและนอกประเทศเสียเลย ที่ต้องหน้าไหว้หลังหลอกก็เพราะพลังทางอุดมการณ์ยังมีความหมายอยู่ล่ะสิครับ ไม่งั้นก็ประกาศไปเลยว่า ฉันไม่ฟังคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศอย่างจีนก็หมดเรื่อง ใช่ไหมครับ

อเมริกันนั้นอัปลักษณ์อย่างที่คนชั้นกลางไทยกล่าวแน่ แต่การวิพากษ์อเมริกันโดยปราศจากความชื่นชม หรือแม้แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์อเมริกัน จะทำให้ผู้วิพากษ์รูปชั่วตัวดำมากกว่า

 

ในปัจจุบัน การปฏิวัติอเมริกันดูจะจืดๆ แก่คนอื่นทั่วโลก เพราะถูกการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งตามมาภายหลังทำให้สีสันของการปฏิวัติอเมริกันซีดไปหมด อเล็กซิส เดอ ท็อกเคอวิลล์ ถึงกับกล่าวว่า เฮ้ย ไอ้สงครามกู้เอกราชของอเมริกันนั้น ยังไงๆ ฝ่ายอาณานิคมก็ต้องชนะ ก็ศัตรูอยู่ห่างไปเกือบ 5,000 ไมล์ ซ้ำฝ่ายอาณานิคมยังมีพันธมิตรเป็นมหาอำนาจสำคัญเสียอีก (คือฝรั่งเศสซึ่งกำลังรบกับอังกฤษในสงคราม 7 ปี แต่ เดอ ท็อกเคอวิลล์ ลืมบอกว่าพันธมิตรที่ว่านั้นก็อยู่ไกลไปเกือบ 5,000 ไมล์เหมือนกัน) เทียบไม่ได้เลยกับสงครามของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติ ซึ่งถูกทุกมหาอำนาจยุโรปรุมยำ แต่ฝรั่งเศสกลับเอาชนะมาได้ ซ้ำยังสามารถเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติของตนไปทั่วยุโรปเสียอีก

แม้กระนั้น เมื่อ เดอ ท็อกเคอวิลล์ มาเยือนสหรัฐหลังการปฏิวัติกว่าครึ่งศตวรรษ ก็ด้วยความหวังว่า การศึกษาประชาธิปไตยอเมริกัน จะให้บทเรียนบางอย่างแก่การแสวงหาสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของชาวยุโรป

เดอ ท็อกเคอวิลล์ กล่าวว่า สิ่งที่เขาประทับใจในประชาธิปไตยอเมริกันที่สุดคือความเสมอภาค (แน่นอน ของคนผิวขาว) ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน กฎหมายของสหพันธ์, ของรัฐ, ของเมือง, บังคับใช้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน กำเนิด, ศาสนา, สถานะทางสังคม ฯลฯ ไม่ทำให้เกิดความแตกต่าง

เขาชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐเริ่มต้นด้วยคำว่า We the People of the United States… หรือเราประชาชนแห่งสหรัฐ… (จึงขอเสกและสถาปนารัฐธรรมนูญดังนี้) อเมริกันจึงเป็นชาติแรกในโลกที่สถาปนาหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

นี่เป็นหลักการที่พบได้ในรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นอีกหลายประเทศสืบมาจนปัจจุบัน (เช่น ฟิลิปปินส์, ฝรั่งเศสในสาธารณรัฐที่ 5) หลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยก็ประยุกต์จากหลักการข้อนี้ เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีกษัตริย์อื่นๆ (เช่น สวีเดนปรากฏในมาตราที่ 1 ว่า “อำนาจสาธารณะทั้งหมดในสวีเดนย่อมมาจากประชาชน”)

แล้วก็ไม่ใช่เครื่องประดับรัฐธรรมนูญด้วย แต่เป็นหลักการพื้นฐานซึ่งมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญจะทำให้หลักการนี้เป็นหมันไม่ได้

ความเสมอภาคนี้แหละครับที่ทำให้อเมริกันเป็นที่น่ารังเกียจในหมู่ชนชั้นสูงไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

 

แม้เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขณะดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จผ่านสหรัฐเมื่อเสด็จกลับสยาม และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเคยเสด็จประพาสสหรัฐ แต่แทบไม่มีเจ้านายพระองค์ใดถูกส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐ (ยกเว้นเจ้าฟ้ามหิดล กรมหลวงสงขลาฯ ทั้งเป็นพระประสงค์ส่วนพระองค์)

รายงานของเจ้านายที่ถูกส่งไปทำงานด้านการทูตในสหรัฐที่ถวายแด่ ร.5 พูดไว้มากถึงความไม่สะดวกในการเดินทางและใช้ชีวิตในสังคมอเมริกัน ที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเอาเลย ดังนั้น จึงถวายความเห็นว่าพระพุ ทธเจ้าหลวงไม่ควรเสด็จประพาสสหรัฐ

สรุปก็คือ ความเสมอภาคของสังคมอเมริกันนั่นแหละที่น่ารังเกียจ แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นสูงไม่แสดงความรังเกียจอเมริกันด้วยเรื่องความเสมอภาคอีกแล้ว แต่ผมคิดว่าคนชั้นกลางไทยได้หันมารังเกียจสหรัฐด้วยประเด็นความเสมอภาคอีก

ช่องทางที่คนชั้นกลางไทยจะ “เสมอภาค” กับคนชั้นสูงนั้น นับวันก็ยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้น ความรังเกียจความเสมอภาคของคนชั้นกลางไทย คือวิตกว่าคนระดับต่ำกว่าตนจะตีตนขึ้นเสมอตัวต่างหาก การขยายตัวของประชาธิปไตยในประเทศไทยต่อจากนี้ คือการขยายโอกาสและสิทธิของคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ต่ำกว่าคนชั้นกลางในอันที่จะได้สิทธิเสมอภาคกับคนชั้นกลาง เช่นการเรียกร้องนิติรัฐ คือการทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย และสิทธิการใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกับคนชั้นกลางนั่นเอง คนชั้นกลางไทยจึงไม่สนับสนุนนิติรัฐ

แต่ผมออกจะสงสัยว่า คนชั้นกลางไทยอาจรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นเมื่อสหรัฐใช้พลังทางอุดมการณ์ (ประชาธิปไตยและความเสมอภาค) ในการกดดันคณะรัฐประหารไทย

หลายบทความในหนังสือ The Ambiguous Allure of the West ซึ่ง Rachel Harrison และ Peter Jackson เป็นบรรณาธิการ พูดถึงการเผชิญกับจักรวรรดินิยมตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันตกของไทย ไม่ว่าจะออกมาในรูปของวรรณกรรม, เพลง, หนัง, ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพ, การศึกษา ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องของการอนุรักษ์อัตลักษณ์ไทยอย่างเดียว แต่ความใฝ่ฝันที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ความปรารถนาที่จะ “เท่าเทียม” หรือถูกถือว่าเท่าเทียมกับตะวันตกด้วย เช่น แม้ไม่ค่อยมีใครดูหนังของ คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กันสักเท่าไรในเมืองไทย แต่คุณอภิชาติพงศ์นั้นเป็นนักสร้างหนังที่คนชั้นกลางไทยภาคภูมิใจ เพราะเธอได้พิสูจน์ความเท่าเทียมของไทยกับตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล เช่นเดียวกับ คุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ ซึ่งแม้พูดไทยไม่ชัด แต่เธอคือคนที่ “ฝรั่ง” ยอมรับ

อาจจะโดยไม่ตั้งใจ คำแถลงของทูตอเมริกันตีขนดหางของคนชั้นกลางไทยโดยตรง เพราะบอกว่าไทยไม่เท่าเทียมกับ “ฝรั่ง”

มันน่าโกรธไม้เล่า