วิกฤตค่าไฟปีกระต่าย ภาครัฐยอมถอยลดค่าเอฟที เอกชนจี้ตรึงราคาทั้งปี 2566

2 วันก่อนจะหยุดเทศกาลปีใหม่ 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติทบทวนและปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 อีกครั้ง ให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลง 35.52 สตางค์ เหลือ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย

จากมติเดิมที่ กกพ.เคยประกาศปรับอัตราค่าไฟไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565

นั่นจึงส่งผลให้อัตราค่าไฟที่เอกชนต้องจ่ายปรับลดลงจาก 5.69 บาท เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ผู้ใช้ไฟบ้านอยู่อาศัยยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย ค่าเอฟทีที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ออกมาระบุถึงสาเหตุการทบทวนค่าเอฟทีใหม่ว่า เป็นการพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้ง หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ. ปตท. ยื่นทบทวนประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. สำหรับการคำนวณอัตราค่าเอฟที

ทำให้สมมุติฐานการคำนวณค่าเอฟทีเปลี่ยนแปลงไปจากมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565

โดย กฟผ.คำนวณกรณีศึกษาเพิ่มเติม โดยจัดสรรก๊าซอ่าวไทย เพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ราคา 237 บาทต่อล้านบีทียู ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน (รวมการทยอยคืนค่าเอฟทีให้แก่ กฟผ. 22.22 สตางค์ต่อหน่วย) ตามมติ กพช. ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.16 จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หรือประมาณ 64,980 ล้านบีทียู ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่นเพิ่มขึ้นเป็น 496 บาทต่อล้านบีทียู

ซึ่งผลจากการปรับเปลี่ยนสมมุติฐานดังกล่าว ทำให้ค่าไฟในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงต้องจ่ายค่าเอฟทีในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วยเช่นเดิม

แต่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ได้ลดค่าเอฟที ในอัตราใหม่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วยนั่นเอง

และตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท จะได้รับการปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือน ดังนี้ 1) ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน ประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน

2) กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ 46.16 บาท/เดือน เป็น 33.29 บาท/เดือน

และ 3) กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดือน

 

เบื้องหลังการทบทวนค่าเอฟที งวด 1 ปี 2566 ของ กกพ.ที่ประกาศรอบใหม่ก่อนจะบังคับใช้เพียงไม่กี่วันนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจาก “แรงกดดัน” จากภาคเอกชน นำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งทำเรื่องร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หลัง กกพ.ประกาศอัตราค่าไฟฟ้า 5.69 บาทต่อหน่วย

ซึ่งภาคเอกชนถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า 70% ของทั้งประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ค่าเอฟทีพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีปี 2566 ขยายตัวลดลง ไม่ถึงเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 3.5%

โดยยืนยันว่าหากรัฐขึ้นค่าเอฟที ผู้ประกอบการก็ต้องปรับราคาสินค้า 5-12% กระทบประชาชน ซึ่งนั่นมีผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% จนเป็น 3.5%

นำมาสู่การเสนอ 5 แนวทางต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐทบทวนค่าเอฟที ประกอบด้วย

1. ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน

2. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ. ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ.สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน อาทิ การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak (ช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก) มากขึ้น

4. ส่งเสริมเอกชนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และให้สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้า

และ 5. เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วม โดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)

 

ไม่เพียงเท่านั้น เอกชนยังจัดกระบวนทัพเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเฉพาะแถลงข่าวครั้งใหญ่โดยมี “เอสซีจี” ซึ่งนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ออกโรงเองเป็นครั้งแรก ระบุว่า หากปรับเอฟทีต้องขึ้นอีก 20% จากเดิมที่ปรับไปแล้ว 20% พร้อมชี้ว่าเอกชนต่างได้รับผลกระทบมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโควิด เงินเฟ้อ พลังงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าไฟซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศอาจทำให้เกิดการ “ย้ายฐานการลงทุน”

เช่นเดียวกับนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่มองข้ามช็อตว่า หากประเทศไทยดึงความสามารถการแข่งขันกลับมาไม่ได้ ความน่าสนใจจะลดลง เมื่อเทียบกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าไทย

สอดคล้องกับนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่สะท้อนว่า ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นก็ต้องมาเผชิญกับต้นทุนค่าไฟอีก

ทั้งนี้ แม้ว่าข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนจะได้รับการตอบรับจากภาครัฐในการลดค่าเอฟทีลงส่วนหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่แนวทางที่เอกชนร้องขอ ถือเป็นเพียงการถอยคนละครึ่งก้าวเท่านั้น เพราะสิ่งที่เอกชนต้องการอย่างแท้จริงคือ การตรึงค่าไฟทั้งปี 2566 เพื่อให้เวลาธุรกิจได้ฟื้นตัว

 

ด้านกระทรวงพลังงาน “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า

ได้หารือกับ กกร.อีกครั้ง หลังปรับลดค่าเอฟที มีข้อสรุปให้เอกชนดำเนินการ 3 เรื่อง คือ

1) ขอให้สมาคมธนาคารไทยหนึ่งในสมาชิก กกร. ยืดระยะเวลาการส่งคืนเงินต้นลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยในราคาถูก เพื่อเป็นการขอลดค่า AP ชั่วคราวในช่วงวิกฤต

2) ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 100% ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 พันราย ให้ลดการใช้ลงเหลือ 80% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล 20% หรือใช้พลังงานทดแทนอื่นที่ราคาถูกกว่า รอจังหวะให้ก๊าซธรรมชาติของไทยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ในกลางปี 2566 ที่แหล่งเอราวัณจะเพิ่มการผลิตได้มากขึ้น

3) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน) เพื่อทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน

ขณะที่มุมเอกชน “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน ส.อ.ท. มองว่าการปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยจะช่วยผ่อนคลายปัญหาต้นทุนการผลิตเอกชนบางส่วนเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่ายังมีบางรายที่เดือดร้อนจริงๆ มีต้นทุนปรับสูงขึ้นจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้รัฐและเอกชนต้องหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานต่อไป