2023 โลกยังกระอัก พิษเศรษฐกิจฟุบ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ปี 2022 ที่ผ่านมาหลายคนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากโลกรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้นเนื่องจากมีวัคซีนป้องกันและมีวิธีการรักษา จนหลายชาติกลับมาเปิดประเทศและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันได้

แต่พิษของสงครามยูเครนที่เปิดฉากขึ้นโดยรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ดับความหวังนั้นให้สิ้นสลายลง หากแต่ยังกลับซ้ำเติมเศรษฐกิจทั่วโลกให้ทรุดหนักย่ำแย่ลงมากไปอีก

โดยยังก่อผลพวงให้โลกต้องเผชิญวิกฤตพลังงานอย่างที่ไม่ได้เห็นมาก่อน ดันราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นพื้นฐานพุ่งสูงขึ้นตาม กระทบเป็นห่วงโซ่ให้หลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ด้วย

หลายชาติรวมถึงเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่โลกอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู) ในปีที่แล้วต่างเห็นดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วและยังเห็นอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี

โดยสหรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 9.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่า 6.6%

ส่วนอังกฤษมีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี คือในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 11.1% เช่นเดียวกับประเทศในยูโรโซนซึ่งอยู่ที่ 10.6%

 

การเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถ้วนหน้า ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายต้องหากลไกเครื่องมือที่มีอยู่เข้ามาจัดการบรรเทาปัญหานี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้นำประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 เพื่อหวังลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อลง

โดยเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนปี 2022 และหลังจากนั้นเฟดได้ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.75% ติดต่อกันอีก 3 ครั้ง ก่อนที่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เฟดชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ย มาอยู่ที่ 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขณะนี้พุ่งสู่ระดับ 4.25-4.50%

แม้เฟดจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เนื่องจากเห็นอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดนี้ต่อไป จนกว่าจะดึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐให้ลงมาอยู่ในระดับเป้าหมายได้ที่ 2% และทำให้ระดับราคากลับมามีเสถียรภาพ

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (อีซีบี) ต่างก็ยึดนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยหันมาขยับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อมุ่งควบคุมภาวะเงินเฟ้อในประเทศเช่นกัน ซึ่งนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานอีซีบี ได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าอีซีบีจะยังนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดต่อไป ทั้งยังชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนยังไม่ถึงจุดสูงสุด

การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อหวังคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจให้ซบเซา

แนวโน้มนี้ทำให้เกิดความหวั่นกลัวกันว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้จะซบเซาต่อไปจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้สำหรับเศรษฐกิจโลก และแม้จะเริ่มมีความหวังว่าจีน ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะเริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ หลังจากทางการจีนประกาศยกเลิกนโยบายโควิดศูนย์ที่ยึดมั่นเป็นยุทธศาสตร์ต่อสู้กับการแพร่ระบาดมาเกือบ 3 ปีลง และจะกลับมาเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคมนี้ก็ตาม

ทว่า สถานการณ์ระบาดของโรคโควิดในจีนยังคงน่าห่วงวิตกและเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย โดยจีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่ไม่มีการรายงานอัพเดตจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวัน ทำให้ยากต่อการติดตามข้อมูลที่แท้จริง ท่ามกลางสถานการณ์ที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย ส่วนสถานที่ฌาปนกิจศพก็เต็มล้นไปด้วยศพผู้เสียชีวิต

นั่นทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นกลับคืนมาของจีนยังคงดูมืดมน

 

บทวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักยังมองไปในทิศทางเดียวกันว่ายังคงหม่นหมอง โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ระบุเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตเพียง 1.2% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปี 2009 ที่โลกเพิ่งจะเริ่มหลุดพ้นจากวิกฤตทางการเงินในห้วงเวลานั้น

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (ซีอีบีอาร์) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะประสบภาวะถดถอยได้ โดยเศรษฐกิจส่วนหนึ่งจะหดตัวอันเป็นผลมาจากต้นทุนการกู้ยืมใหม่ที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากความพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่หากยังไม่เห็นชัยชนะ ก็คาดว่าธนาคารกลางต่างๆ ก็จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดกันต่อไป

ยังมีการคาดการณ์ว่า กว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเผชิญการหดตัวและมีโอกาสราว 25% ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกในปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 2%

ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ที่ 2.2%

 

ล่าสุดยังมีเสียงเตือนจากคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ และจะเป็นปีที่หนักยิ่งกว่าปี 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง 3 แห่งได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน กำลังจะชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน

ทั้งยังบอกอีกว่า แม้ในประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็จะรู้สึกเหมือนว่าเศรษฐกิจถดถอยสำหรับผู้คนนับหลายร้อยล้านคน

คำเตือนของกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟมีขึ้นหลังจากไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2023 ลงในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยของสงครามยูเครนและการมุ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในความพยายามควบคุมราคาที่พุ่งสูงขึ้น

ได้เห็นการคาดการณ์และเสียงเตือนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ที่ยังคงเป็นขาลงถึงขั้นถดถอยแล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คงต้องกัดฟันสู้และให้กำลังใจตัวเองต่อไป