การท่องเที่ยว-ช่วย หรือทารุณกรรมช้าง? | เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

การท่องเที่ยว-ช่วย

หรือทารุณกรรมช้าง?

 

ประเด็นถกเถียงว่าด้วย “ช้าง” กับ “การท่องเที่ยว” ในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว แล้วก็ดำรงอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา เพราะยังหาอะไรที่ “ลงตัว” ไม่ได้

โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี หยิบเรื่องนี้มาทำเป็นบทความขนาดยาวต้อนรับปีใหม่ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของบีบีซี เมื่อ 2 มกราคมที่ผ่านมาอีกครั้ง ทางหนึ่งเป็นเพราะ สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัญหานี้เด่นชัดขึ้นอีกมาก

อีกทางหนึ่งเป็นเพราะเพื่อนำเสนอแนวทางที่ “เป็นไปได้” สำหรับการแก้ปัญหานี้ ที่ดูเหมือนจะมีทางออกที่น่าจะ “ลงตัว” ได้ เพียงแค่ต้องเริ่มทำ เริ่มขยับกันเสียตั้งแต่ตอนนี้

ช้างที่อยู่คู่กับการท่องเที่ยวในเมืองไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนในประเทศอื่นใดอยู่บ้างอย่างสองอย่างในทัศนะของโจนาธาน เฮด

หนึ่งคือ ไทยเป็นประเทศที่มีช้างเข้ามามีเอี่ยวอยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกนี้คือมากกว่า 3,000 เชือก

อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในจำนวนกว่าสามพันที่ว่านี้ แทบทั้งหมดเจ้าของช้างเป็นเอกชน เป็นคนทั่วไป พูดง่ายๆ ว่า เราเลี้ยงช้างเหมือนเลี้ยงวัวเลี้ยงควายหรือสุนัข ไม่เหมือนกับชาติอื่นใดในโลก

หมู่บ้านช้างที่โด่งดังแห่งจังหวัดสุรินทร์ซึ่งโจนาธาน เฮด ไปเยือนมา เป็นประจักษ์พยานเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสลบเหมือดเพราะพิษโควิด-19 บรรดาควาญ, เจ้าของ และช้าง ก็แทบ “ชีวิตวาย” ตามไปด้วย

 

เลี้ยงช้างไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วก็ไม่ใช่เรื่องถูกๆ ช้างโตเต็มวัยต้องการอาหาร 100-200 กิโลกรัมต่อวัน น้ำดื่ม 100 ลิตรต่อวัน เมื่อไม่มีการท่องเที่ยว ก็ไม่มีการแสดง แล้วก็ไม่มีเงิน การหาอาหารมาเลี้ยงน้องช้างก็เป็นเรื่อง “แสนเข็ญ” ถึงแม้ช้างจะกินแค่ใบใผ่ใบหญ้า กล้วยอ้อยก็ตามทีเถอะ

เวิร์ลด์ แอนิมอล โปรเทกชั่น (ดับเบิลยูเอพี) บอกว่า ก่อนโควิด ช้างเคยทำรายได้ให้กับประเทศมากถึง 770 ล้านดอลลาร์ หรือราว 26,000 ล้านบาทต่อปี

ตอนนี้ โควิดกำลังจะหมดไป การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้อีกครั้ง ปัญหาเรื่องการนำช้างมาแสดงเพื่อความบันเทิงของผู้ชมถูกระบุว่าเป็นทารุณกรรม ก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่เกิดขึ้นตามมา

ดับเบิลยูพีเอ และกลุ่มรณรงค์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เริ่มรณรงค์ไปทั่วโลก เพื่อยุติการใช้ช้างเพื่อความบันเทิงตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เหตุผลก็คือ “นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของช้าง” และต้องนำช้างไปผ่านการฝึกด้วยเทคนิคที่เป็นการทารุณกรรม

ผลก็คือ กรุ๊ปทัวร์จากยุโรปและอเมริกาเหนือ เริ่ม “บอยคอต” การแสดงช้าง รวมทั้งการขี่และการอาบน้ำให้ช้างที่เคยเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ถามว่า ถ้าเราทำท่องเที่ยวของช้างให้ถูกต้องตามจริยธรรมได้ไหม?

 

คําตอบก็คือ ได้ และมีผู้ทำแล้วด้วยซ้ำไป อุทยานช้างธรรมชาติที่เชียงใหม่ของคุณแสงเดือน ไชยเลิศ คือความพยายามที่ว่านั้น มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ และการเฝ้าชม ไม่มีการอาบน้ำกับช้างหรือการป้อนอาหารช้างใดๆ

ผลก็คือ นักท่องเที่ยวหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ยังดี แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มีเพียงไม่กี่แหล่งท่องเที่ยวเท่านั้นที่ทำได้อย่างนี้

โจนาธาน เฮด บอกว่า ในจำนวนแหล่งท่องเที่ยวกว่า 200 แห่ง มีเพียง 11 แห่งเท่านั้นที่ผ่านการเห็นชอบจากดับเบิลยูเอพี ซึ่งรวมทั้งอุทยานช้างธรรมชาติ ที่มีช้าง 122 เชือก ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ 45 เชือกจากจำนวนทั้งหมดนั้น ได้มาจากการเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวที่ล้มหายตายจากไปเพราะโควิด

คำถามก็คือ แล้วเจ้าของช้างที่มีเพียง 3-4 เชือกจะทำอย่างไร?

ที่ดินที่มีก็ไม่กว้างขวางเพียงพอ แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ก็ไม่สามารถลงทุนหาหรือสร้างพื้นที่ป่าที่เหมาะสมให้กับช้างเช่นนั้นได้

โจนาธาน เฮด ไปสนทนากับเอ็ดวิน วิก นักต่อสู้เพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย ผู้ก่อตั้งไวลด์ไลฟ์ เฟรนด์ ฟาวเดชั่น ออฟ ไทยแลนด์ เมื่อ 21 ปีก่อน และเป็นเจ้าของความฝันที่ว่า ในชีวิตนี้จะสามารถยุติการกักขังสัตว์ป่าทั้งหมดลงได้

เขาเคยช่วยช้างมา 24 เชือก ตอนนี้ปล่อยให้ใช้ชีวิตอย่างเสรีบนพื้นที่กว้างขวางที่เป็นเสมือนคอก

เอ็ดวิน วิก ยอมรับว่า ถ้าจะให้เป็นไปตามอุดมคติก็คือ การปล่อยให้ช้างได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ หาอาหารตามธรรมชาติได้ตามใจชอบ แต่ก็คิดเหมือนกันว่า 24 เชือกพอทำได้ แต่ถ้าจะให้หาพื้นที่สำหรับกว่า 3,000 เชือก โครงการที่ว่าคงแพงระยับ หาใครมาทำไม่ได้แน่

แล้วเขายอมรับด้วยว่า อย่างน้อย 3 ใน 4 ของช้างบ้านในไทยยังคงจำเป็นต้องมีแหล่งรายได้ ไม่เช่นนั้นก็พากันอดตายทั้งช้างทั้งควาญทั้งเจ้าของ การขี่ช้าง, อาบน้ำช้าง หรือการป้อนอาหารช้าง จึงยังคงเป็น “ชีวิตประจำวัน” ที่จำเป็นสำหรับช้างเหล่านั้น

แต่เอ็ดวิน วิก เชื่อว่ายังพอมีทางออกที่เป็นไปได้ ถ้าหากไม่อนุญาตให้ผสมพันธุ์ช้างบ้านอีกต่อไป เพื่อค่อยๆ ลดปริมาณประชากรช้างบ้านลง จนเหลือในระดับที่สามารถดูแลมันได้ในสถานที่ที่เหมาะสม ให้ใช้ชีวิตอย่างเสรีตามธรรมชาติ

นักท่องเที่ยวมาได้ ชมดูได้ แต่แตะต้องไม่ได้ เพียงชื่นชมลีลาตามธรรมชาติของมันเท่านั้น

หลังจากนั้น รัฐบาลควรหันมาใส่ใจในการเพิ่มจำนวนประชากรช้างป่า ซึ่งเดิมเคยมีมากกว่า 100,000 ตัว ตอนนี้หลงเหลือเพียง 3,000-4,000 ตัวในสภาพธรรมชาติ โดยการเปิดช่องทางให้บรรดาช้างป่าสามารถเคลื่อนย้ายจากอุทยานแห่งชาติหนึ่งไปสู่อุทยานแห่งชาติอีกแห่งหนึ่งได้ โดยไม่ต้องเลือกที่จะไปรบกวนมนุษย์อีกต่อไป

แต่หนึ่งนั้น ไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์เรื่องช้างบ้าน-ช้างป่ามาก่อน นอกจากนั้น กฎข้อบังคับว่าด้วยเรื่องช้างบ้านยังชุลมุนวุ่นวายเกี่ยวพันกันไปถึง 3 กระทรวง เป็น 3 กระทรวงที่ไม่เคยทำงานประสานกันมาก่อนด้วยอีกต่างหาก

อนาคตของช้าง จึงจะยังคงอยู่ในมือที่อ่อนแรงของควาญ, เจ้าของและแหล่งท่องเที่ยวอยู่ต่อไป

จนกว่า ฯพณฯ จะได้คิด ตระหนักและเข้าใจขึ้นมาสักวันหนึ่งว่า เรื่องนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว