รัฐราชการ ไม่ปราบ ‘คอร์รัปชั่น’

มีแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่หมดอำนาจไปแล้วไม่มีเงิน ตกทุกข์ได้ยากถึงขนาดต้องเอ่ยปากขอเงินจากอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา นอกนั้นแล้วนายทหารทุกคนที่ได้อำนาจการเมืองมาด้วยรัฐประหารล้วนแล้วแต่มีทรัพย์สินทิ้งมรดกไว้เป็นพันเป็นหมื่นล้านให้เมียหลวง เมียน้อย ลูกหลานต้องฟ้องร้องแย่งชิงกันอลหม่าน

หากมีใครถามว่า เงินทองนั้นท่านได้แต่ใดมา ให้ทันสมัยก็ต้องตอบว่า เงินเพื่อน! หรือยืมเพื่อนมา

คดีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ทุจริตเป็น “ปรากฏการณ์พิเศษ” ที่เกิดจากหัวใจระห่ำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี ผู้กล้าพลีชีพ

ที่จริงแล้ว “ชัยวัฒน์” เปิดหน้าร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ “ป.ป.ช.” มาตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2565 แล้ว

แต่ “ประยุทธ์” ก็ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับความเป็นความตายของ “ลูกน้อง” ที่กล้าลุกขึ้นมาร้อง “นาย”

 

นายกฯ แทงหนังสือไปตามน้ำ ถึงกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็น “รัฐมนตรีว่าการ” กับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ เป็น “ปลัดกระทรวง”

ก่อนหน้านี้ กระทรวงก็มีหนังสือตอบกลับไปถึง “ชัยวัฒน์” ผู้ร้องว่า “ได้รับเรื่องแล้ว”

หมายความว่า ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ ยันปลัดกระทรวง ทราบเนื้อความที่กล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาว่า นายรัชฎามีพฤติการณ์ “ทุจริต” แล้ว

แต่ทุกคนเงียบ จนทำให้นายรัชฎาเหิมเพลิน! ออกหนังสือให้หัวหน้าหน่วยในกรมอุทยานฯ มาประชุมพร้อมเพรียงในวันที่ 27 ธันวาคม 2565

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน “ป.ป.ช.” เรียกนายชัยวัฒน์ผู้ร้องมาให้ปากคำ

บังเอิญกรณีนี้ผู้กล้าเป็น “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร”

และบังเอิญอีกเหมือนกันที่ “ชัยวัฒน์” ได้เจอกับ “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ช. และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการตำรวจ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ป.ป.ป.) แผนลับจึงไม่รั่วไหล

“รัชฎา” อธิบดีกรมอุทยานฯ ถูกวางงาน

“ชัยวัฒน์” ตำรวจ ป.ป.ป. กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ล่อซื้อด้วยธนบัตรที่ทำเครื่องหมาย ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน บันทึกภาพและเสียงครบถ้วน จนกลายเป็น “ความผิดซึ่งหน้า” แสดงตัวจับกุมพร้อมตรวจค้นพบเงินสดคาห้องทำงาน 4.9 ล้านบาท

ซองบรรจุเงินพร้อมลายมือเขียน ชื่อหน่วย และจำนวนเงิน กลายเป็น “ภัย” ให้กับหน่วยงานหรือสำนักในสังกัดกรมอุทยานฯ

สะท้อนภาพให้เห็นทั่วกันว่า กรมนี้ครบเครื่องทั้งเรื่องฉ้อราษฎร์บัวหลวง และบีบคั้นเค้นคอลูกน้อง

 

ที่ทุกคนคิดเหมือนกันคือ ถ้า “นาย” ไม่แน่จริง คงไม่ได้มานั่งตำแหน่งใหญ่ ที่สุจริตจึงอ่อนล้า สิ้นเรี่ยวแรง ถดถอย ปล่อยให้ทุรชนเชิดหน้าชูตา มีอำนาจวาสนาขึ้นเป็นใหญ่

เฉกเช่นเดียวกับการเมือง!

การปล้นอำนาจอธิปไตยนำไปสู่ภูมิทัศน์การเมืองแบบดั้งเดิมที่เกื้อกูลแก่ “รัฐราชการ”

ในขณะเดียวกัน “รัฐราชการ” ก็เป็นดินอันอุดมให้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้วยระบบความคิดแบบดั้งเดิมถือว่า ราชการเป็น “ฝ่ายให้” ส่วน “ประชาชน” ซึ่งแม้ตามทฤษฎีจะว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ในระบบการเมืองปัจจุบัน ประชาชนเป็นแค่ “ผู้รับ” เป็นฝ่ายที่อยู่ต่ำกว่า เป็นบริวารผู้ต้องพึ่งพาอาศัย และอยู่ในการดูแลคุ้มครองของผู้มีอำนาจ

รัฐราชการไม่ได้คิดว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง

หัวหน้างาน ผู้อำนวยการ หรืออธิบดี ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งพันธะซึ่งต้อง “รับผิดชอบ” ต่อหน้าที่และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา หัวหน้าหน่วยงานในระบบการเมืองโบราณนี้มีแต่จะคิดว่า “ผู้พึ่งพา” ต้องเซ่นไหว้ “ผู้เป็นใหญ่”

เช่นเดียวกับเมื่อคนเรามีความต้องการโชคลาภ อยากมีเงินทอง อยากถูกหวยรวยเร็วๆ อยากได้โชคลาภมาโดยไม่ต้องทำงาน อยากประสบความสำเร็จ อยากสุขภาพดี อยากมีความก้าวหน้า อยากได้รับการคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ก็ต้องพากันไปเซ่นไหว้ผี

ในการเซ่นไหว้จึงไม่ได้เพียงมี “ศรัทธา”

หากยังมี “ข้อแลกเปลี่ยน”!

แม้แต่ “ธูป” ยังต้องแยกแยะจัดลำดับให้ถูกกับผีที่มีหลายระดับ ซึ่งคนเราก็ช่างคิดพิสดาร ไปตัดหัวหมูเอามาต้มสุก แล้วยกทั้งหัวใส่ถาด จัดท่าให้จมูกหมูตั้งเชิดขึ้น ฉีกอ้าปากออกแล้วเสียบธูปลงไปให้เต็มในช่องปาก ผลไม้ ขนมหวาน เหล้ายาพร้อมก็ร้องขอให้ผู้เหนือกว่าจงบันดาล

คนเซ่นคนก็มีความหวังว่าจะบันดาลให้!

ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับผู้ประกอบการเอกชน หรือระหว่างข้าราชการที่เป็นนายกับลูกน้อง คนเซ่นคน ก็คือการคอร์รัปชั่น

 

ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “ธรรมเนียม” ที่ฝังรากลึกในระบบราชการ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขในยุคสมัยปัจจุบัน

จึงมีคำถามว่า เหตุใดเป็นเช่นนั้น?

เหตุที่เป็นเพราะ “ภูมิทัศน์การเมือง”

การเมืองที่ระบบกึ่งเผด็จการทหารทำให้ผู้คนหัวหด!

ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับอาชีพใด วงการใด ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหารนี้ ทุกองค์กร ทุกสถาบัน ไม่มีอิสระเพียงพอที่กล้าคิด กล้าสงสัย

“ระบบการเมือง” ปัจจุบันสร้างข้าราชการพันธุ์โบราณและสอนให้ข้าราชการรวบอำนาจ ความเป็น “นาย” จึงชี้เป็นชี้ตาย

“ผู้มีอำนาจ” หรือผู้เป็นใหญ่พูดจาหยาบคาย ทำผิดทำพลาด ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถาม ชวนให้น่ารำคาญ ต่างกับ “ประชาชนทั่วไป” เด็ก เยาวชน นักศึกษา หรือคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไร ถึงแม้จะผิดนิดผิดหน่อย “รัฐราชการ” ก็จะไม่ปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

รัฐราชการไม่ส่งเสริมเหตุผล

ถ้าแม้นว่าไม่มีอำนาจเหนือกว่าก็จะขู่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

หากมีปืน มีกำลัง มีอำนาจจะคุกคามข่มเหงทันที จับได้จับ ขังได้ขัง ไม่เคยอินังขังขอบกับชีวิตเล็กชีวิตน้อย หรือความคิดเห็นที่แตกต่าง

เกิดเป็น “อุปนิสัยนิยม” ชอบที่จะ “นินทา” มากกว่าเปิดใจอภิปรายเพื่อ “ค้นหา” ความจริง

คดีทุจริตของนายรัชฎา อธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นเพียง “หนึ่ง” ในแสนในล้านของการทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการไทย

เรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นทุกวัน มีแทบทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น “ประพฤติมิชอบ” กันเปิดเผย ไม่ปิดบังอำพราง

ทำไม “รัฐบาลรัฐประหาร” และ “รัฐบาลที่สืบทอด” อยู่มากว่า 8 ปีแล้ว ยิ่งนานยิ่งเลวร้าย!?!!!