ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2566 กันแล้ว หาเรื่องดีๆ มาคุยให้ดีต่อใจดีกว่า
ปีกระต่ายทองนี้คาดกันว่าผลผลิตจากพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ
ถือว่าเป็นการปรับตัวของชาวโลกเพื่อหลีกหนีภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ผลพวงจากสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานในยุโรป เนื่องจากรัสเซียไม่ปล่อยก๊าซให้กับกลุ่มสหภาพยุโรปที่หนุนหลังยูเครน
อียูจึงต้องเร่งผลิตพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นทดแทนก๊าซรัสเซีย
พลังงานทางเลือกที่อียูเน้น ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วกลุ่มอียู 19 ประเทศผลิตพลังงานทางเลือกนี้เพิ่มขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์
ผลดีที่ตามมา ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในอียูลดลงต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี
ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา หันมาเล็งเห็นผลดีจากการเร่งเพิ่มผลผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน
เมื่อประเทศบิ๊กเนมเหล่านี้หันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น ชาวโลกมีความหวังว่า ปริมาณก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศ จะไม่เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้
และเป็นการช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เพราะถ้าอุณหภูมิร้อนถึงระดับ 1.5 องศาขึ้นไปเมื่อไหร่ ทั่วโลกจะยิ่งเจอภัยจากพายุอันเกรี้ยวกราด ฝนที่ตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา หิมะถล่มจนบ้านเรือนจมมิด หรือเกิดภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงนานค่อนปีอย่างที่เห็นกันในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจโลกเริ่มกระเตื้อง กิจกรรมการค้าขายกลับมาคึกคัก ชาวโลกตื่นตัวออกเดินทางไปมาหาสู่ มีผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น1% หรือตกราวๆ 36,600 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสถิติใหม่ที่น่าเป็นกังวล
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ (International Energy Agency) เพิ่งเปิดเผยรายงานชิ้นล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีนับจากนี้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียน จะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก แทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนมากเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีก่อน
ไออีเอชี้ว่า วิกฤตพลังงานของยุโรปที่เป็นผลพวงจากสงครามยูเครนนั้นทำให้กลุ่มอียูปรับแผนปฏิบัติการด้านพลังงานหมุนเวียน แต่ละประเทศออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เช่น ลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อุดหนุนเงินให้กับผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
อียูยังเร่งให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ ในปีที่แล้ว มีตัวเลขชัดในภาคอุตสาหกรรมขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 9%
หันไปดูที่จีน ไออีเอคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2565-2570 จีนใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกือบครึ่งของพลังงานหมุนเวียนทั้งโลกที่เพิ่งติดตั้งใหม่ เนื่องจากจีนออกนโยบายใหม่ๆ สนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มีการปฏิรูปแผนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดต่างๆ กำหนดรายได้แน่นอน
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น หลังจากรัฐบาลนายโจ ไบเดน วางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดภาวะโลกร้อนพร้อมกับออกกฎหมายใหม่ๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ กำหนดวงเงินงบประมาณ 369,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีเป้าหมายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ และโครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี นโยบายดังกล่าวนี้จะผลักดันให้สหรัฐมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ไออีเอทำนายว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของสหรัฐจะมากเป็น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2564
หากนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของสหรัฐเดินหน้าฉลุย ไม่มีอะไรสะดุด ภายในปี 2573 สหรัฐจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐได้ราวๆ 30% เมื่อเทียบกับปี 2548
ด้านอินเดีย “ไออีเอ” คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ชาวอินเดียติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รวมกันแล้วมากถึง 500 กิ๊กกะวัตต์ ด้วยเหตุรัฐบาลอินเดียสนับสนุนนโยบายพลังงานหมุนเวียน ทั้งการช่วยเหลือด้านอัตราภาษีให้แก่โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์
ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งอินเดียและสหรัฐเดินหน้ากับผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งไออีเอคาดการณ์ว่า จนถึงปี 2570 ทั้งสองประเทศจะใช้เงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากเป็น 7 เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน
เรื่องดีๆ อีกเรื่องเป็นผลพวงจากรัฐสภายุโรป ประกาศห้ามขายรถยนต์ใช้พลังงานฟอสซิลในสหภาพยุโรป หลังปี 2578 ดังนั้น รถที่วิ่งในยุโรปจะเป็นรถประเภทอีวี ปลอดควันพิษ 100%
ระหว่างนี้ คณะกรรมาธิการอียูกำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมัน ก๊าซ มาเป็นรถอีวี
คำประกาศของรัฐสภาอียูดังกล่าวเท่ากับเป็นส่งสัญญาณให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกต้องเร่งปรับตัว หันมาวิจัยพัฒนาและผลิตรถอีวีมากขึ้นกว่าเก่า
แม้รถอีวีซึ่งใช้แบตเตอรี่ปั่นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษทำให้อากาศบนถนนสะอาดขึ้น แต่กระบวนการผลิตอีวีไม่ใช่เรื่องง่าย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็นโคบอลต์ ทองแดง ลิเธียมหรือนิเกิล ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีจำกัด กรรมวิธีในการขุดเจาะและผลิตแร่ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
กระแสนิยมรถอีวีพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 2563-2564 ยอดขายอีวีทั่วโลกทะลุ 6.6 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 50% แนวโน้มอีก 7 ปีข้างหน้า อีวีจะยึดครองตลาดรถยนต์ของโลกราวครึ่งหนึ่ง
มีการคำนวณว่า เมื่อถึงปี 2573 ความต้องการใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป มีมากถึง 1 ล้านชิ้น ปัญหาที่จะตามมานั่นคือการจัดหาวัตถุดิบเพื่อมาผลิตแบตเตอรี่ให้กับอีวีมีเพียงพอแค่ไหน และแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานจะนำไปรีไซเคิล ดึงเอาวัตถุดิบที่มีราคาแพงออกมาใช้อีกครั้งได้ผลคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่?
ในเมืองไทยเอง กระแสอีวีแรงจัด เฉพาะยอดจองในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปก็ทะลุ 5,800 คัน หรือคิดเป็น 15% ของยอดจองรถทั้งหมด
นี่ยังไม่นับรวมยอดจองรถอีวี “เทสลา” ทำโปรโมชั่นการตลาดเปิดให้จองและเก็บค่ามัดจำ 4,000 บาทผ่านออนไลน์ โปรโมตแค่ไม่กี่วัน มีคนจองทะลุ 5,000 คัน ทั้งที่เงื่อนไขของเทสลาจะส่งมอบรถให้ในไตรมาสแรกของปีกระต่าย
“เทสลา” แค่เอารถมาโชว์ยั่วตาคนไทยไม่กี่คันแต่รับเงินล่วงหน้าไปแล้วอย่างต่ำๆ 20 ล้านบาท
“อีวี” จึงกลายเป็น 1 ในเทรนด์กระแสลดโลกร้อน •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022