ระบบราชการอาณานิคม | คำ ผกา

คำ ผกา

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าว 3 ข่าว ที่ทำให้ฉันคิดว่าเราต้องมานั่งทบทวนเรื่องการปฏิรูประบบราชการไทยอย่างจริงจัง

และการปฏิรูปที่ว่านั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราจะคิดแค่การสะสางปัญหาคอร์รัปชั่น การจับข้าราชการเลวไปลงโทษ

เพราะนั่นเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา

ข่าวแรกคือข่าวเรือหลวงสุโขทัยล่ม ที่มหากาพย์เรื่องนี้เริ่มตั้งความพยายามที่จะบอกว่า ไม่ล่ม แค่เรือเอียงแล้วน้ำเข้า

แต่สุดท้ายข้อเท็จจริงก็ค่อยๆ ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกเรือที่เป็นภารกิจเร่งด่วน และความเร่งด่วนทำให้พลทหาร สอ.รฝ. รับทราบเพียงหนึ่งวัน, สอ.รฝ. 15 นาย จริงๆ ต้องไปเรือหลวงกระบุรี, ชูชีพขาด 30 ตัว, ไม่คัดกรองความสามารถในการว่ายน้ำ และไม่มีต้นกลไปกับเรือ

ลำพังการมีชูชีพไม่ครบตามจำนวนคนที่อยู่ในเรือก็ต้องนับว่าเป็นข้อบกพร่องที่ไม่มีความจำเป็นต้องหาข้อแก้ตัว นอกจากน้อมรับผิด

แต่บุคลากรกองทัพก็ยังมีความสามารถทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้มากขึ้นด้วยการบอกว่า “การมีชูชีพไม่การันตีว่าจะรอด” (เสมือนเราบอกว่าการใส่หมวกกันน็อกไม่การันตีว่าจะทำให้รอดจากอุบัติเหตุ แต่ไม่ได้พูดต่อว่า แต่การใส่ทำให้โอกาสรอดชีวิตสูงกว่า)

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำทหารเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อปฏิบัติภารกิจบนเรือ (ว่ายน้ำไม่เป็น) ไปกับเรือ การไม่มีเสื้อชูชีพสำหรับพวกเขา และการขาดเจ้าหน้าที่สำคัญที่สุดคือต้นกลเรือ ก็เพียงพอที่สังคมจะเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้

ไม่ใช่เพื่อหาคนมาลงโทษ แต่เพื่อเป็นบทเรียนและเพื่อพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานกองทัพให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ที่สำคัญสังคมต้องการให้มีคณะกรรมการจากภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทัพเข้าไปร่วมศึกษาหาข้อเท็จจริงและเหตุแห่งความผิดพลาดนี้

แต่ปรากฏว่ากองทัพของเรานั้นไม่มีทั้งระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติที่จะให้คนนอกหรือ Third party เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการไต่สวนหาข้อเท็จจริง

และทำได้ดีที่สุดเพียงบอกว่า “เราจะสอบสวนอย่างเป็นธรรม และแจ้งต่อประชาชน”

ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าไม่มี “คนนอก” ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย อะไรคือเครื่องมือการันตีว่า รายงานจากกองทัพเรือนั้นน่าเชื่อถือจริงๆ

เปรียบดั่งบริษัททำงบฯ แล้วอ้างว่า โปร่งใส ถูกต้อง ทว่า ไม่มีการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบภายนอกนั่นเอง

จากข่าวนี้สะท้อนว่า กองทัพที่เป็นส่วนหนึ่งของะบบราชการไทย เป็นหน่วยงานที่มีความสมบูรณ์เป็นเอกเทศในตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จโดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการรู้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในนั้นบ้าง

ใดๆ ที่เกิดขึ้นในกองทัพ ก็จบที่กองทัพ เว้นแต่ว่างบประมาณที่ใช้ทำงานเป็นภาษีของประชาชน

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องอธิบดีกรมอุทยานฯ ถูกล่อซื้อ ถ่ายทำ จับกุม กรณีเรียกรับเงินจากลูกน้อง เป็นสินบนเพื่อไม่ให้ถูกโยกย้ายไปในพื้นที่ที่ไม่พึงประสงค์

ฟังดูเผินๆ เหมือนหน่วยงานปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเราทำงานแข็งขันจังเลย

แบบนี้ปัญหาคอร์รัปชั่นของเราต้องหมดไปเร็วๆ นี้แหละ

แต่สาธุชนพึงสดับ ตลอดชีวิตของการเป็นคนไทย ฉันขอถามว่า มีใครไม่เคยอ่านข่าว หรือไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ในแวดวงข้าราชการ หรือแม้กระทั่งตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรของสงฆ์ ก็มีข่าวอื้อฉาวซื้อขายตำแหน่งกันอยู่เนืองๆ และไม่เคยหมดไป

ไม่ต้องพูดถึงการจ่ายเงินสำหรับการโยกย้าย เลื่อนขั้นในวงการตำรวจ

และต่อให้ไม่มีกรณีตู้ห่าว ทุนจีนเทา เราทุกคนก็รู้เรื่องการ “ส่งส่วยนาย” รู้จนเราแทบไม่ถือสาหาความ

รู้จนกระทั่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่แสนจะปกติธรรมดาในประเทศ และรู้ว่า ปัญหานี้แก้ไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ ไม่มีการกระจายอำนาจ เราทุกคนก็แค่ทำตัวเป็นคนอยู่เป็น และพยายามไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ให้น้อย และทำได้แค่ไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน

ส่วนคนที่ประกอบธุรกิจ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ก็อยู่เป็นอีกแบบ นั่นก็คืออยู่ไปจ่ายไป ร้องแรกแหกกระเชอไปก็เท่านั้น ก้มหน้าก้มตาจ่ายเงินค่าคุ้มครองไป เสร็จแล้วก็นำรวมกับราคาต้นทุน

สรุปคนที่จ่ายจริงคือลูกค้าที่เข้าไปใช้บริหารนั่นเอง

คนไทยทุกคนรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้ดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เราไม่เคยสงสัยเลยหรือว่าทำไมหวยไปออกที่อธิบดีกรมอุทยานฯ?

ถ้าการล่อซื้อครั้งนี้ตั้งอยู่บนเป้าหมายการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการจริง ฉันคิดว่า เราคงได้อ่านข่าวการล่อซื้อ ล้อมจับแบบนี้รายวัน วันละเป็นร้อยๆ คดี

และยังไม่ได้กล่าวถึงคนที่ชี้เบาะแสเรื่องนี้ก็เป็นข้าราชการที่เพิ่งถูกดำเนินคดี พิพากษาว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา และอื่นๆ รวม 4 คดี ที่ล้วนแต่เป็นคดีที่มีความรุนแรง มีโทษสูงและเกี่ยวข้องกับการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

แต่กลับได้รับการประกันตัวและสามารกลับเข้ารับราชการ ก่อนจะสร้างผลงานด้วยการเป็นฮีโร่นำจับข้าราชการคอร์รัปชั่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันมีคำถามที่เรียบง่ายมากที่จะถามคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการจะได้รับการแก้ไข เพียงเพราะมีข้าราชการทุจริต ถูกล่อซื้อ ล้อมจับอย่างอึกทึกครึกโครมจริงหรือไม่?

ท้ายที่สุดการล้อมจับ โชว์เงินสดอย่างครึกโครมตลอดจนถึงการมีกฎหมายลงโทษข้าราชการ นักการเมืองคอร์รัปชั่น การมีองค์กรอิสระ (อิสระจากประชาชน) เพื่อปราบคอร์รัปชั่น เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างภาพว่าประเทศนี้เอาจริงเอาจังกับการคอร์รัปชั่น

และเป็นเครื่องมือในการขจัดขวากหนาม ศัตรูทางการเมือง หรือคู่อริของตนในแวดวงราชการเท่านั้นหรือไม่?

เรื่องที่สาม คลิปไวรัล ที่ถ่ายมาจากงานสัมนาของกระทรวงมหาดไทย ที่ปรากฏภาพของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซักถามลูกน้อง (ซึ่งก็เป็นผู้บริหารระดับสูง ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้น้อยไก่กา) ด้วยท่าที น้ำเสียง ตลอดจนถ้อยคำที่ฟังแล้วชวนให้อึดอัดลำบากใจอย่างบอกไม่ถูก

เพราะมันไม่ใช่การขู่ตะคอก วางอำนาจ ข่มขู่ หรือวิจารณ์ด่าทอ สาดเสียเทเสีย

แต่เป็นน้ำเสียงขำขัน เยาะหยัน เยาะเย้ย เหยียดหยาม ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ค่า เป็นการดูถูกที่ฉันอยากจะบอกว่าดูถูกเขาเหมือนเป็นหมูหมากาไก่ในเล้าที่บ้าน

ไม่ว่าจะเป็นประโยคที่ถามว่า “จบมาจากไหน” ซึ่งหลายคนตีความว่าเป็นการดูถูกสถาบันการศึกษา

ซึ่งเป็นการตีความแบบไทยๆ ที่ทุกคนยอมรับ hierarchy ของสถาบันการศึกษาเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เลยคิดว่า เราไม่ควรดูถูกสถาบันการศึกษาคนอื่นที่ต่ำกว่าเรา (ที่คิดแบบนี้ก็เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเราสูงกว่าคนอื่น)

แต่การถามว่า “จบมาจากไหน” เป็นคำถามในเชิงแสดงให้รู้ว่าฉันเป็น “นาย” เพราะไม่ว่าคำตอบจะเป็นมหาวิทยาลัยสยาม หรือจุฬาฯ สิ่งที่ “นาย” จะพูดต่อไปก็คือการบูลลี่หมูหมากาไก่ตัวนั้นอยู่ดี

เช่น ต่อให้ตอบว่า จบปริญญาตรีจากจุฬาฯ “นาย” ก็จะอาจจะบอกอยู่ดีว่า “โง่เป็นควายขนาดนี้ จุฬาฯ ปล่อยให้จบมาได้อย่างไร”

และประโยคที่พูดว่า “โง่เป็นควายเลย” นั้นก็เป็นการพูดไปหัวเราะไปขำไป อันไม่ใช่การ “ตำหนิ” แต่เป็นการ “หยอกแกล้ง” จากคนที่อำนาจเหนือกว่า เพื่อให้คนที่ถูก “หยอกแกล้ง” นั้นได้รับความอับอาย และตอกย้ำว่า “มึงอยู่ใต้อำนาจกู กูจะตบหัว ลูบหลังมึงอย่างไรก็ได้”

และหากมีใครทักท้วงว่าไม่ควรทำเช่นนี้ ก็จะได้รับคำตอบว่า “เฮ้ย หยอกๆ ไอ้ห่า แค่นี้คิดมาก ขอกันกินมากกว่า”

หรือแม้กระทั่งในวัฒนธรรมข้าราชการ ใครถูกนายบูลลี่มาก แปลว่าได้รับความเอ็นดูมากกว่าคนอื่น

และมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่พยายามเอาตัวเองไปเข้าใกล้คนใหญ่คนโต และยิ่งโดนบูลลี่แรงก็ยิ่งยิ้มระรื่นชื่นบานว่า “เนี่ยะ นายเห็นหัวกู เอ็นดูกู แซวกู”

 

ทั้งสามเรื่องนี้สำหรับฉัน มันไม่ใช่ปัญหาเรื่อง “คนไม่ดี” แต่เป็นปัญหาระบบราชการไทยทั้งระบบที่ไม่ได้ปฏิรูปเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างที่ควรจะเป็น

คำว่า “สมัยใหม่” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การมีคอมพิวเตอร์ การมีไอที หรือมีอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย

แต่คำว่าสมัยใหม่หมายถึง ปรัชญา และอุดมการณ์ทางการเมือง ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะคำว่า “ก่อนสมัยใหม่” หมายถึง สังคมในยุคสมบูรณาสทธิราชญ์ ระบบฟิวดัล หรือยุคที่หลายๆ สังคมตกเป็นอาณานิคม ทำให้คนพื้นเมืองในสังคมนั้นไม่ได้เป็น “เจ้าของอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจอธิปไตย”

การปลดแอกจากสังคม “ก่อนสมัยใหม่” คือการปลอดแอกจากระบบฟิวดัลในรูปแบบใดก็ตามเราสังกัดอยู่ หรือการเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แล้วประกาศ “อิสรภาพ” ในบริบทการเมืองไทยสมัยใหม่ วันประกาศอิสรภาพของประเทศไทยคือวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 นั่นเอง

อธิบายโดยสั้นๆ การประกาศอิสรภาพและการปลดแอดสังคมไทยในปี 2475 นั้น “ไม่ลุล่วง” และพ่ายแพ้ต่ออำนาจเก่าในปี 2500 มาจนถึงทุกวันนี้

ทำให้การปฏิรูประบบราชการให้เข้าสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” เหมือนระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยนั่นคือ ครึ่งๆ กลางๆ หัวมังกุ ท้ายมังกร

 

เรามีการปฏิรูประบบราชการครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 5

เป็นการปฏิรูปจากระบบศักดินาเดิมที่อำนาจอยู่ในมือขุนนางมากกว่ากษัตริย์

ในการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นได้ใช้ระบบราชการของอาณานิคมที่อังกฤษใช้กับเมืองขึ้นของตนเองที่เราเรียกว่า ระบบราชการอาณานิคม

มรดกของระบบอาณานิคมที่ยังตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้คือ เครื่องแบบข้าราชการสีกากี และการปกครองส่วนภูมิภาค

ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเป้นประชาธิปไตย ที่ไม่มีโอกาสและเวลาที่ยาวนานพอจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบราชการอาณานิคมให้เป็น ระบบราชการสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ มันจึงทิ้งระบราชการแบบ “เจ้าคนนายคน” ไว้กับเรามาจนถึงทุกวันนี้

ระบบราชการที่เป็นกึ่งระบบกินเมือง อำนาจมีไว้แสวงหารายได้ (การซื้อขายตำแหน่ง การติดสินบน เรียกส่วยค่าคุ้มครอง ฯลฯ)

ระบบราชการวมศูนย์

ระบบราชการที่อำนาจ Third party ไม่มีสิทธิเข้าไปตวจสอบ

ระบบราชการที่ใหญ่โต เทอะทะ สินเปลืองงบฯ ไปกับเงินเดือนบุคลากรและงานเอกสารอันมากมาย ไร้ประโยชน์ มากกว่าเพื่อบรรลุผลแห่งงานในความรับผิดชอบของตนเอง

ระบบอุปถัมภ์เส้นสาย การประจบสอพล สร้างวัฒนธรรมให้ “นาย”

บูลลี่ลูกน้องได้โดยชอบธรรมและถือเป็นทานบารมี สัมพันธ์กับระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยเก่าแก่

เหล่านี้ทำให้ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก และการสมยอมอยู่ในอำนาจระบบอุปถัมภ์ อาวุโส ดำเนินต่อไปในระบบราชการไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไร้หนทางจะหลบนีไปจากมัน หากคุณเลือกจะเป็นข้าราชการ

ระบบความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ เรียกว่า ความมั่นคง ปลอดภัย

ระบบสวัสดิการข้าราชการที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป

มิไยที่เราจะเรียกร้องให้ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องแยกข้าราชการออกไปต่างหาก

แต่ไม่มีข้าราชการคนไหนยอม เพราะทุกคนอุตส่าห์เอาความเป็นมนุษย์ของตนเองไปตายด้านในระบบราชการ “นาย-บ่าว” ก็เพื่อแลกกับสวัสดิการที่เหนือกว่า “ไพร่” ทั้งปวง

 

จะปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ

ก็ต้องถามตัวเองว่าตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังอยู่ลึกที่สุดในระบบราชการไทยแล้วหรือไม่?

เพราะคำตอบมันไม่ใช่แค่กระจายอำนาจ

แต่มันหมายถึงการตระหนักถึงภาวะอาณานิคมที่ยังตกค้างอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้และคิดกับมันอย่างจริงจังว่าจะจะเอามรดกนี้ออกไปได้อย่างไร

หากมองไม่เห็นตรงนี้ การนับหนึ่งปฏิรูปก็มักไขว้เขวและไม่สำเร็จ