จาก Kingdom สู่ 13 Assassins ชมภาพยนตร์ผ่านแว่นการเมือง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

www.facebook.com/bintokrit

 

จาก Kingdom สู่ 13 Assassins

ชมภาพยนตร์ผ่านแว่นการเมือง

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าโควิดกลับมาระบาดหนักอีกแล้วในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะในจีนและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ติดโควิดในรอบนี้ ทั้งๆ ที่ตลอดสามปีที่ผ่านมาก็รอดมาได้เสมอ

การที่ต้องกักตัวทำให้ได้มีโอกาสดูหนังหลายเรื่อง บางเรื่องเคยดูมาก่อนแล้ว แต่ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่เพิ่งออกมาใหม่ แต่เนื้อหาไม่เก่าเลย

ที่สำคัญคือเรื่องราวมีความลึกซึ้งคมคายและเป็นประเด็นทางการเมืองอันทันสมัยเหมาะแก่การเป็นอาหารสมองอย่างมาก

จึงหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสัก 2 เรื่องเพื่อสนทนากัน

Kingdom หนอนที่ชอนไช

เกิดจากภายในราชอาณาจักร

เรื่องแรกเป็นซีรีส์เกาหลีทาง Netflix ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2019 เรื่อง Kingdom ซึ่งมี 2 ซีซั่นติดต่อกัน รวมทั้งหมด 12 ตอน กับอีก 1 ตอนพิเศษ นำแสดงโดยจู จีฮุน (Ju Ji-hoon) ริว ซุงยอง (Ryu Seung-ryong) และแบ ดูนา (Bae Doo-na) โดยถ่ายทอดเรื่องราวสมมุติเชิงประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์โชซอน (Joseon) ที่เกิดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอันน่าสยดสยอง

ใครก็ตามที่ติดโรคนี้จะกลายสภาพเป็นผีเดินได้แบบซอมบี้ที่กระหายเลือดเนื้อ และน่าเหลือเชื่อที่เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากภายในราชสำนักโชซอนเอง หาได้มาจากภายนอกไม่

คนที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นก็คือมหาเสนาบดีโช ฮักจู (Cho Hak-ju) ผู้กระหายอำนาจ ซึ่งได้ปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องกษัตริย์พระองค์ปัจจุบันที่ล้มป่วยจนสิ้นพระชนม์ จากนั้นก็ชุบชีวิตกษัตริย์ให้ร่างกายฟื้นคืนขึ้นมาเป็นซอมบี้ เพื่อซื้อเวลารอคอยจังหวะที่บุตรสาวของตนจะคลอดโอรสออกมาสืบราชบัลลังก์

เนื่องจากธิดาของโช ฮักจู เป็นพระมเหสีของกษัตริย์ ดังนั้น หากพระนางให้กำเนิดโอรสได้สำเร็จ บัลลังก์กษัตริย์ก็จะตกอยู่แก่สายตระกูลของโช ฮักจู ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็คงหนีไม่พ้นโช ฮักจู นั่นเอง ทำให้เขาเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงประหนึ่งกษัตริย์ ครองอำนาจเหนืออาณาจักรโชซอนทั้งปวง

วิธีการยื้อร่างกายของผู้เสียชีวิตเอาไว้สามารถทำได้ด้วยสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีไข่ของพยาธิอยู่ในนั้น และพยาธิพวกนี้คือต้นตอของอาการแปลกประหลาดทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่ร่างของผู้ที่ติดโรค จนกลายเป็นซอมบี้ที่น่าสะพรึงกลัว

ความลับในการสร้างซอมบี้นี้แม้ปกปิดเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเก็บซ่อนไว้ได้ตลอด เมื่อในเวลาต่อมาเริ่มเกิดการแพร่ระบาดขึ้นจนมิอาจควบคุมได้

ทำให้สตรีผู้หนึ่งชื่อหมอโซบี (Seo-bi) ต้องตกกระไดพลอยโจนเข้ามากอบกู้อาณาจักรจากโรคระบาดเหล่านี้ด้วย

การปกปิดความจริงเอาไว้เพื่อหวังผลทางการเมืองทำให้เกิดความโกลาหลปั่นป่วนขึ้นในแผ่นดิน ซึ่งองค์ชายรัชทายาทพระนามว่าลี ชาง (Lee Chang) ก็ได้พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว และในช่วงรอยต่อของความสับสนมืดมนนี้เอง ได้ทำให้การแพร่ระบาดของโรคกระจายไปไกลจนทั่วอาณาจักร

นำมาสู่เรื่องราวอันระทึกขวัญจากการเผชิญหน้ากับกองทัพซอมบี้ที่เป็นเครื่องมือของบรรดาคนเจ้าเล่ห์ กระหายอำนาจ และพยายามครอบงำผู้คนผ่านการควบคุมข้อมูลข่าวสารให้บังเกิดผลอย่างที่ตนต้องการ

13 Assassins

อำนาจสัมบูรณ์ ทรราชสัมบูรณ์

เรื่องต่อมาคือ 13 Assassins นำแสดงโดยโคจิ ยากุโช (Koji Yakusho) เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นปี 2010 ของผู้กำกับฯ ทากาชิ มิอิเกะ (Takashi Miike) ซึ่งสร้างใหม่จากเวอร์ชั่นเดิมในปี 1963 ของผู้กำกับฯ เออิชิ คุโดะ (Eiichi Kudo)

บอกเล่าเรื่องราวของซามูไร 13 คนในสมัยเอโดะที่รวมตัวกันปฏิบัติภารกิจสังหารไดเมียวผู้หนึ่งนามว่ามัตสึไดระ นาริตซุกุ (Matsudaira Naritsugu) ซึ่งมีพฤติกรรมบ้าอำนาจ ชอบความรุนแรง โหดเหี้ยม และอำมหิตผิดมนุษย์มนาอย่างยิ่ง

เขามีรสนิยมในการทำทารุณกรรมข้าทาสบริวาร ทั้งทางเพศ ทางร่างกาย และทางจิตใจ ราวกับภูตผีปีศาจ โดยเป็นที่รับรู้กันไปทั่ว แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้ายับยั้ง

มัตสึไดระ นาริตซุกุ สามารถก่ออาชญากรรมอย่างลอยนวลเรื่อยมาได้ ก็เนื่องจากสถานะความเป็นไดเมียวที่ทำให้เขาคือนายเหนือซามูไรในสังกัด อีกทั้งยังเป็นเครือญาติกับโชกุนอีกด้วย ทำให้เป็นไดเมียวเส้นใหญ่ที่ไร้ผู้ต่อต้าน

แม้ซามูไรทั้งหลายจะอัดอั้นขมขื่นต่อพฤติกรรมของไดเมียวเพียงใด แต่ด้วยระบบของซามูไรที่ต้องภักดีต่อนายอย่างเคร่งครัดตลอดชั่วชีวิต ทำให้พวกเขาได้แต่ทนเก็บความคับแค้นนี้ไว้ในใจเท่านั้น

ทว่า ในที่สุดก็มีกลุ่มซามูไรที่ทนไม่ไหว พวกเขารวมตัวกัน 13 คน แล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้กับมัตสึไดระ นาริตซุกุ เพื่อผดุงความยุติธรรม ซึ่งทำให้ต้องเผชิญหน้ากับทัพของตระกูลมัตสึไดระทั้งตระกูล

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังแอ๊กชั่นย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกตื่นเต้นเร้าใจอย่างยิ่ง

ในขณะเดียวกันก็ได้ตั้งคำถามต่อระบบอันเคร่งครัดตายตัวของการเมืองการปกครองญี่ปุ่นโบราณ ที่บ่าวต้องรับใช้นายอย่างสุดชีวิตโดยไม่ตั้งคำถาม

ท้ายที่สุดแล้วระบบที่วางไว้เพื่อความมั่นคง มีเกียรติ และสามารถปกปักรักษาชีวิตผู้คนทั้งหลาย ได้กลายมาเป็นเครื่องจักรสังหารอย่างเลือดเย็นได้หากทุกคนปฏิบัติตามอย่างเชื่องๆ ทำให้ขนบวิถีที่มุ่งหวังผดุงความยุติธรรมแปรเปลี่ยนเป็นทำลายความยุติธรรมเสียเอง

และจารีตของซามูไรอันทรงเกียรติก็กลับกลายเป็นความอัปยศไปได้

ความภักดีอย่างปราศจากข้อแม้ของนักรบซามูไรทำให้โครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นสืบสายต่อเนื่องมาได้อย่างมั่นคงและทรงประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นหลักจริยธรรมพื้นฐานที่ทุกคนล้วนยึดถือแน่วแน่

แต่คำถามก็คือหากนายเหนือหัวเป็นคนชั่วร้ายขึ้นมา บริวารยังต้องหลับหูหลับตารับใช้ต่อไปโดยไม่หืออืออย่างนั้นหรือ เมื่อนายของตนก่อกรรมทำเข็ญอย่างชัดแจ้ง บ่าวมีพันธะหน้าที่ต้องปฏิบัติตามดังเดิมหรือไม่ หากไม่ เส้นแบ่งนี้อยู่ตรงไหน และใครจะเป็นผู้ตัดสิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเป็นนัยว่าไม่มีอะไรสูงค่าไปกว่าความเป็นมนุษย์ เมื่อถึงจุดหนึ่งมโนธรรมสำนึกจะบอกว่าอะไรที่เกินเลยไปบ้าง และนักรบที่ทนเพิกเฉยต่ออาชญากรรมเหล่านั้นทั้งๆ ที่เห็นอย่างโจ่งแจ้ง ก็เท่ากับเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งของระบอบอาชญากรรม

เมื่อใดที่รับใช้โดยไม่ตั้งคำถาม เมื่อนั้นพวกเขาจะไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นสัตว์ป่ากระหายเลือดฝูงหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับนายของตัวเอง

 

13 Assassins และ Kingdom นั้นแตกต่างกันทั้งรูปแบบและสัญชาติ

เรื่องหนึ่งเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นซีรีส์เกาหลี

แต่ทั้งสองเรื่องต่างให้ความบันเทิงอย่างยิ่ง ตลอดจนหยิบยกประเด็นเชิงการเมืองที่เกี่ยวพันกัน และสามารถกระตุ้นผู้ชมให้ขบคิดได้อย่างยอดเยี่ยม

13 Assassins ตั้งคำถามต่อระบอบที่อิงกับอำนาจสัมบูรณ์ (absolute power) อันมิอาจแตกแถวหรือใช้วิจารณญาณของปัจเจกบุคคลโต้แย้งท้วงติง นอกจากนี้ ยังใช้การส่งต่อสืบทอดอำนาจผ่านทายาทร่วมสายโลหิตในสายตระกูลเท่านั้น ซึ่งไม่อาจการันตีได้ว่าทายาทแต่ละคนจะเช่นใด อาจเป็นดั่งเทวดาหรือปีศาจก็ได้

ด้วยเหตุนี้ การเมืองการปกครองสมัยใหม่จึงปฏิเสธระบบที่อิงสายเลือดมาสู่การเลือกสรรคนตามความสามารถแทน รวมทั้งให้คนเหล่านั้นได้มีอำนาจเพียงชั่วคราวและจำกัดด้วย

ส่วนผู้ใต้ปกครองก็ต้องยึดถือระเบียบวินัยที่มีเหตุผลสมควร อันปรากฏออกมาในรูปของ “นิติรัฐ” คือปกครองตามหลักของกฎหมายที่ชอบธรรม ไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือกฎหมาย ไม่อย่างนั้นผู้ปกครองก็อาจกลายเป็นทรราช และผู้ใต้ปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทำงานส่งเสริมทรราชนั้นให้ดำรงอยู่ต่อไป

แนวความคิดเช่นนี้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านอมตะวาจาของลอร์ดแอ็กตัน (John Dalberg-Acton) ที่ว่า “อำนาจนั้นมีแนวโน้มทุจริตฉ้อฉล อำนาจสัมบูรณ์ การทุจริตฉ้อฉลก็สัมบูรณ์” (Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.)

สำหรับ Kingdom ได้เผยให้เห็นความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของสังคมอำนาจนิยมที่คนใหญ่คนโตดิ้นรนแสวงหาอำนาจและรักษาอำนาจอย่างไม่เลือกวิธี กระทั่งสร้างสถานการณ์ต่างๆ มากมายตามแผน นำความโกลาหลวุ่นวายไม่มีจบสิ้น

รวมทั้งชี้ให้เห็นโทษภัยในระบบของ “สังคมปิด” ที่เกิดการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน เพื่อหวังผลทางการเมืองที่วางเอาไว้ เสมือนช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อส่วนรวมแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ความยุติธรรมในบ้านเมืองต้องพังทลายลงมา