สายสัมพันธ์ใหม่ “เอสซีจี” กับแผนการปรับตัวอันแยบยล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สายสัมพันธ์ใหม่ เอสซีจี ตอนที่ 1 

 

เอสซีจีกับแบบแผนการบริหารธุรกิจในมิติสำคัญ มีการขยับปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยยะ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อโฟกัสโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทสำคัญๆ จากบริษัทแม่ จนถึงกิจการหลักๆ ในเครือ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (SCG) แต่ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ แตกต่างไปบ้าง (SCC) และบริษัทเอสซีจีแพคเกจจิ้ง (SCGP) เพิ่งเข้าตลาดหุ้นไปไม่นาน จนถึงเอสซีจีเคมีคอลส์ (SCGC) กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ทั้งสามกิจการ มีโครงสร้างคณะกรรมการ เป็นไปตามแบบฉบับเดียวกัน

อย่างที่ไว้ (ตอนที่แล้ว) การปรับโครงสร้างคณะกรรมการเอสซีจีครั้งใหญ่ครั้งใหม่ ปรากฏร่องรอยขึ้นเมื่อ 3 ปี กับการสิ้นสุดยุค ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินฯ 2530-2560 ประธานกรรมการเอสซีจี 2541-2561)

ขณะโครงสร้างตามแบบแผนเดิมอย่างเคร่งครัด ผู้มาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คงมีจำนวนพอสมควรและดำรงตำแหน่งประธาน โดยเฉพาะในเอสซีจี และบางคนไปเป็นกรรมการในอีก 2 บริษัทด้วย กรรมการทั้ง 4 (พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เกษม วัฒนชัย พ.ท.สมชาย กาญจนมณี และ พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม) ล้วนมีบทบาทและตำแหน่งสำคัญในสำนักงานทรัพย์สินฯ

โดยภาพใหม่ปรากฏขึ้น กรรมการผู้มีบทบาทเป็นพิเศษ คือกลุ่มอดีตผู้บริหารเอสซีจี ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทเป็นกรรมการในกิจการอื่นๆ อย่างหลากหลาย

โดย ชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) ให้ความสำคัญ โฟกัสบทบาทเป็นกรรมการในกิจการเครือข่ายสำนักงานทรัพย์สินฯ

ส่วน กานต์ ตระกูลฮุน (ผู้จัดการใหญ่ 2548-2558) ถือว่ามีประสบการณ์วงกว้างมากทีเดียวในช่วงหลายปีมานี้

ขณะ ชลณัฐ ญาณารณพ (รองผู้จัดการใหญ่ 2560-2562) ค่อยๆ มีบทบาทวงกว้างมากขึ้น

จนเป็นบทสรุปหนึ่ง “ปัจจุบัน ทีมคณะกรรมการหลัก กับทีมคณะจัดการเอสซีจีเป็นทีมเดียวกัน เป็นโครงสร้างการบริหารธุรกิจ โดยมืออาชีพที่มีความต่อเนื่อง เป็นปึกแผ่นมากที่สุดในสังคมธุรกิจไทยก็คงได้”

 

และเมื่อพิจารณาโครงสร้างกรรมการอย่างกว้างๆ เชื่ออีกว่า เป็นการ “ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทใหม่ทางสังคมธุรกิจไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย” ที่สำคัญกว่านั้น หากว่าด้วยมิติ “สายสัมพันธ์” ย่อมมีความหมายกว้าง ลึกและซับซ้อน แตกต่างจากความเชื่อทั่วๆ ไป

สัดส่วนกรรมการอีกกลุ่มซึ่งเป็นแบบแผนการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าการเงิน บัญชี และกฎหมาย พึงสังเกตว่าเป็นโครงสร้าง เป็นไป เปลี่ยนแปลงจากเดิม ในยุคก่อนหน้า มักให้ความสำคัญ สัมพันธ์ เฉพาะกับอดีตเทคโนแครตการคลัง-การเงิน และผู้บริหารธนาคารใหญ่

ในยุคปัจจุบัน ดูเปิดกว้างมากขึ้น กรรมการกลุ่มนี้เป็นผู้มีประสบการณ์กว้างขวางและหลากหลาย ทั้งมาจากอดีตผู้บริหารนโยบายการเงิน-ตลาดทุน และการค้าของรัฐ แวดวงการศึกษาวิชาการบริหารธุรกิจ ผู้บริหารกิจการระดับโลก ไม่ว่าที่ปรึกษากฎหมาย ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาการจัดการ (ประสาร ไตรรัตน์วรกุล นันทวัลย์ ศกุนตนาค พสุ เดชะรินทร์ พรรณสิรี อมาตยกุล วินิจ ศิลามงคล รพี สุจริตกุล ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ไขศรี เนื่องสิกขาเพียร ชาลี จันทนยิ่งยง และผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ) Profile แต่ละคน ข้อมูลอย่างละเอียด มีใน Official website (https://www.scg.com / https://www.scg.com และ https://www.scgpackaging.com)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือรายชื่อกรรมการทั้งสามบริษัทที่มาจากกลุ่มผู้บริหารธุรกิจปัจจุบัน ปรากฏเป็นผู้บริหาร มีภูมิหลังร่องรอยจากธุรกิจครอบครัว ทั้งมาจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ (ฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มทีซีซี ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และ ทศ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล)

ธุรกิจก่อตั้งมานานพอสมควร ปรับตัว ขยายตัวสู่ยุคใหม่อย่างคึกคัก (วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการบริหารเครือเบทาโกร วิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ และ ธีรพงศ์ จันศิริ แห่งกลุ่มไทยยูเนี่ยน)

ธุรกิจค่อนข้างใหม่มาแรง (จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดับบลิวเอชเอ) แม้กระทั่งผู้บริหารมืออาชีพเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม (ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดลุ่มดุสิตธานี)

 

มองในภาพใหญ่ ผู้นำธุรกิจอันหลากหลายข้างต้น สะท้อนความเป็นไปอย่างเป็นจริงสังคมธุรกิจไทยปัจจุบัน เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันเองซับซ้อน

สำหรับเอสซีจีแล้ว ถือเป็นความสัมพันธ์ใหม่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมธุรกิจไทยด้วยกันเช่นกัน อยู่ในระนาบเดียวกัน เสมอกัน เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ยอมรับ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ บทเรียน รวมทั้งข้อมูล มุมมอง และบทวิเคราะห์ ไม่ว่าความเคลื่อนไหว วงใน จนถึงสถานการณ์ในภาพกว้าง

ว่ากันไปแล้ว มีความแตกต่างจากอดีตอย่างเหลือเชื่อ เชื่อกันว่ายุคก่อนหน้านั้น เชื่อมโยงกับมุมมองเกี่ยวกับเอสซีจีธุรกิจใหญ่ ทรงอิทธิพลดั้งเดิม ดูเหมือนจะมีฐานะและภาพลักษณ์เป็นสถาบัน เป็นแบบอย่างอ้างอิง ดูจะอยู่เหนือกว่าธุรกิจทั่วๆ ไป

มองอย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่ากรรมการกลุ่มนี้ โดยอายุ ถือว่าน้อยกว่ากรรมการในแบบแผนเดิม กรรมการที่มาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อดีตผู้บริหารเอสซีจี และผู้เชี่ยวชาญ จึงนับว่าเป็นส่วนผสมใหม่อันกระฉับกระเฉงที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

อีกมิติหนึ่ง ผู้นำธุรกิจข้างต้น อยู่กับธุรกิจซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวาง มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

เอสซีจี กับแผนการปรับตัวอันแยบยล ท่ามกลางความไม่แน่นอน มากกว่ายุคใดๆ •