จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา : ที่มา หน้าที่ และความหมาย (3) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา

: ที่มา หน้าที่ และความหมาย (3)

 

ข้อเสนอว่าด้วยกำเนิดภาพเขียนภายในพระอุโบสถและวิหารในสมัยอยุธยาตอนปลายของ อ.คริส และ อ.ผาสุก ยังทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงงานของ อ.สายชล สัตยานุรักษ์ เรื่อง “พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเจพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ.2325-2352)” ซึ่งเคยอธิบายถึงสภาพสังคมสยามในสมัยอยุธยาตอนปลายไปในทำนองเดียวกัน

ในงานดังกล่าว นำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าที่ขยายตัวมากทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อโครงสร้างชนชั้นแบบเดิมในอยุธยา มีการขยายตัวของชนชั้นมูลนายลงไปที่คนกลุ่มอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของไพร่ในสังคมอยุธยาตอนปลายก็เปลี่ยนไป มีการขยายตัวของ “ไพร่มั่งมี” มากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจในระเบียบและโครงสร้างทางสังคมศักดินาแบบเดิม มีการเรียกร้องความสัมพันธ์และระเบียบทางสังคมรูปแบบใหม่

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคม ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นมูลนายเก่าและใหม่

ความไม่พอใจของไพร่ที่เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจแบบรูปแบบใหม่ แต่ยังถูกฉุดรั้งด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบเดิม ฯลฯ

ลักษณะข้างต้น ส่งผลให้มีการละเมิดระเบียบของสังคมมากขึ้นโดยคนทุกชนขั้น ซึ่ง อ.สายชลเสนอต่อมาว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310

และทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีการเน้นใช้ศีลธรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาจัดระเบียบและควบคุมทางสังคมมากขึ้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนมารผจญ ผนังด้านสกัดหลังพระประธาน วัดเกาะ เพชรบุรี
ที่มาภาพ : ทวิตเตอร์ ขุนเดชวิทยายุทธ @dejdanaisupa

คําอธิบายของ อ.สายชลสนับสนุนเป็นอย่างดีกับงานของ อ.คริส และ อ.ผาสุก ที่เสนอว่า สภาพสังคมปลายอยุธยานั้นวุ่นวายมาก

และสิ่งนี้อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างหนึ่งของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ เพื่อให้ภาพเขียนเหล่านั้นทำหน้าที่สั่งสอน ควบคุม และฟื้นฟูศีลธรรม

หากเชื่อตามข้อเสนอของ อ.คริส และ อ.ผาสุก (รวมถึงคำอธิบายของ อ.สายชล) แล้วย้อนมาพิจารณาความเปลี่ยนแปลงในการออกแบบวางผังวัดในช่วงเวลาเดียวกัน จากที่เคยเน้นพระปรางค์และพระเจดีย์เป็นประธานของวัด มาสู่การเน้นพระอุโบสถในฐานะประธานของวัดแทน ในฐานะของการเป็นสัญลักษณ์ชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์ผ่านการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ตามที่อธิบายไว้แล้วในสัปดาห์ก่อน) เราก็จะพบความสอดคล้องที่น่าสนใจ

การสร้างความหมายให้แก่พระอุโบสถในฐานะพื้นที่ชมพูทวีป ตามความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ไตรภูมิโลกยวินิจฉัย สมัยรัชกาลที่ 1 (รวมถึงคัมภีร์ที่มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกันในยุคก่อนหน้านั้นแทบทุกสำนวน) ระบุตรงกันว่า ชมพูทวีปคือทวีปเดียวที่จะเป็นสถานที่ในการมาเกิดของพระโพธิสัตว์เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและเป็นทวีปเดียวที่มนุษย์จะมีโอกาสพบเจอพระพุทธศาสนา

ตามความเชื่อดังกล่าว ในทัศนะผม ได้ทำให้ชมพูทวีปกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาเป็นสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่สั่งสอน ควบคุม และฟื้นฟูศีลธรรม ภายใต้ความปั่นป่วนทางสังคมที่กำลังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรี แทรกการเขียนภาพวิถีชิวิตผู้คนลงไปในภาพเล่าเรื่องทศชาดก
ที่มาภาพ : สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์

ยิ่งพิจารณาลงไปที่ความหมายในรายละเอียดของของภาพที่ถูกเขียนประกอบส่วนต่างๆ ภายในพระอุโบสถก็จะยิ่งเห็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ

ตัวอย่างเช่น เนื้อเรื่องสำคัญที่พบร่วมกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการนำมาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นรัตนโกสินทร์คือภาพเขียนทศชาดก ซึ่งความหมายของภาพชุดนี้คือการนำเสนอการทำความดีและสั่งสมบารมีของพระพุทธเจ้า

ภาพตอนมารผจญ เป็นอีกภาพเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่มักถูกเขียนเป็นภาพขนาดใหญ่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง โดยเป็นภาพเขียนที่แสดงห้วงขณะเวลาที่พระพุทธเจ้าจะต้องเลือกระหว่างกิเลสกับการตรัสรู้

โดยกิเลสที่เข้ามารังควานจิตใจถูกนำเสนอผ่านภาพกองทัพมารที่เข้ามาผจญ ในขณะที่การตรัสรู้ถูกนำเสนอผ่านภาพของพระพุทธเจ้าที่ทำท่า “มารวิชัย” และมีภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมนำพาน้ำมหาศาลพัดพากองทัพมารให้พ่ายแพ้ไป และทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในเวลาต่อมา

ภาพดังกล่าวสื่อนัยยะของการสั่งสอนและกระตุ้นเตือนผู้ที่ได้มีโอกาสเห็นภาพเขียนนี้ให้เลือกหนทางในการเอาชนะกิเลสและเลือกทำความดีอย่างชัดเจน

ภาพนรกที่มักปรากฏอยู่บนพื้นที่ด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนประเด็นนี้

โดยภาพส่วนนี้จะแสดงภาพความน่ากลัวของการโดนทรมานรูปแบบต่างๆ ในนรกขุมต่างๆ จากการทำความชั่วเมื่อยังมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย การฆ่าคน การเป็นชู้ การตัดสินคดีความไม่เป็นธรรม การอกตัญญู ฯลฯ เพื่อขู่และเตือนให้คนที่มีโอกาสได้เห็นภาพเหล่านี้เกรงกลัวต่อการทำความชั่ว

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า เนื้อหาที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ มิใช่ปรากฏครั้งแรกบนภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่อย่างใด เกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่เคยถูกเขียนขึ้นมาก่อนแล้วในคัมภีร์ที่นักวิชาการเรียกกันว่า “สมุดภาพไตรภูมิ” ซึ่งมีอยู่หลายสำนวน และมีรายละเอียดของภาพที่แตกต่างกันไปอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเนื้อหาภาพโดยรวมของทุกสำนวนมักจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่คือ ด้านหนึ่ง (นักวิชาการนิยมเรียกว่า “หน้าต้น) จะเขียนเป็นภาพแนวตั้ง อธิบายโครงสร้างของโลกและจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนประธาน

ส่วนอีกด้าน (นักวิชาการนิยมเรียกว่า “หน้าปลาย) จะเขียนเป็นภาพแนวนอน เล่าถึงพุทธประวัติและสัญลักษณ์ต่างๆ ของการเป็นชมพูทวีป ยาวไปจนถึงลังกาทวีป และบางฉบับเขียนภาพเล่าเรื่องมาถึงบ้านเมืองในสยามด้วย

แต่กระนั้น สมุดภาพไตรภูมิ คือของหลวงที่มีแต่เจ้านายและชนชั้นมูลนายระดับสูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เห็น ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป ซึ่งไม่ต่างจากภาพจิตรกรรมยุคต้นอยุธยาที่เขียนไว้ในกรุหรือช่องคูหาพระปรางค์ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปจะมองเห็นได้

ดังนั้น สมุดภาพไตรภูมิ บทบาทหน้าที่จึงมีลักษณะเป็นดั่งคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจใช้ในพิธีกรรมหรือเป็นตำราชั้นสูงสำหรับเจ้านาย

ในขณะที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาตอนปลาย แม้จะมีโครงเรื่องและโครงภาพที่ได้รับอิทธิพลมาจากสมุดภาพไตรภูมิโดยตรง แต่มีบทบาทหน้าที่อีกอย่างที่มุ่งสื่อสารความหมายสำหรับคนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายส่วนจึงต่างออกไปจากที่ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ เช่น ปรากฏภาพของชาวบ้าน ภาพวิถีชีวิต ตลาด เมือง ภาพลามก ภาพตลก ฯลฯ

 

อ.คริส และ อ.ผาสุก ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจโดยเทียบเคียงกับภาพเขียนในยุโรปในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเรอเนสซองส์ โดยอธิบายไว้ว่า ภาพเขียนในยุคกลาง การเขียนภาพคนที่มิใช่กษัตริย์หรือบุคคลในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นสิ่งต้องห้าม แต่เมื่อล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ได้เกิดภาพคนธรรมดาและภาพฉากวิถีชีวิตในเมืองขึ้น (มิใช่ฉากของสวรรค์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป) ซึ่งสะท้อนแนวคิดในเรื่อง ปัจเจกบุคคล และเรื่องราวทางโลกมากขึ้น

ในปลายอยุธยาก็มีลักษณะคู่ขนานที่คล้ายกัน ที่มิติทางโลก การค้า วิถีชีวิตคนธรรมได้เริ่มมีบทบาทความสำคัญขึ้น (สอดรับกับข้อเสนอของ อ.สายชลที่พูดว่าในช่วงนี้แนวคิดแบบมนุษยนิยม ปัจเจกนิยม และความเป็นกระฎุมพีก็ได้เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น) ซึ่งน่าจะส่งทำให้เกิดการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเรื่องราวของผู้คนธรรมดาประกอบอยู่ร่วมกับภาพพุทธประวัติและสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของชมพูทวีป ภายในพระอุโบสถและวิหาร

ลักษณะเช่นนี้ ยังปรากฏให้เห็นในงานวรรณกรรมร่วมสมัยที่นิยมแต่งเรื่องราวที่เน้นเรื่องของคนธรรมดามากขึ้น มีลักษณะพิธีกรรมน้อยลงและตอบสนองต่อความสนุกสนามเพลิดเพลินของชีวิตมากขึ้น ขุนช้างขุนแผน เป็นตัวอย่างสำคัญของปรากฏการณ์นี้

กระนั้น ภาพวิถีชีวิตผู้คนธรรมดาในภาพจิตรกรรมฝาผนังก็มักถูกแยกออกมาปรากฏในพื้นที่ภาพด้านล่างหรือในมุมที่ไม่สำคัญมากนัก ซึ่งนักวิชาการนิยมเรียกกันว่า “ภาพกาก” แต่ในบางวัด ภาพกากเหล่านี้ก็ปรากฏให้เห็นอยู่คู่กันกับภาพเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน

สภาพสังคมในยุคปลายอยุธยาที่เปลี่ยนไปจนทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนัง (สำหรับคนทั่วไปมองเห็น) ถือกำเนิดขึ้น ยังทำให้ผมคิดไปถึงความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ในการออกแบบพระอุโบสถและวิหารในช่วงปลายอยุธยา

ซึ่งคืออะไรนั้น จะขอไปกล่าวถึงในสัปดาห์หน้า