ผ่าดวงเศรษฐกิจไทย ปี 2566

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปีกระต่าย 2566 ปีแห่งการเลือกตั้ง และปีแห่งความหวัง (ว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี)

ขอเริ่มต้นปีด้วยบรรยากาศการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2566 นี้ แต่ละพรรคการเมืองเริ่มปล่อยของ ออกนโยบายต่างๆ เพื่อหวังซื้อใจพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาทุกท่าน แม้ว่าบางพรรคเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอดวาระไม่เคยมีนโยบายเพื่อประชาชนเลย ก็ต้องฝืนใจออกนโยบายเพื่อจูงใจให้ทุกท่านเลือกพรรคของตนเองกลับเข้าสภาอีกครั้ง

แค่ประกาศเลือกตั้ง กลิ่นความเจริญก็ลอยมา

ถ้านักการเมืองคิดและทำเพื่อประชาชนทุกวัน ไม่จำกัดเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง รับรองได้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตแซงทุกประเทศในภูมิภาคอย่างแน่นอน

 

ก่อนวิเคราะห์ด้วยตัวเลขและสถิติ ขอเปิดด้วยการผ่าดวงเศรษฐกิจปีกระต่ายในมุมโหราศาสตร์ไทย เอาใจท่านผู้อ่านสายมูเตลูทุกท่านครับ

ช่วงนี้ดาวมฤตยูยังวนเวียนอยู่ในราศีเมษแถวๆ ลัคนาของดวงกรุงรัตนโกสินทร์ ราหูเกาะกุมแถวๆ อาทิตย์ของดวงเมือง ยังคงเป็นช่วยที่เหนื่อยยากของประเทศ อาจมีข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศ เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว

ต้นปีเสาร์ย้ายราศีจากราศีมังกรไปราศีกุมภ์ซึ่งเป็นเรือนการเงินของประเทศ การเงินยังไม่คล่องตัว มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อรักษาเก้าอี้ครั้งใหญ่เพื่อทิ้งทวน เศรษฐกิจชะลอตัวครั้งใหญ่

ช่วง 19-21 เมษายน ดาวพฤหัสบดีโคจรย้ายราศีจากราศีมีนสู่ราศีเมษ เศรษฐกิจจึงเริ่มเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาบ้าง แต่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปอย่างช้าๆ ไม่รวดเร็ว

การแข่งขันทางการเมืองจะเป็นไปอย่างดุเดือด พอๆ กับฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่ประเทศกาต้า ผลัดกันเดินเกม ชิงไหวชิงพริบตลอด 120 นาที ทั้งผู้เล่นในสนาม ผู้เล่นนอกสนาม กรรมการ โค้ช และกองเชียร์ ละสายตาไม่ได้แม้แต่เสี้ยววินาที

ทุกสิ่งอย่างคงต้องรอดีกันในช่วงครึ่งปีแรกครับ

ส่วนช่วงปลายปีรัฐบาลเริ่มเข้าทำงาน มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจจึงเริ่มต้นเดินหน้าอีกครั้ง ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประชาชนอย่างเราๆ คงต้องประคองตัวให้อยู่รอดถึงปลายปีให้ได้

ออกจากสายมู กลับมาวิเคราะห์ด้วยตัวเลขและสถิติจากปี 2565 ที่ผ่านมากันครับ

 

GDP ปี 2565 คาดการณ์ว่าจะบวกประมาณ 3.5% ซึ่งเป็นอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบ 10 ล้านคน (จากเดิม 0.4 ล้านคน) ช่วยดึงตัวเลขเศรษฐกิจเป็นบวก

อย่าเพิ่งหลงดีใจไป

จากข้อมูลเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ดุลการค้าเป็นบวกก็จริง แต่น้อยลงกว่าปี 2564 ถึง 7 แสนล้านบาท ส่งออกไทยเติบโตขึ้น 6-7 แสนล้านบาท แต่นำเข้าเติบโตขึ้นประมาณ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท อันเนื่องมาจากวิกฤตราคาพลังงาน จึงทำให้ดุลการค้าปรับย่อตัวลง

หากสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ยังยืดเยื้อ เศรษฐกิจปี 2566 ชะละตัวอย่างแน่นอน

ดุลบริการ ติดลบ 9.64 แสนล้านบาท

ดุลบัญชีเดินสะพัด ติดลบ 6.30 แสนล้านบาท ติดลบติดต่อกันเป็นปีที่สอง ดุลการชำระเงินติดลบ 4.90 แสนล้านบาท

จากตัวเลขข้างต้น ถ้าการท่องเที่ยวไทยไม่ฟื้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ รัฐบาลต้องเตรียมแผนสำรองให้ดี

การบริโภคภาคเอกชน เติบโตขึ้น 7.9% อันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อจากวิกฤตราคาพลังงาน

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5% หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ซึ่งเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะมากถึง 20% ของ GDP

การลงทุนภาคเอกชน เติบโตขึ้น 5.1% เป็นสัญญาณฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ดี

การใช้จ่ายภาครัฐปี 2565 ติดลบ คงเป็นเพราะกลัวเงินเฟ้อเลยชะลอการใช้จ่ายภาครัฐ แต่คงไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจดีจึงลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่น่าจะตรงจุดเพราะเงินเฟ้อเกิดจากราคาพลังงานปรับขึ้น

 

จากสถิติข้างต้น ปี 2566 นี้มีสิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มี 3 ประการที่สำคัญ ดังนี้

ประการที่ 1 ปัญหาวิกฤตราคาพลังงาน มีการประมาณการความต้องการด้านพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2.5% ต่อปี แต่กำลังการผลิตทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากข้อตกลงของประเทศผู้ผลิต หรือหากปรับเพิ่มขึ้นก็ไม่เกิน 1% เพราะฉะนั้น วิกฤตราคาพลังงานนี้ไม่ใช่วิกฤตระยะสั้น แต่เป็นปัญหาแบบถาวร

เมื่อราคาพลังงานปรับขึ้นอย่างถาวร จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นและไม่ลดลง ก่อให้เกิดปัญหาค่าครองชีพแพง เมื่อค่าครองชีพแพง กำลังซื้อลดลง การบริโภคภายในประเทศจะลดลงหรือหากไม่ลดลงหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มสูงขึ้น พอนานวันเข้าก็จะเกิดการเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

สิ่งที่รัฐบาลต้องปฏิบัติคือ รัฐบาลต้องยอมรับและปรับตัวเข้าสู่ฐานราคาพลังงานใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด หากรัฐบาลบิดเบือนราคาพลังงานไม่ยอมปรับฐานราคาใหม่ เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ช้ากว่าประเทศที่ยอมรับฐานราคาใหม่

ประการที่ 2 ปัญหาดุลการค้า ดุลบริการ จากข้อมูลปี 2565 สถิติการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการนำเข้า เครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังมีปัญหา หากปล่อยตามยถากรรมดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบไปเรื่อยๆ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง กัดกร่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ผลของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ส่งผลตอนนี้หรอก แต่หลังจากที่รัฐบาลพ้นวาระไปแล้ว 4-5 ปี ประชาชนจึงจะเริ่มรับรู้ถึงมรดกของรัฐบาลที่ฝากไว้กับคนไทยทั้งประเทศ

ไม่อยากจินตนาการเลยว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่า การส่งออกและการท่องเที่ยวไม่เข้าเป้า สถาพจะเป็นเช่นไร

ประการที่ 3 ปัญหาอัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ฉุดการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ จากสถิติปี 2565 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนเป็นตัวชูโรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปี 2566 นี้ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มไม่เติบโตร้อนแรงอย่างปีที่ผ่านมาแน่นอน คงเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ พอรวมเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้น ทั้งสองปัจจัยมีผลกระทบเชิงลบคอยฉุดรั้งเศรษฐกิจไว้

ปีหน้าทุกภาคส่วนฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงสิ่งเดียวที่เหลืออยู่

หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมาอย่างที่คิดไว้ เศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัวอีกปี GDP คงโตขึ้นประมาณ 2.5-3.5%

ส่วนกระผมคงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดถัดไปว่าจะสามารถฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจที่จะต้องประสบในปี 2566 ทั้งสามประการได้อย่างราบรี่น

 

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่กระผมขออาราธนาอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลนานเทอญ

และขอทิ้งท้ายด้วยวลีเด็ดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้เสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ว่า

“In the long run we’re all dead, but make sure the short run doesn’t kill you first.”

หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ในระยะยาวเราทุกคนล้วนต้องสิ้นชีวา แต่โปรดระมัดระวังอย่าให้ผลกระทบระยะสั้นปลิดชีพคุณก่อน”

สวัสดีปีกระต่าย ขอน้องกระต่ายอย่าโหดร้ายกับพวกเรานักนะครับ