กระปุกออมสิน ใน ‘สมอง’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

กระปุกออมสิน

ใน ‘สมอง’

 

ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีการจัดงานเฉลิมฉลองวาระ 215 ปีแห่งการสถาปนาวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นพระอารามใหญ่มโหฬารตั้งอยู่กลางพระนคร

ผมได้รับมอบหมายให้ไปร่วมสนทนาในค่ำวันหนึ่งระหว่างงานดังกล่าว กำหนดหัวข้อพูดคุยส่วนของผมเป็นเรื่องประวัติหรือเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระอารามแห่งนั้น

ส่วนวิทยากรอีกท่านหนึ่งจะพูดถึงเรื่องของพระพุทธปฏิมาสำคัญต่างๆ ภายในวัด

ผมเป็นมนุษย์ชนิดที่ถ้าไฟไม่ลนก้นจริงๆ แล้วก็จะปล่อยทุกอย่างไปตามเรื่องตามราวก่อน

ก่อนถึงวันงานที่ต้องไปพูดออกโรงหนึ่งวัน ผมจึงตระหนักว่าเวลาที่วิทยากรสองคนจะต้องพูดคุยกันมีความยาวนานถึงสองชั่วโมง

คราวนี้ก็ตกใจสิครับ อย่างน้อยหารสองแล้วส่วนที่ผมต้องพูดเองก็ต้องหนึ่งชั่วโมงเป็นธรรมดา

ลำพังความรู้ความทรงจำที่มีอยู่ในสมองอันน้อยนิดไม่สามารถจะพูดอะไรยืดยาวได้ถึงขนาดนั้นเป็นแน่

หนึ่งคืนก่อนที่จะไปพูดในวันรุ่งขึ้น ผมจึงเดินสาละวนอยู่ในห้องเก็บหนังสือต่างๆ ภายในบ้านของตัวเองเพื่อนึกว่าควรจะผ่านตากับหนังสือเล่มไหนบ้าง เป็นการทบทวนข้อมูลอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปใช้งานจริง

ก่อนอื่นใด ผมนึกถึงหนังสือสองเล่มขึ้นมาในสมอง

เล่มแรกคือ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงเป็นพระกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ทรงบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งต้นกรุงไว้ละเอียดลออพอสมควร

ซ้ำต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณ์อธิบายขยายความจดหมายเหตุดังกล่าวให้ละเอียดลออยิ่งขึ้น

จำได้ว่ามีเรื่องการเชิญพระศรีศากยมุนีจากท่าพระไปถึงวัดสุทัศน์ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้แน่

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เคยผ่านตาแต่จำรายละเอียดไม่ได้ คือประชุมหมายรับสั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสมองบอกว่าหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดกระจุกกระจิกหลายอย่างที่อาจจะพาดพิงเกี่ยวข้องมาถึงวัดสุทัศน์จนได้

เมื่อไปเปิดอ่านเข้าแล้วก็พบว่าจริงดังคาด เพราะมีหมายรับสั่งเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการเชิญพระราชาคณะจากพระอารามอื่นมาสถิตที่วัดสุทัศน์เมื่อตอนแรกสร้างสำเร็จเรียบร้อย

ข้อมูลตรงนี้ก็ไปยันตรงกันกับหนังสือประวัติกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทางราชการพิมพ์ขึ้นเมื่อคราวฉลองพระนคร 200 ปี บทที่ว่าด้วยเรื่องของการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวไว้ชัดเจนว่า วัดสุทัศน์เพิ่งจะมีพระภิกษุมาครองพระอารามเป็นการถาวรก็ล่วงเข้าไปถึงรัชกาลที่สามแล้ว

ก่อนหน้านั้นคือตอนปลายรัชกาลที่หนึ่งก็ดี ตอนรัชกาลที่สองก็ดี การก่อสร้างเห็นจะชุลมุนวุ่นวายอยู่ พระมาอยู่ยังไม่ไหวหรอกครับ

หนังสืออีกเล่มหนึ่งหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็ต้องบอกว่าอีกชุดหนึ่งที่น่าจะต้องมีเรื่องเกี่ยวกับวัดสุทัศน์ คือหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ว่าด้วยเรื่องความรู้ต่างๆ รวมไปถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดที่ทรงมีโต้ตอบกันระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

หนังสือที่ผมใช้เป็นคู่มือค้นคว้าคราวนี้คือสาส์นสมเด็จที่เป็นหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภาที่ซื้อสะสมไว้ตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะหนังสือชุดดังกล่าวมีจำนวน 27 เล่ม

โดยเล่มสุดท้ายเป็นดัชนีค้นคำ ซึ่งผมได้ใช้เป็นเครื่องมือโยงกลับไปหาคำว่าวัดสุทัศน์ที่อยู่ในหนังสือเล่มอื่นในชุดเดียวกันได้โดยง่าย

เปิดอ่านดูแล้วก็ได้ความรู้หลายอย่างจริงดังคาด

นี่ถ้าไหวตัวทันและเป็นคนรอบคอบมากกว่านี้อีกสักหน่อย ผมคงหาหนังสือและอีกหลายเล่มที่เกี่ยวข้องกับวัดสุทัศน์และสามารถไปใช้เป็นประโยชน์ได้ในการไปพูดคราวนี้

เอาเถิด! ชีวิตที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เตรียมตัวไปพูดได้แค่นี้ก็ถือว่าพอสมควรแล้ว นอกนั้นก็ไปขายผ้าเอาหน้ารอดบนเวที

 

ผลปรากฏว่ารอดชีวิตมาได้ครับ แถมยังมีความสุขกับการได้เดินดูอะไรต่อมิอะไรที่เคยเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ด้วยสายตาของคนที่เกษียณแล้วและผ่านโลกมามากพอสมควร

ผู้คุ้นเคยที่ไปงานกับผมด้วยปรารภว่า ตามเมืองใหญ่ที่นับถือคริสต์ศาสนาเขามีมหาวิหารที่ฝรั่งเรียกว่า Cathedral เป็นโบสถ์ใหญ่ตกแต่งอย่างวิจิตรอลังการ กรุงเทพฯ ของเรา ถ้าจะนับว่าพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เป็นมหาวิหารก็ไม่น่าจะผิดกติกาแต่อย่างใด

ที่พร่ำเพ้อมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะชวนท่านทั้งหลายคิดว่า ความรู้ของคนเรานั้นถ้าค่อยๆ สะสมให้เพิ่มพูนขึ้นตามวันเวลา ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ความรู้ที่ได้จากการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองความเห็นกับคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีสติปัญญา บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองที่ได้พบเห็นอะไรมามากตามยุคสมัย ข้อมูลทั้งหมดนี้นำมาประมวลกันเข้า พร้อมกันกับที่เราสามารถเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลได้ เราก็จะมีความสุขกับภาพรวมของความรู้ที่ “หยอดกระปุกออมสิน” เก็บสะสมไว้ในสมอง

และพร้อมจะหยิบมาใช้เหมือนกับที่ผมได้แคะกระปุกออกมาพูดในงานที่วัดสุทัศน์คราวนี้

ดังนั้น ผมจึงไม่เคยรังเกียจที่จะอ่านหนังสือ ที่จะพูดคุยกับผู้คนทั้งหลาย และเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นโดยไม่ตั้งกำแพงกีดกันเสียตั้งแต่แรก

ว่าฉันรู้หมดแล้ว หรือที่เธอพูดมานั้นไม่ถูกใจฉัน

 

แนวทางอย่างนี้ผมไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะความรู้หรือความสนใจของผมเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวทางวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่กว้างไปไปถึงเรื่องอื่นรวมทั้งเรื่องของกฎหมายหรือเรื่องการบ้านการเมืองซึ่งเป็นวิชาชีพและความสนใจของผมด้วย

ถูกล่ะครับ บางเรื่องผมก็ยอมแพ้เหมือนกัน เช่น ถ้าจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือนาโนเทคโนโลยีให้ผมฟัง ผู้พูดก็ต้องย่อยข้อมูลให้ง่ายจนถึงง่ายที่สุดจึงจะเหมาะกับจริตของผม

นึกเสียว่าเรื่องยากเย็นแสนเข็ญแบบนั้นรู้นิดรู้หน่อยก็พอสมควรแล้ว

เพราะคนเราไม่ต้องรู้อะไรทุกอย่างในโลกนี้แบบลึกซึ้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราต้องทำมาหากินหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตหน้าที่การงานของเราโดยตรงแล้วสิครับ ที่เราต้องรู้ทั้งทางลึกและทางกว้างให้มากที่สุด

ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็สบายไปรอบตัว ไปข้างไหนก็ไม่ตกอับ

เหมือนอย่างที่โบราณบอกว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

 

อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงวันเด็กประจำปีแล้ว

ปู่หรือลุงแห่งชาติคนนี้ ไม่มีรถถัง เรือรบ หรือเรือดำน้ำมาอวดเด็กๆ ให้ปีนเล่น

มีแต่ความรักและความปรารถนาดี พร้อมกับแง่คิดข้างต้นมาเป็นของฝาก หากลูกหลานได้ลองคิดลองทำดูบ้างแล้ว ลุงเชื่อแน่ว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิตของทุกคนในระยะยาวครับ

ปิดท้ายด้วยคำขวัญวันเด็กปีนี้ของคุณลุงอีกคนหนึ่งเสียหน่อย

“รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”

อิอิ