ดักลาส อิงเจลบาร์ต ผู้ให้กำเนิด “เมาส์คอมพิวเตอร์”

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ดักลาส อิงเจลบาร์ต ถือเมาส์ตัวแรก

อุปกรณ์คู่คอมพิวเตอร์ชิ้นหนึ่งซึ่งคนส่วนหนึ่งใช้งานทุกวันคือ เมาส์คอมพิวเตอร์

เมาส์นั้นใช้งานแสนง่าย แค่ขยับๆ แล้วก็คลิกๆ ก็ทำอะไรได้เยอะแยะทีเดียว

จึงน่าสนใจว่าใครกันหนอที่เป็นคนประดิษฐ์ “เจ้าหนู” คู่หูคอมพิวเตอร์ตัวนี้ขึ้นมา?

เรื่องนี้อาจเดากันว่าน่าจะเป็นฝีมือของสตีฟ จอบส์ เมื่อครั้งยังอยู่ที่บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์

แต่จริงๆ แล้ว แอปเปิลเพียงแค่ช่วยทำให้เมาส์เป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1980 เท่านั้น

เพราะจุดกำเนิดของมันย้อนกลับไปใน ค.ศ.1964 แถมเมาส์ยังเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ ทางเทคโนโลยีของโครงการยิ่งใหญ่โครงการหนึ่งเท่านั้น

ในตอนนั้นวิศวกรหนุ่มอเมริกันเชื้อสายนอร์เวย์ชื่อ ดักลาส อิงเจลบาร์ต (Douglas Engelbart) ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยแห่งสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) กำลังหมกมุ่นกับโครงการยกระดับสติปัญญาของมนุษย์

แนวคิดของโครงการนี้ก็ยิ่งใหญ่สมชื่อจริงๆ เพราะอิงเจลบาร์ตเชื่อว่าปัญหาที่มนุษยชาติต้องเผชิญนั้นนับวันมีแต่จะสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และหากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเกินขีดความสามารถของคนเราเข้าสักวัน

เขาจึงเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำก็คือ หาทางยกระดับสติปัญญาของมนุษยชาติทั้งมวล โดยมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมคอยช่วยเหลือ

และอุปกรณ์ที่ว่านั้นก็คือคอมพิวเตอร์

อิงเจลบาร์ตมีสายตายาวไกลอย่างแท้จริง เพราะในช่วงเวลานั้น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำไป!

ว่ากันว่าอิงเจลบาร์ตได้รับอิทธิพลจากหลักการสัมพัทธภาพเชิงภาษา (the principle of linguistic relativity) ที่ว่า ความซับซ้อนของภาษาที่คนๆ หนึ่งใช้เป็นปัจจัยที่กำหนดว่าคนๆ นั้นจะสามารถคิดซับคิดซ้อนได้มากน้อยแค่ไหน

ในทำนองเดียวกัน เขาเชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในขณะหนึ่งๆ ก็กำหนดขีดความสามารถของคนเราในการจัดการกับข่าวสารข้อมูลต่างๆ และความสามารถนี้ก็จะย้อนกลับมากำหนดว่าเราจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปให้ไกลกว่าเดิมได้เพียงไรด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเราสามารถจัดการกับข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงแล้วละก็ เราก็จะคิดและทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำถามก็คือ แล้วอุปกรณ์แบบไหนล่ะที่จะช่วยคนเราให้ทำอย่างนี้ได้ดีที่สุด?

เมาส์ตัวแรกของโลก

ในตอนนั้นมีการคิดค้นและเสนออุปกรณ์ต่างๆ ไว้หลายรูปแบบ เช่น ปากกาแสง (light pen) จอยสติ๊ก (joy stick) (ซึ่งราชบัณฑิตยสภาบัญญัติว่า “ก้านควบคุม” อย่าได้เรียกว่า “แท่งหรรษา” เข้าล่ะ!) ไปจนถึงอุปกรณ์ควบคุมลูกศรบนจอด้วยหัวเข่า

เมาส์น้อยๆ ของเราต้องประชันกับอุปกรณ์ที่ว่ามานี้ทั้งหมด!

ผลปรากฏว่า ปากกาแสงท่าดี…แต่ทีเหลว เพราะแม้จะดูเหมือนใช้งานง่าย เพียงแค่จิ้มๆ บนจอ แต่คนใช้ต้องเสียเวลายกแขนขึ้นลงๆ ทุกครั้ง ทำให้ช้า (แถมยังเมื่อยอีกต่างหาก)

ส่วนอุปกรณ์ควบคุมลูกศรบนจอด้วยหัวเข่านี่ก็มาจากสมองของอิงเจลบาร์ตด้วยเช่นกัน เขาบอกว่าเวลาขับรถนั้น เท้าจะเหยียบคันเร่งหรือจะแตะเบรกได้ว่องไวดี ทว่าเนื่องจากเท้าไม่เหมาะในการควบคุมลูกศรบนจอ ก็เลยเลื่อนตำแหน่งควบคุมมาไว้ที่หัวเข่าแทน

ในการทดสอบสมรรถนะของอุปกรณ์ต่างๆ ได้ใช้กลุ่มอาสาสมัครมาทำการทดลองใช้โดยกำหนดงานให้ทำ เช่น คอมพิวเตอร์สุ่มวางวัตถุไว้บนจอที่ตำแหน่งหนึ่ง ส่วนเคอร์เซอร์วางอีกตำแหน่งหนึ่ง จากนั้นก็จับเวลาว่าผู้ใช้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการขยับเคอร์เซอร์ไปหาวัตถุโดยใช้อุปกรณ์หนึ่งๆ การทดสอบที่ว่านี้ได้รับเงินสนุนจาก NASA ด้วยนะครับ

เชื่อไหมครับว่าถ้าวัดกันเพียงแค่ความเร็วในการขยับลูกศรบนจออย่างเดียวแล้ว อุปกรณ์ควบคุมด้วยเข่าเฉือนชนะเมาส์ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด แต่เมาส์ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก (เช่น ปุ่มคลิก) เจ้าหนูตัวเก่งของเราจึงเข้าป้ายเป็นที่หนึ่ง

น่าคิดเหมือนกันว่า หากไม่มีใครคิดเมาส์ขึ้นมาแข่งในตอนนั้น ป่านนี้ทั้งคุณและผมอาจจะต้องนั่งกระดิกขา ขยับหัวเข่า เพื่อควบคุมลูกศรบนจอคอมพิวเตอร์กันอยู่ก็เป็นได้…อิอิ

 

เมาส์หุ่นบึกบึนตัวแรกของโลกมีลำตัวทำจากไม้ และใช้ล้อเฟืองสองอันตั้งฉากกันจับการเคลื่อนไหวในแนวระนาบ

สังเกตปุ่มคลิกเล็กๆ ที่มุมซ้าย วงจรอิเล็กทรอนิกส์ของเมาส์ตัวแรกออกแบบโดยคู่หูของอิงเจลบาร์ตชื่อ บิลล์ อิงลิช (Bill English) ต้นทุนที่ใช้ในการพัฒนาราว 300 ดอลลาร์

ต่อมาก็มีโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีคือ เจฟฟ์ รูลิฟสัน (Jeff Rulifson) มาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ในการควบคุมให้ดียิ่งขึ้นไปอีกหลายขุม

เดิมทีเมาส์ตัวแรกนี้มีหางอยู่ด้านมือจับ แต่โดนย้ายไปอยู่ด้านตรงกันข้ามเพื่อไม่ให้เกะกะ และในระยะแรกๆ บางคนเรียกมันว่า บั๊ก (bug) หรือแมลงปีกแข็งด้วย แต่ชื่อเมาส์ (mouse) ติดปากมากกว่า เพราะมีตัว มีหาง แถมลูกศรบนจอยังวิ่งเพ่นพ่านไปมาเหมือนหนูหลงทาง

โครงการยกระดับสติปัญญามนุษย์ไม่ได้ให้กำเนิดแค่เมาส์เท่านั้น แต่นวัตกรรมไอทีล้ำสมัยยังคลอดออกมาเป็นว่าเล่น เช่น ไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) การประชุมระยะไกลผ่านวีดิทัศน์ (video conferencing) การแก้ไขข้อความบนหน้าจอแบบต่อเนื่อง (continuous on-screen editing) เจ้าหนูของเรา หรือเมาส์ เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้เล็กๆ เท่านั้น

โครงการนี้เปิดตัวนวัตกรรมไอทีในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1968 และมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “The Mother of All Demos” หรือ “มารดาแห่งการสาธิตทั้งปวง”

น่ารู้ด้วยว่าสิทธิ์ในสิทธิบัตรของเมาส์ตัวแรกของโลก รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตกเป็นของสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ไม่ได้เป็นของดักลาส อิงเจลบาร์ต แต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ดี เมาส์มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ อย่างเมาส์แบบแรกของอิงเจลบาร์ทยังใช้งานยากอยู่ ทำให้บิลล์ อิงลิช (คนออกแบบวงจรให้กับเมาส์ตัวแรกนั่นแหละ) ดัดแปลงกลไกใหม่ เกิดเป็นเมาส์แบบมีลูกกลิ้งทรงกลมอยู่ใต้ท้อง (ball mouse) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ.1972

และต่อๆ มาก็มีเมาส์แบบไร้สายโดยใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์รังสีอินฟราเรด (IR) ตามมาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ (RF) เป็นต้น

มีเรื่องเล่าเล่นๆ เกี่ยวกับเมาส์เรื่องหนึ่งคือ เมื่อครั้งที่คอมพิวเตอร์พร้อมเมาส์ออกมาใหม่ๆ นั้น ได้มีคนสนใจซื้อไปใช้ไม่น้อย

แต่มีลูกค้ารายหนึ่งโทร.กลับมาถามที่ร้านว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อไปเสียหรือเปล่า เพราะเสียบปลั๊ก กดปุ่มเปิดเครื่องแล้ว แต่ “แป้นเหยียบ” นี่ เหยียบเท่าไรเครื่องก็ไม่ทำงานซะที

พนักงานขายเป็นงงเหลือเกินว่าแป้นเหยียบอะไรหว่า… แต่พอซักต่อไปได้อีกนิดเดียวก็รู้ว่า

“แป้นเหยียบ” ที่ว่านั้นก็คือ เมาส์ นั่นเอง! 😉

ใต้ภาพ

1-ดักลาส อิงเจลบาร์ต ถือเมาส์ตัวแรก (แสดงให้เห็นด้านล่างของเมาส์)

2-เมาส์ตัวแรกของโลก