สงครามนิวเคลียร์ 2023 : สงครามรัสเซีย-นาโต! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามนิวเคลียร์ 2023

: สงครามรัสเซีย-นาโต!

 

“เราไม่ได้เป็นบ้าไปแล้ว เราตระหนักดีว่าอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร เรามีอาวุธเหล่านี้ที่ทันสมัยมากกว่าและสมรรถนะสูงมากกว่าประเทศนิวเคลียร์อื่นๆ และนี่คือความจริงที่ชัดเจน”

ประธานาธิบดีปูติน (7 ธันวาคม 2022)

“ถ้ามีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นความผิดพลาดอย่างน่าสยดสยอง”

บทสัมภาษณ์เลขาธิการนาโตถึงโอกาสเกิดสงครามรัสเซีย-นาโต (9 ธันวาคม 2022)

 

ความกังวลว่าสงครามยูเครนจะยกระดับ จนอาจกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” นั้น ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในเวทีระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ความกังวลดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของสงครามยูเครนแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น เมื่อวัตถุประสงค์ทางทหารในการเข้าตีและยึดครองเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครนให้ได้อย่างรวดเร็วนั้น ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของรัสเซีย

หลายฝ่ายจึงมีความกังวลว่าประธานาธิบดีปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ เพราะกองทัพรัสเซียไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยอาวุธของสงครามตามแบบ

ความกังวลต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ของรัสเซียในช่วงเวลาต่อมา เป็นผลโดยตรงจากการ “รุกกลับ” (counteroffensive) ของกองทัพยูเครนในภาคใต้

การถอยร่นของกองทัพรัสเซียจากแนวรบด้านเคอร์ซอน ทำให้มีเกิดความกังวลว่าผู้นำรัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีแก้ปัญหาการถอยของกองทัพรัสเซียหรือไม่

แม้จะไม่เกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในทั้งสองเหตุการณ์ แต่ก็ใช่ว่าความกังวลต่อปัญหาเช่นนี้จะสิ้นสุดลง เนื่องจากผู้นำรัสเซียยังคงกล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

จนทำให้เราไม่อาจตัดประเด็นเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ในยูเครนออกไปได้ในปี 2023

 

หายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็น “อุบัติเหตุนิวเคลียร์” (nuclear accident) ในยูเครนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะยูเครนเคยเผชิญกับ “หายนะเชอร์โนบิล” (Chernobyl Disaster) ในเดือนเมษายน 1986 มาแล้ว แต่หากพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบัน หายนะเช่นนี้อาจปรากฏใน 2 รูปแบบหลัก คือ

– อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีโดยไม่ใช่เกิดจากความตั้งใจของคน แต่เป็นความผิดพลาดของระบบ (กลไกในการควบคุม) หรือเกิดจากพายุ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในญี่ปุ่นที่เป็นผลจากสึนามิในปี 2011 คือเป็นอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เป็นต้น

– การโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวคือ โรงไฟฟ้าเช่นนี้ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหาร และเป็นการโจมตีด้วยความตั้งใจ หรืออาจเกิดจากการใช้อาวุธยิงด้วยความไม่ตั้งใจต่อเป้าหมายที่ใกล้เคียงมากกับโรงไฟฟ้า แต่กระสุนพลาดเป้าและโดนโรงไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการโจมตีทางทหารขึ้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจนำไปสู่การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี แต่หากเป็นการโจมตีและส่งผลโดยตรงต่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นมากกว่าเรื่องการรั่วไหลของรังสี และอาจรุนแรงมากกว่าในปี 1986

หายนะนิวเคลียร์ในส่วนนี้อาจเป็นเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้จะไม่ใช่เป็นประเด็นเรื่องของการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยตรงก็ตาม

แต่ประเด็นในอีกด้านคือปัญหาสงครามนิวเคลียร์

 

หายนะสงครามนิวเคลียร์

หายนะจากสงครามนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดจากการใช้อาวุธยิง และกระสุนตกจนก่อให้เกิดผลกระทบกับโรงไฟฟ้านั้น หากมีความหมายโดยตรงถึงการที่ผู้นำมอสโกตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์กระทำกับเป้าหมายในยูเครน ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่เป็นเมือง เพื่อก่อให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ อันจะเป็นการบีบบังคับให้รัฐบาลยูเครนต้องประกาศการยอมแพ้

ดังได้กล่าวแล้วว่า หากรัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธชนิดนี้ในเบื้องต้น ก็น่าจะเป็นการใช้อาวุธในระดับทางยุทธวิธี เนื่องจากความใกล้ชิดของพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลที่เกิดในเวทีโลกกับปัญหาสงครามนิวเคลียร์ในยูเครนนั้น เป็นผลจากท่าทีของประธานาธิบดีปูตินโดยตรง

การแสดงออกด้วยการสื่อสารทางการเมืองของผู้นำรัสเซียมักจะกล่าวอ้างถึงอำนาจของอาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ในคลังแสงของกองทัพรัสเซีย จึงทำให้เกิดการตีความตามมาว่า การแสดงออกเช่นนี้ย่อมมีนัยว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีเป้าหมายในยูเครนน่าจะเป็น “ทางเลือกในใจ” ประการหนึ่งของผู้นำรัสเซีย

ดังเช่นในเดือนที่ 7 ของสงคราม ประธานาธิบดีปูตินออกมากล่าวในวันที่ 24 กันยายนว่า รัสเซียมี “อาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างเป็นจำนวนมาก”

และย้ำว่ารัสเซียพร้อมใช้ “อาวุธทุกอย่างที่มีอยู่” พร้อมกับเพิ่มอีกว่า “นี่ไม่ใช่คำขู่” (This is not a bluff.)

นอกจากนี้ประธานาธิบดีปูตินยังได้กล่าวอีกด้วยว่า ที่ต้องใช้อาวุธทุกอย่างเพราะเป็น “การต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ” จากการคุกคามของโลกตะวันตก

ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้ไม่เพียงมีนัยถึงการตอกย้ำว่ารัสเซียพร้อมใช้อาวุธทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งย่อมหมายถึงว่า ถ้ามีความจำเป็นแล้ว รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรักษาผลประโยชน์ดังกล่าว

อีกทั้งมีการส่งสัญญาณอีกประการว่า สงครามในยูเครนจะเป็น “สงครามระยะยาว” (ปูตินกล่าวโดยใช้คำว่า “a consistent struggle”) และยังกล่าวอีกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียในยูเครนนั้น จะยังคงดำเนินต่อไป

และเขากล่าวเพิ่มว่าปฏิบัติการนี้เป็น “กระบวนการระยะยาว” ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า การสิ้นสุดของสงครามยูเครนน่าจะเป็นเรื่องที่ห่างไกล

 

ผลกระทบของสงคราม

จากช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวในตอนปลายปี 2022 จะเห็นถึงการที่รัสเซียเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำในสนามรบที่ยูเครน โดยเฉพาะการสูญเสียกำลังพลและยุทโธปกรณ์ อันทำให้เกิดความขาดแคลนกำลังพลในกองทัพรัสเซีย

ซึ่งทำให้ผู้นำรัสเซียจำเป็นต้องออกประกาศระดมพลแบบจำกัด (partial military mobilization) โดยจะมีการเรียกกำลังพลเพิ่มอีก 3 แสนนาย ซึ่งการระดมพลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้

กำลังพล 1 แสน 5 หมื่นนาย ได้ถูกส่งเข้าทำการรบในยูเครนแล้ว

แน่นอนว่าการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ทำให้คนหนุ่มจำนวนหนึ่งตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกพล

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้คล้อยไปกับวาทกรรมของรัฐบาลในการเข้าสู่สงครามเพื่อปกป้องยูเครนจากพวกนาซี และเพื่อปลดปล่อยยูเครนออกจากการปกครองของ “รัฐบาลนิยมนาซี” ที่เคียฟ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมอสโกยิ่งมีทิศทางที่ชัดเจนถึงการถอยร่นทางทหารแล้ว หลายฝ่ายดูจะยิ่งกังวลมากขึ้นตามไปด้วยว่า ภาวะดังกล่าวจะเป็นแรงบีบคั้นให้ประธานาธิบดีปูตินต้องใช้นิวเคลียร์เพื่อทดแทนการถอยร่นที่เกิดขึ้น

เพราะหากสงครามยูเครนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียแล้ว อาจมีนัยถึงการสิ้นสุดของ “ระบอบปูติน” (The Putin Regime) ด้วย

เนื่องจากรัฐบาลที่แพ้สงครามนั้น มักจะล่มสลายตามไปกับความพ่ายแพ้ดังกล่าว

การล่มสลายของระบอบการปกครองของพระเจ้าซาร์ก็เป็นผลจากความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัสเซียด้วย

นอกจากนี้ภาวะถดถอยทางทหารมีความชัดเจนมากขึ้น ดังที่โอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี ได้กล่าวถึงความสูญเสียของกองทัพรัสเซียว่ามีจำนวนสูงมาก และทหารรัสเซียอาจจะเสียชีวิตในยูเครนแล้วมากกว่า 1 แสนนาย

ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้เลขาธิการนาโต (NATO) มีความกังวลอย่างมากกับการขยายสงครามในปี 2023 เพราะผู้นำมอสโกอาจต้องเปิดการรุกกลับในช่วงหลังจากฤดูหนาวผ่านพ้นไป

แต่กระนั้นก็ไม่ชัดเจนว่าในระหว่างฤดูหนาวนี้ รัสเซียจะตัดสินใจดำเนินการทางทหารในรูปแบบใด

ฉะนั้น เลขาธิการนาโตจึงเตือนว่าสงครามยูเครนอาจขยายไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ และกลายเป็น “สงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต” (คำสัมภาษณ์สถานี NRK ของนอร์เวย์, 9 ธันวาคม 2022)

ถ้าเกิดสงครามจริงระหว่างรัสเซียกับนาโตที่ไม่ใช่ในแบบสงครามเย็นเช่นในอดีตแล้ว โอกาสที่สงครามจะยกระดับและขยายตัวมากขึ้นในปี 2023 ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากเกิดแล้ว การเมืองโลกจะมีปัญหา 4 ประการตามมา คือ

1) สงครามรัสเซีย-นาโตจะหยุดเพียงแค่การเป็น “สงครามใหญ่ของรัฐมหาอำนาจยุโรป” หรือจะขยายตัวไปสู่ภาวะ “สงครามโลก” หรือไม่

2) สงครามนี้อาจจะเป็นโอกาสให้รัสเซียตัดสินใจเปิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีต่อเป้าหมายในยูเครน เพื่อแก้ปัญหาทางทหารที่เกิดขึ้นหรือไม่

3) ถ้าสงครามยูเครนขยายตัวเป็นสงครามรัสเซีย-นาโตแล้ว รัสเซียจะขยายการโจมตีเป้าหมายที่สำคัญของรัฐมหาอำนาจตะวันตกด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือไม่

4) ถ้าเกิดการโจมตีดังที่กล่าวในข้อ 3 โลกจะก้าวเข้าสู่ “สงครามนิวเคลียร์เต็มรูป” หรือไม่ (full-scale nuclear war) หรือในอีกด้านหนึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามโลกครั้งที่ 3” หรือไม่

 

มหันตภัยนิวเคลียร์

คําถาม 4 ประการเช่นนี้ อาจจะเสมือนกับการมอง “ภูมิทัศน์โลก 2023” ด้วยทัศนะเชิงลบอย่างมาก

แต่ความกังวลต่อปัญหาสงครามนิวเคลียร์ในยูเครนเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้ประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครนเองก็กล่าวเตือนว่า “ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์” มีมากขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีปูตินเองอาจนำเอาหลักนิยมทางทหารแบบอเมริกันในเรื่องของ “การชิงโจมตีก่อน” (pre-emptive strike) มาใช้เป็นหลักนิยมสงครามนิวเคลียร์ของรัสเซีย

เพราะไม่เพียงทำให้ฝ่ายข้าศึกไม่สามารถรับมือการโจมตีที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีเท่านั้น แต่จะเป็นโอกาสของการปลดอาวุธของกองทัพข้าศึกได้ก่อนด้วย

ในอีกด้าน ประธานาธิบดีปูตินพยายามกล่าวให้โลกคลายความกังวลว่า รัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายเปิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่กระนั้น เขาก็กำลังพิจารณาถึงหลักนิยมการชิงโจมตี ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณว่า ถ้ามีความจำเป็น รัสเซียอาจตัดสินใจโจมตีก่อน…

2023 จึงอาจจะไม่ใช่ปีที่สดใสในมิติของสงคราม!

 

ข้อมูลท้ายบท

หัวรบนิวเคลียร์ของอาวุธทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

– ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) จำนวน 1,185 หัวรบ

– ขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ (SLBM) จำนวน 800 หัวรบ

– ระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิด จำนวน 580 หัวรบ

ที่มา : Federation of American Scientists