อุษาวิถี (10) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (10)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ยิ่งกิตติศัพท์ “ปิตุฆาต” ของพระเจ้าอชาตศัตรูที่เลื่องลือไปทั่วสังคมอินเดียขณะนั้นด้วยแล้ว นับเป็นแรงกระตุ้นที่ดีต่อการตระเตรียมความพร้อมของรัฐอื่นๆ ซึ่งมีทั้งเพื่อป้องกันตนเองจากรัฐมคธ และเพื่อการบุกโจมตีรัฐมคธ

บางรัฐที่เคยมีสัมพันธไมตรีอันดียิ่งก็ประกาศตัดความสัมพันธ์ลง เช่น รัฐอวันตี

และแน่นอนว่า รัฐที่มีฐานะและอำนาจทัดเทียมกับรัฐมคธอย่างรัฐโกศลนั้น ภายหลังจากกวาดล้างทำลายกบิลพัสดุ์จนไม่หลงเหลือความเป็นสาธารณรัฐ และภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว การทำสงครามกับรัฐมคธจึงไม่มีสิ่งใดมาเหนี่ยวรั้งได้อีก

มหายุทธนาการระหว่างรัฐทั้งสองมีด้วยกันสี่ครั้ง และจบลงด้วยชัยชนะของรัฐมคธในที่สุด

 

อีกรัฐหนึ่งที่ทำสงครามกับรัฐมคธก็คือ รัฐวัชชี และจบลงด้วยบทสรุปที่ไม่ต่างกัน ความพ่ายแพ้ของรัฐวัชชีทิ้งไว้แต่ตำนาน “สามัคคีเภท” อันเป็นแผนแยบยลจากความคิดของวัสสการพราหมณ์ ขุนนางแห่งราชสำนักมคธ ให้เป็นเรื่องเล่าขานเชิงนิทัศน์อุทาหรณ์มาจนทุกวันนี้

แผนที่ว่าคือ วัสสการพราหมณ์ได้แสร้งทำทีแปรพักตร์จากมคธไปเข้าด้วยกับวัชชี ข้างวัชชีก็ตายใจหลงเหลือวัสสการพราหมณ์ แล้วตั้งให้วัสสการพราหมณ์เป็นขุนนางของตน เช่นนี้แล้ววัสสการพราหมณ์ก็ค่อยบ่อนแซะทำลายความสามัคคีของวัชชีจนสำเร็จ

จากนั้นก็แจ้งไปยังมคธให้กรีธาทัพมาตีวัชชี จนวัชชีแตกพ่ายไปในที่สุด และเป็นที่มาของตำนาน สามัคคีเภทคำฉันท์ โดยชิต บุรทัต ที่มีชื่อเสียงที่ไทยเรารู้จักกัน

เวลานั้นกรุงราชคฤห์ได้ย้ายมาอยู่ยังที่ใหม่แล้วให้ชื่อว่า “กรุงปาฏลีบุตร” โดยมีวัสสการพราหมณ์เป็นหนึ่งในสองผู้อำนวยการสร้างนครใหม่แห่งนี้จนแล้วเสร็จ

 

บทบาทของวัสสการพราหมณ์ดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า แม้เวลานั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจะทรงเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลของพราหมณ์ก็ยังคงมีอยู่อย่างแนบแน่นกับสถาบันทางการเมือง โดยภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอชาตศัตรูประมาณปี พ.ศ.22 (ประมาณ 483 ปีก่อน ค.ศ.) รัฐมคธยังคงพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคมอินเดียต่อไป

พร้อมกันนั้นก็การผลัดเปลี่ยนกษัตริย์แบบ “ปิตุฆาต” สืบต่อกันมาอีกสี่พระองค์ กระทั่งราชวงศ์สีสุนาคถึงแก่กาลล่มสลายลงไปในที่สุด

แม้กระนั้นก็ตาม ผลงานอันโดดเด่นที่ยากปฏิเสธของราชวงศ์นี้ก็คือ การวางรากฐานให้กับการเมืองในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ (monarchical system) ของอินเดียได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา

ส่วนราชวงศ์นันทะที่ก้าวขึ้นมาแทนที่นั้นก็มีบทบาทและเจตนารมณ์ที่ไม่แตกต่างกัน จนประมาณ พ.ศ.133 (ก.ค.ศ.350) ราชวงศ์นันทะก็สามารถรวบรวมเอาอินเดียภาคใต้ได้สำเร็จ

และนับเป็นราชวงศ์แรกที่ทำให้การเป็นมหาอาณาจักรอินเดียภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์เริ่มปรากฏเป็นจริง

 

แต่ครั้นระหว่าง พ.ศ.156-158 (ก.ค.ศ.327-325) นั้นเอง มหาอาณาจักรอินเดียก็ถูกคุกคามโดยกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งเมซีโดเนีย การคุกคามสามารถทำได้เพียงปริมณฑลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเท่านั้น แต่กระนั้น ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ปีก็ถูกพระเจ้าจันทรคุปต์ขับไล่ออกไป

พร้อมกับยึดอำนาจจากราชวงศ์นันทะแล้วตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ชื่อว่า “เมารยะ”

ราชวงศ์เมารยะได้เข้ามาสานต่อเจตนารมณ์ในการสร้างมหาอาณาจักรอินเดีย และทำได้จนสำเร็จ โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก (ครองราชย์ พ.ศ.210-251 หรือ ก.ค.ศ.273-232) นั้น เจตนารมณ์ดังกล่าวได้ถูกสานต่อจนกลายเป็นจริง

เวลานั้นเหลือเพียงดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และอีกส่วนหนึ่งของดินแดนทางภาคใต้ที่ยังไม่ยอมขึ้นต่อรัฐมคธ พระองค์จึงได้กรีธาทัพบุกโจมตีและยึดรัฐกาลิงคะทางชายฝั่งทะเลตะวันออก และอีกส่วนหนึ่งของรัฐอานธระ

สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดคิดก็คือ ชัยชนะที่พระเจ้าอโศกได้รับในครั้งนั้นได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อพระองค์บังเกิดความสลดใจต่อชีวิตนับแสนของฝ่ายรัฐกาลิงคะ ที่ต้องสูญเสียไปจากสงครามที่พระองค์ทรงก่อขึ้น จนทำให้พระองค์ทรงหันเข้ามานับถือพุทธศาสนาตราบจนสิ้นพระชนม์

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้นำเอาหลักคำสอนของศาสนาพุทธมาเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาอาณาจักรอินเดียในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกภายหลังจากสงครามครั้งนั้น จึงไม่ยอมให้มีการฆ่าหรือจับกุมคุมขังสิ่งมีชีวิตอีกต่อไป

หากมีผู้กระทำผิดเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยผู้ใดก็ตาม การพิจารณาจะดำเนินไปด้วยอุเบกขาธรรมอย่างถึงที่สุดบนฐานของเมตตาธรรม โดยให้ผู้กระทำผิดมีเกิดความคิดที่เห็นชอบ และหากล้มเหลวก็จะเสียพระทัยที่มิอาจทำให้สรรพสัตว์อยู่รอดปลอดภัยอย่างมีสติสัมปชัญญะ ความสงบสุขทางใจ และความปีติโสมนัส

 

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดคิดดังกล่าวยังมีอยู่อีกว่า แม้แต่การดำเนินชีวิตปกติก็ยังเกิดขึ้นตามกรอบของพุทธศาสนาอีกด้วย

นั่นคือ การนิยมรับประทานอาหารผักและการละเว้นเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์มักนิยมรับประทานเนื้อสัตว์ และดื่มสุรายาเมากันอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ แม้แต่พิธีกรรมใช้สัตว์บูชายัญก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคแห่งพุทธศาสนานี้อีกด้วยเช่นกัน

 

บทบาทของศาสนาพุทธหาได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ไม่ สิ่งสำคัญทางศาสนธรรมในรัชสมัยนี้ยังมีอีกว่า ก่อนสมัยพระเจ้าอโศกนั้น ศาสนาพุทธได้เคยผ่านการสังคายนามาแล้วสองครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มหลังพุทธปรินิพพานไปไม่นาน ครั้งต่อมาห่างจากครั้งแรกประมาณ 100 ปี

ในครั้งที่สองนี้เองที่การสังคายนาได้นำไปสู่ความแตกแยกของคณะสงฆ์ขึ้น

โดยสงฆ์คณะเดิมเรียกว่า “เถรวาท” ส่วนคณะใหม่เรียกว่า “มหาสางฆิก”

และหลังจากการแตกแยกครั้งนั้นอีกประมาณ 100 ปีต่อมา ศาสนาพุทธก็แยกเป็นนิกายต่างๆ นับได้ 18 นิกาย ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าอโศก

จนเมื่อพระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ศาสนาพุทธแล้ว สิ่งที่ตามมานอกเหนือไปจากบทบาททางการเมืองของศาสนานี้ก็คือ การสังคายนาครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สาม

ผลคือ มีคณะสงฆ์จาก 11 นิกายถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุม

คณะสงฆ์ทั้ง 11 นี้จึงพากันไปประชุมที่เมืองนาลันทา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายมหายานในที่สุด