ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เนเธอร์แลนด์ : ทำไมน้ำไม่ท่วม ทั้งที่แผ่นดินต่ำกว่าระดับน้ำทะเล?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ที่นี่เป็นประเทศที่แปลกประหลาด มันกลับตาลปัตรไปจากประเทศอื่นๆ ที่จริงแล้ว มันไม่น่านับว่าเป็นประเทศเสียด้วยซ้ำ”

ข้อความข้างต้นเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ ปีเตอร์ ฮุยส์มาน (Pieter Huisman) หัวหน้าแผนกควบคุมอุทกภัยแห่งริกซ์วอเตอร์สตาต (head of the Flood Control Division of the Rijkswaterstaat) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ตำแหน่งขณะที่ให้สัมภาษณ์)

แน่นอนว่าความแปลกประหลาดจากการกลับตาลปัตรที่ฮุยส์มานกล่าวถึง หมายถึงการที่ประเทศบ้านเกิดของฮุยส์มานอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (อาจจะเว้นก็แต่มัลดีฟส์) ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ก็ประเทศเนเธอร์แลนด์นี่แหละที่มีข้อมูลเชิงสถิติระบุว่าจะจมลงสู่ทะเลเฉลี่ยราว 8 นิ้ว ในทุกๆ 100 ปี

และก็แน่นอนอีกเหมือนกันว่าผมไม่เคยมีโอกาสได้ไปนั่งสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งพบเจอกับนายฮุยส์มานตัวเป็นๆ หรอกนะครับ เพราะคำให้การที่ยกมาข้างต้น รวมถึงที่ผมจะยกมาอ้างถึงต่อไปในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมได้มาจากหนังสือเรื่อง “สงครามน้ำ” ที่สำนักพิมพ์มติชนแปลมาจากหนังสือเรื่อง Water Wars Drought, Flood, Folly, and the Politics of Thrist ที่เขียนขึ้นโดย ไดแอน ไรเนส วอร์ด (Diane Raines Ward) เมื่อ พ.ศ.2545

 

คุณนายวอร์ดเธอเป็นนักข่าวที่มีภูมิลำเนาอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เธอกับสามีของเธอได้อุทิศชีวิตให้กับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีของโลก การเตือนภัยจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และอะไรเทือกๆ นั้นอยู่ตลอดทั้งชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้วยการเขียนข่าว หรือหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก อันเป็นผลมาจากการรวบรวมข้อมูลจากที่เธอและสามีเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งโลก

ภายในหนังสือสงครามน้ำ (ซึ่งพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับปัญหากับตัวอย่างของการแก้ไขและการจัดการเกี่ยวกับน้ำด้วยวิธีต่างๆ เสียมากกว่าจะหมายถึงสงครามจริงๆ) จึงเต็มไปด้วยข้อมูลที่รวบรวมมาจากพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย

เรื่องราวของนายฮุยส์มานและประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับไม่หนานักเล่มนี้ ซ้ำยังเป็นเรื่องราวที่สำคัญมากพอ ที่จะให้คุณนายวอร์ดยกมาเป็นเรื่องราวเรื่องแรกสำหรับเปิดประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ ในหนังสือเล่มนี้เลยทีเดียว

 

นายฮุยส์มานได้พาคุณนายวอร์ดตระเวนไปทั่วพื้นที่ราบลุ่มที่ไม่ไกลไปจากเมืองเดนฮาก (Den Haag) เพื่อสำรวจร่องรอยของระดับน้ำทะเล 12 ระดับ ในช่วงความสูงรวม 500 ฟิต ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากการสูบเข้า การกักเก็บน้ำเอาไว้ การระบายออกด้วยแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ การสูบน้ำออกไป การระบายน้ำทิ้ง หรือแม้กระทั่งการสูบน้ำเข้ามาใหม่ ที่มีปรากฏอยู่ให้เห็นอยู่เป็นระยะ

“ทุกๆ ระดับความสูงของน้ำล้วนแต่มีความหมายด้วยตัวของมันเอง เพราะทุกเขื่อน ทุกท่าเรือ ล้วนแต่สร้างลงบนดินเลน หรือดินเหนียว แน่นอนว่าคุณสามารถจะควบคุมระดับน้ำให้ไม่สูงไปกว่าระดับของชายฝั่ง แต่ถ้าคุณพลาดเมื่อไหร่มันจะพังทลายลงทันที ผืนน้ำจะท่วมทับอยู่สูงเหนือระดับของท่าเรือภายในแผ่นดิน และในที่สุดเท้าของพวกคุณจะถูกแช่อยู่ในน้ำ” นายฮุยส์มานอธิบาย

ภูมิความรู้อย่างนี้ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็มีนิมิตกำเนิดขึ้นเอง เมืองโซเทอเมียร์ (Zoetermeer) ที่นายฮุยส์มานอาศัยอยู่เองก็สร้างอยู่บนพื้นดินที่ถูกถมขึ้นมาใหม่ และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเสียจนหากมีน้ำทะลักเข้ามาเมื่อไหร่ พื้นที่ชั้นล่างของบ้านเรือนจะจมอยู่ใต้บาดาลในทันที จึงไม่น่าแปลกใจที่นายฮุยส์มานจะมีเรือแคนูเก็บไว้บนชั้นสองของเรือนที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล

ในขณะที่พื้นที่บางแห่งที่นายฮุยส์มานพาคุณนายวอร์ดรอนแรมทางไป เป็นก้นของทะเลสาบที่ถูกขุดขึ้นในปี พ.ศ.2185 (ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันถึงสิบสามฟิต ซึ่งระหว่างทางมีบ้านเรือนสร้างอยู่เป็นกระจุกอยู่บนริมฝั่งคลองขุดที่ถูกคลื่นกัดเซาะจนมีสภาพงามประหลาดตา คุณนายวอร์ดถึงกับบรรยายภาพบ้านเรือนเหล่านี้ว่า

เป็นการแสดงถึงความมั่นอกมั่นใจของพวกดัตช์ในการควบคุมน้ำจนกล้าที่จะสร้างอยู่บนริมคูคลองในสภาพดังกล่าว

 

ทั้งหมดเป็นการจัดการน้ำ และพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยอย่างเป็นระบบของชาวดัตช์ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาตลอดหลายช่วงอายุคน

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การมีองค์กรในการจัดการน้ำและอุทกภัยอย่างเป็นเอกเทศ (เห็นได้จากการที่นายฮุยส์มานเป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมอุทกภัย) และองค์กรที่ว่าก็มีการจัดการความรู้เฉพาะทางเป็นอย่างดี

นายฮุยส์มานสามารถเล่าให้คุณนายวอร์ดฟังถึงปราสาทสมัยโรมันที่จมอยู่ใต้ฝืนทะเลสาบ ซึ่งอยู่ห่างออกไปสี่ไมล์จากชายฝั่งของทะเลสาบขุดที่กล่าวถึงข้างต้น และสามารถอธิบายได้ว่าปราสาทดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการที่ทะเลทวงถามดินแดนคืนจากชาวดัตช์

นี่แสดงให้เห็นถึงการสั่งสมองค์ความรู้เฉพาะทางที่จำเป็น อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะทาง โดยเฉพาะเวลาที่เกิดมีปัญหาเฉพาะหน้า ไม่แต่เฉพาะความรู้ทางด้านอุทกศาสตร์ ปฐพีวิทยา ธรณีวิทยา เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการควบคุมน้ำ ความรู้ทางด้านวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ก็ถูกนำมาช่วยในการจัดการสำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลเรื่องน้ำโดยเฉพาะ

 

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมชาวดัตช์จึงสามารถอาศัยอยู่ในดินแดนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้มากว่า 60 ปี ในขณะที่สยามประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องน้ำหลาก น้ำท่วมเกือบตลอดอยู่ทุกปี แม้ว่าจะมีแผ่นดินอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล เพราะความพยายามในการสร้าง หรือรวบรวมความรู้ ไม่ปรากฏอยู่ในหน่วยงานหรือองค์กรในการบรรเทาสาธารณภัยพิบัติของไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวโยงอยู่กับอุทกภัย วาตภัย หรือหายนะใดๆ ก็ตาม

การจัดการในการบรรเทาสาธารณภัยอย่างไทยๆ จึงออกมาในรูปของการจัดการเป็นการเฉพาะหน้า และก็มีไปอย่างตามมีตามเกิดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวไปเท่านั้น

ทหารซึ่งมีหน้าที่เป็นรั้วของชาติ (ตามนิยามที่ถูกยัดเยียดอยู่ในการเรียนการสอนของเด็กไทยมาแต่ชั้นอนุบาล) จึงออกมาทำหน้าที่เป็นแรงงานขนกระสอบทรายบ้าง นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายผู้ประสบภัยบ้าง ช่วยขนส่งผู้คนในเส้นทางที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดทางคมนาคมบ้าง อย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ นั่นแหละนะครับ

และก็เป็นเพราะเราไม่มีสำนึกในการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการกับภัยพิบัติ จึงทำให้เมื่อมีคนออกมาเสนอให้มีการรวบรวมข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับภัยน้ำท่วม โดยจัดเก็บและนำเสนอในรูปแบบของมิวเซียม หรือรูปแบบอื่นๆ จึงทำให้พี่ไทยเรานึกภาพตามไม่ค่อยจะออกกันเท่าไหร่นัก

บ้างก็ถึงกับบอกว่าไม่มีประโยชน์และเป็นการกระทำตามกระแส ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศได้เริ่มกระทำตั้งแต่เมื่อนับพันปีก่อนแล้ว (สำหรับในเนเธอร์แลนด์ พวกโรมันต้องจัดทำคูคลองเพื่อรวบรวม และจัดการความรู้เรื่องน้ำมาตั้งแต่ในสมัยจักรวรรดิของชาวโรมรุ่งเรืองนู่นเลย)

 

นักคิดคนสำคัญของโลกอย่างวอลแตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก” แต่ด้วยการสร้างผืนแผ่นดินให้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลทำให้มีผู้กล่าวต่อท้ายว่า “แต่พวกดัตช์เป็นผู้สร้างผืนแผ่นดินฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์)” ทำให้น่าคิดว่าด้วยวิธีการอย่างไทยๆ จะทำให้ชาวสยามเป็นผู้สร้างผืนแผ่นดินไทยได้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ การที่ใครสักคนจะออกมาบอกว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. นี้ ทำให้คนไทย “ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้” นั้น ก็คงเป็นได้เพียงคำพูดคมๆ หล่อๆ ที่กล่าวอ้างขึ้นมาอย่างลอยๆ เท่านั้น

ในเมื่อ “อำนาจ” ในสังคมของเรา ไม่เคยที่จะเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการจัดการกับการอยู่ร่วมกับน้ำ อย่างที่ผู้คนในประเทศเนเธอร์แลนด์เขาสั่งสมกันมาเป็นพันๆ ปีเลย